ปฏิกิริยาของรัฐบาลในการถือฤกษ์งามยามดีพฤหัสบดีที่ 1 กรกฏาคม 2564 กดปุ่มเดินหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์เต็มตัว เพื่อปูทางไปสู่การเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายใน 120 วันนับจากวันที่นายกรัฐมนตรีแถลงอย่างเป็นทางการผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นับเป็นการส่งสัญญาณการเดินหน้าประเทศไทย ฝ่าวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ที่กล้าหาญอย่างยิ่ง และน่าชื่นชมอย่างยิ่ง
ผลการสำรวจความเห็นประชาชนล่าสุดระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ ซึ่งระบุชัดเจนว่าประชาชนกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับการตัดสินใจเปิดประเทศของรัฐบาล
อย่างไรก็ตามภายใต้ความเห็นสนับสนุนการเปิดประเทศของรัฐบาล ประชาชนได้สะท้อนข้อห่วงกังวลผ่านการสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อห่วงกังวลว่าด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ยิ่งไปกว่านั้นในการสำรวจดังกล่าวของสำนักวิจัยซูเปอร์โพลล์ ยังพบด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกระบวนการสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนให้มีความชัดเจน และตรงไปตรงมา เพื่อยุติความสับสน
สำหรับกรณีโครงการนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” ซึ่งถูกปักหมุดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2564 เป็นต้นไป แม้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการคิดดี มุ่งดีของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมบริการการท่องเที่ยว ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งซบเซาอย่างรุนแรงจากภัยคุกคามของโควิด-19 นับจากต้นปี 2563 เป็นต้นมา แต่ก็จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ และรอบด้าน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีพจรเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตซึมเซาลงอย่างรุนแรงในปี 2563 และเรื้อรังมาถึงตอนนี้ คือรายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยไหลบ่าเข้าไปที่ภูเก็ตปีละกว่า 4 แสนล้านบาทในช่วงก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 ได้ทรุดฮวบลงเหลือเพียงหลัก 1 แสนล้านบาทเท่านั้น
นั่นหมายถึงในห้วงปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวที่หล่อเลี้ยงความมีชีวิตชีวาแก่ภูเก็ต ถูกพิษภัยของโควิด-19 ทำให้อันตรธานหายไปถึงกว่าร้อยละ 75
มูลเหตุหลักที่ทำละลายรายได้จากการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้หายวับไปถึงกว่าร้อยละ 75 คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยเข้าไปจับจ่ายใช้เงินในภูเก็ตเมื่อปี 2563 หดตัวลงจากช่วงก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 ถึงกว่าร้อยละ 70
สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมที่เข้าไปดื่มด่ำบรรยากาศในภูเก็ตปี 2562 ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีจำนวน 18.4 ล้านคน แต่ได้ลดวูบลงเหลือเพียง 5.5 ล้านคนเมื่อปี 2563 อันเนื่องมาจากผลพวงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ความพยายามพลิกฟื้นคืนความสดใสมีชีวิตชีวาให้ภูเก็ต ด้วยโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ก่อนที่จะค่อยๆขยายผลไปสู่สุราษฏร์ธานี-พังงา-กระบี่-ประจวบคีรีขันธ์-เพชรบุรี-ชลบุรี-บุรีรัมย์-เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร โดยลำดับ ก่อนที่จะจุดพลุเปิดประเทศภายใน 120 วันตามสัญญาที่นายกรัฐมนตรีลั่นวาจาเอาไว้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2564 พอดิบพอดี ต้องนับเป็นความพยายามที่ท้าทายขีดความสามารถของรัฐบาล ในการบริหารจัดการสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงหลากหลายมิติ….
