คดีที่7ศาลรับฟ้องทักษิณ สั่งคลังฟื้นฟูทีพีไอมิชอบ


เพิ่มเพื่อน    

 

    คดีที่ 7! ศาลฎีกาฯ รับฟ้อง "ทักษิณ" สั่งคลังฟื้นฟู TPI โดยมิชอบ นัดพิจารณาครั้งแรก 22 มิ.ย. เลื่อนฟังคำสั่งรับ-ไม่รับฟ้อง "วัฒนา" กับพวกโกงบ้านเอื้ออาทร 18 มิ.ย.
    ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เวลา 09.00 น. ศาลนัดฟังคำสั่งรับ-ไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อม.40/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 
    กรณีนายทักษิณให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.การคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ
    โดยคดีนี้ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2553 และได้ยื่นฟ้องคดีเอง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2561 พร้อมยื่นเอกสารหลักฐาน 21 กล่อง 120 แฟ้ม ที่มีมติชี้มูลความผิดอาญานายทักษิณให้ศาลพร้อมคำฟ้อง
    ทั้งนี้ ก่อนพิจารณาคำฟ้อง องค์คณะทั้ง 9 คนได้ประชุมกันภายในเพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คนก่อน แล้วจึงพิจารณาคำฟ้อง ซึ่งเห็นว่า แม้การฟ้องไม่มีตัวจำเลย แต่จำเลยคดีนี้ถูกยื่นฟ้องในคดีของศาลฎีกานี้ซึ่งได้ออกหมายจับไว้แล้ว ขณะที่คำฟ้องคดีถูกต้องตามกฎหมาย และ ป.ป.ช.โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 27 ที่จะประทับรับฟ้องคดีไว้พิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป โดยให้สำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลยและปิดหมายแจ้งจำเลยทราบตามที่อยู่ในฟ้อง (บ้านพักย่านจรัญสนิทวงศ์) ซึ่งให้การปิดหมายมีผลทันที ตาม วิ อม.มาตรา 19 
    โดยองค์คณะฯ กำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 08.30 น. 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากวันนัดพิจารณาครั้งแรก นายทักษิณไม่มาศาล ในวันนัดดังกล่าวองค์คณะฯ มีอำนาจพิจารณาออกหมายจับให้ติดตามตัวมาดำเนินคดี และตามวิ อม. มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า หากออกหมายจับแล้ว 3 เดือน ยังไม่ได้ตัวจำเลย ศาลมีอำนาจพิจารณาได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย (ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลย) แต่ไม่ตัดสิทธิที่จำเลยจะแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนตนได้ ซึ่งคดีนี้ ถือเป็นสำนวนที่ 7 ที่นายทักษิณถูกยื่นฟ้องนับจากพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549
    สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา, นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา, นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา, นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา, นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกา, นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา, นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และนายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา
    วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. องค์คณะคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ หมายเลขดำ อม.42/2561 นัดฟังคำสั่งรับ-ไม่รับฟ้อง คดีที่นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยุครัฐบาลทักษิณ 2 และแกนนำพรรคเพื่อไทย, นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ อดีตกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และอดีตประธานอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการปี 48-49, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ อดีต ผอ.ฝ่ายการเงิน บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจก่อสร้างที่พักอาศัย, 
    นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจค้าข้าวรายใหญ่, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง ลูกน้องคนสนิทเสี่ยเปี๋ยง, น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด, น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา พนักงาน บจก.เพรซิเดนท์ฯ, บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด โดยนายปกรณ์ อัศวีนารักษ์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และบริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) โดยนางพิมพ์วรา รัชต์ธนโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เป็นจำเลยที่ 1-9 
    ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.148, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มาตรา 157, ฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โดยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 11 และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91
    โดยอัยการสูงสุดมอบอำนาจให้อัยการคดีปราบปรามทุจริต 2 ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งวันฟ้อง นายวัฒนา จำเลยที่ 1 และนายพรพรหม จำเลยที่ 3 ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว ซึ่งศาลอนุญาตให้ทั้งสองประกันตัวไปโดยตีราคาประกันนายวัฒนา 5 ล้านบาท และนายพรพรหม 3 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ส่วน บจก.เพรซิเดนท์ฯ จำเลยที่ 8 และ บจก.ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำเลยที่ 9 นั้น เป็นการยื่นฟ้องนิติบุคคลที่เป็นบริษัท ดังนั้นทั้งสองจึงไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกัน 
    ขณะที่จำเลยที่ 2, จำเลยที่ 5, จำเลยที่ 6, จำเลยที่ 7 นั้น ในวันฟ้องไม่ได้มาพบอัยการเพื่อมาศาล จึงต้องรอมาศาลและยื่นประกันภายหลัง ส่วนนายอภิชาติหรือเสี่ยเปี๋ยง จำเลยที่ 4 นั้น ตัวอยู่ในเรือนจำรับโทษคดีทุจริตระบายข้าวแบบจีทูจี 
    ต่อมาปรากฏว่า ศาลฎีกาฯ ได้เลื่อนการนัดฟังคำสั่งในวันนี้ออกไปก่อน เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาติดภารกิจเร่งด่วน จึงนัดฟังคำสั่งคดีว่าจะรับ-ไม่รับฟ้องอีกครั้งในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 น.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ที่กระทำผิดในการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ รวม 19 ราย จึงเหลือที่จะยื่นฟ้องอีก 10 ราย ประกอบด้วย 1.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย 2.บริษัท พาสทิญ่า ไทย จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างที่พักอาศัย ผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร 3.นายซาร์นน บินยาขอบ 4.นายโมฮ์ด ฮานาเปียร์ บิน อับดุล อาซิล 5.นายอาฮ์มัด บิน ฮารอน 6.นายศักดิ์สิทธิ์ หรือเดชวรกุล อลังการกุล 7.บริษัท นามแฟทท์คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย 8.นายลาว ซี ฮุง  9.บริษัท พรินซิพเทคไทย จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และ 10.น.ส.สุภาวิดา คงสุข กรรมการและผู้มีอำนาจทำการแทน บจก.ไทยเฉนหยู
    สำหรับองค์คณะ 9 คนที่รับผิดชอบสำนวนนี้ ประกอบด้วย นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา, นายธีระพงศ์ จิระภาค ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา, นายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, น.ส.บุญมี ฐิตะศิริ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา, นายทวี ประจวบลาภ ประธานแผนกคดีพาณิชย์ในศาลฎีกา, นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา, นายประยุทธ ณ ระนอง ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาล, นายประทีป ดุลพินิจธรรมา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายนพพร โพธิ์รังสิยากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"