อาจถึงจุดที่คนป่วยโควิดต้อง ใช้ Home Isolation


เพิ่มเพื่อน    

 

        เมื่อวานได้เขียนถึงข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติมจาก  TDRI ในสถานการณ์สงครามโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤติที่หนักขึ้นทุกวัน

            บทความของ TDRI หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้เสนอทางออกให้สาธารณชนรับทราบ

            เป็นบทวิเคราะห์โดย ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

            กับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของ TDRI

            มีข้อเสนอ 4 มาตรการ เมื่อวานได้เล่าถึงมาตรการที่  1 คือการปรับนโยบายการตรวจโรค

            วันนี้มาดูอีก 3 ข้อ

            2) พิจารณาปรับมาตรการกักแยกโรค เพื่อเก็บรักษาทรัพยากรโรงพยาบาลที่มีอยู่จำกัดมากในตอนนี้ไว้ให้ผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

            เราควรปรับให้มีระบบการกักแยกโรคที่บ้าน  (Home Isolation) เฉพาะสำหรับประชากรที่ผลตรวจเป็นบวกชัดเจน

            แต่เป็นกลุ่มที่น่าจะจัดการตัวเองได้เพียงพอที่จะทำการเว้นระยะห่างทางกายภาพในครัวเรือน

            จนทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อในครัวเรือนและในชุมชนได้ไม่มาก เพื่อดึงเตียงโรงพยาบาลกลับไปให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะยังไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการตัวเองได้และตอนนี้ยังเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล

            ถ้าหากประเมินว่าประชาชนที่ใช้ชุดตรวจด้วยตนเองเป็นกลุ่มมีความสามารถในการจัดการตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้ชุมชนได้ด้วย ก็อาจพิจารณาทำ Home  Isolation ด้วยตนเองได้ทันทีเมื่อตรวจพบผลบวก

            แต่ระบบกักแยกโรคที่บ้านหรือ Home  Isolation ต้องการทรัพยากรที่แตกต่างจากการกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการที่บ้านของกลุ่มเสี่ยงจากการสัมผัสโรคที่ยังไม่ได้ตรวจพบผลบวก (ซึ่งเราเรียกว่า Home  Quarantine)

            เพราะการกักแยกผู้ติดเชื้อที่บ้านจำเป็นต้องมีระบบ  Telemedicine ซึ่งบูรณาการระบบสื่อสารและการจัดการที่เกี่ยวข้อง เพื่อดึงผู้กักโรคที่บ้านเข้าโรงพยาบาลให้ทันเวลาหากผู้ติดเชื้อมีอาการหนักขึ้น

            3) พิจารณาปรับนโยบายวัคซีน “เฉพาะหน้า”  เพราะวัคซีนที่เรามีอยู่มีจำนวนจำกัดและมาไม่ถึงตามแผนที่วางไว้เดิม เราจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญต่อการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ (ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง) เพื่อป้องกันการเสียชีวิตเป็นลำดับความสำคัญแรก

            และเนื่องจากวัคซีนที่เรามีอยู่มีประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่เชื้อให้ลดลงในการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ และจำเป็นต้องรอเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังฉีดครบ 2 เข็ม (ไม่สามารถฉีดเพียง 1 เข็มสำหรับป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ หรือกระทั่งบางวัคซีนแม้จะฉีดสองเข็มแล้วก็ยังอาจไม่สามารถป้องกันได้)

            เราจึงไม่ควรกระจายวัคซีนเป็นเบี้ยหัวแตกไปทั่วประเทศในสถานการณ์ล่าสุดนี้

            เพราะอย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนและประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระยะสั้นได้

            อย่างน้อยที่สุด หากเรายังต้องการเร่งฉีดวัคซีนที่เหลืออยู่ให้พื้นที่ระบาดหนัก (เช่น กทม.และปริมณฑล)  ในขณะเดียวกันเราก็จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเพื่อป้องกันประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อื่นที่ยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย

            4) พิจารณาการใช้นโยบายล็อกดาวน์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

            เราอาจจำเป็นต้องมีการใช้นโยบายล็อกดาวน์ “ระยะสั้น” เฉพาะในพื้นที่ระบาดหนัก (เช่น กทม.และปริมณฑล) และทำเป็นครั้งคราว

            แต่ต้องปรับให้เป็นการล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ไม่ให้เหลือโอกาสที่ทำไม่ได้จริงตามแผนที่วางไว้

            ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

            และการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถทำตามมาตรการล็อกดาวน์ในระยะเวลาที่กำหนด

            โดยไม่ทิ้งใครให้ต้องเผชิญปัญหาในการดำรงชีวิตแต่เพียงลำพัง

            ตัวอย่างเช่น กำหนดแรงจูงใจทางการเงินเพื่อให้ชดเชยแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ต้องขาดรายได้จากการล็อกดาวน์ และสามารถปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ได้

            แต่ที่บทความนี้เน้นเป็นพิเศษคือ

            “ท้ายที่สุดข้อเสนอมาตรการที่กล่าวถึงข้างต้นจะไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้เต็มที่ หากไม่มีการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด”

            ตายน้ำตื้นอย่างนี้มายาวนานแล้ว!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"