ความเสี่ยงอันดับแรก...ความเสี่ยงในการปลุกการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้ฟื้นตัว
จับจังหวะที่ตีฆ้องของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งขานรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการเตรียมความพร้อมเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ดูจะให้ความสนใจเพ่งเล็งไปที่ปัจจัยเพียง 2 ประการคือ
1).อัตราส่วนประชากรภูเก็ตที่ได้รับการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 หรือคิดเป็นจำนวนคนประมาณ 3 แสนคน เพื่อหวังว่านั่นเพียงพอที่จะก่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในภูเก็ต และมีพลังมากพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้กลับเข้าไปจับจ่ายใช้เงินในภูเก็ต
2).ปฏิกิริยาความพร้อมของภาคธุรกิจบริการท่องเที่ยว ที่ไชโยโห่ร้องต้อนรับ แสดงความยินดีกับโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ทั่วโลก และรัฐบาลหลายประเทศยังคงไม่ส่งเสริม หรือสนับสนุนให้ประชากรของตัวเองเดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งจะมีผล
อย่างมากต่อความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ที่พึงต้องตระหนักไว้ให้ดี
ความเสี่ยงอันดับสอง...ความเสี่ยงในการควบคุมการแพร่ระบาด อันเนื่องมาจากการเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์
รัฐบาล จะมีหลักประกันความมั่นใจอย่างไร เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่ทั้งประชาชนที่มีถิ่นพำนักในภูเก็ต รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ภูเก็ต ให้สามารถใช้ชีวิตในภูเก็ตได้อย่างสบายใจ
ในทางกลับกันรัฐบาล ได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้อย่างไร ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย เกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นในภูเก็ต
โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เคยแถลงแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กรณีภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ทำนองว่า”เปิดได้ ก็ปิดได้” หากวินิจฉัยแล้วมีองค์ประกอบสถานการณ์การแพร่ระบาด 3 ประการได้แก่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสมไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 90 คน หรือมีการระบาดใหม่ตั้งแต่ 3 คลัสเตอร์ขึ้นไป หรือมีอัตราครองเตียงของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเกินกว่าร้อยละ 80
แนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ตามที่โฆษก ศบค.แถลง แม้จะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ก็ซ่อนความเสี่ยงอันเกิดจากความไม่แน่นอนเอาไว้ สำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน
ความเสี่ยงอันดับสาม...ความเสี่ยงในการบริหารจัดการหนี้สิน-ทรัพย์สิน
กระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนเดินหน้าโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ดูจะละเลยประเด็นการบริหารจัดการหนี้สิน-ทรัพย์สินของผู้ประกอบการ
กว่า 1 ขวบปีที่โควิด-19 ระบาดคุกคามลมหายใจของชีวิต และลมหายใจของธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมาก ครอบคลุมภาคธุรกิจที่หลากหลาย มีสถานะเป็น”หนี้เสีย”ของสถาบันการเงิน และมีสถานะถูกขึ้นบัญชีดำของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ”เครดิตบูโร” กระทั่งขาดทุนทรัพย์ที่จะไปใช้สำหรับการบูรณะฟื้นฟูกิจการ ให้พร้อมรับกับการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์
กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรต้องประสานความร่วมมือกันในการกำหนดมาตรการทางการเงินที่มีความผ่อนปรนที่สุด มีความสอดคล้องกับปัญหาและสถานการณ์ที่เป็นอยู่จริงตอนนี้ แล้วเร่งรัดผลักดันเดินหน้ามาตรการ เพื่อต่อลมหายใจแก่ผู้ประกอบการ และฟื้นฟูผู้ประกอบการให้พร้อมรับกับภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ รวมไปถึงการเปิดประเทศโดยเร็วที่สุด โดยนำทรัพยากรทางการเงินจาก พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์-พักหนี้ จำนวน 3.5 แสนล้านบาท และจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทและพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาอย่างคุ้มค่า และทันสถานการณ์
ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพื่อสนับสนุนให้ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ และการเปิดประเทศ สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ของการการคิดดี-มุ่งดี-ทำดี เพื่อเดินหน้าประเทศ และคืนความสุขแก่คนไทย
………………...
คอลัมน์เวทีเวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
นาย วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |