กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร สร้างกระแสเชิงรุก มุ่งเป้าผลิต “กุ้งปลอดภัย” ตอบโจทย์ผู้รักสุขภาพ หวังกู้วิกฤติกุ้งราคาตกต่ำ สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
นายสุวรรณคำสอนกลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านการประมงสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จากการที่กรมประมงได้ดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ ซึ่งในปี 2561 สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้แนะนำให้กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่กุ้งขาว กลุ่มฯ จึงทำความเข้าใจกับสมาชิก และมีสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 123 ราย แบ่งเป็น 2 แปลง คือ ตำบลโรงเข้ และตำบลยกกระบัตร โดยสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร จะรับผิดชอบดูแลในเรื่องของการรวมกลุ่ม การสร้างความเข้มแข็ง และการเชื่อมโยงตลาด และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 จ.สมุทรสาคร รับผิดชอบการอบรมความรู้ด้านการผลิต การลดต้นทุน และสนับสนุนปัจจัยการผลิต
ซึ่งจากรูปแบบการเลี้ยงกุ้งของกลุ่มฯ สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ แบบหัวก้าวหน้า มีการลงทุนในระบบการเลี้ยงสูง แบบที่สอง คือ การเลี้ยงแบบทั่วไปตามปกติ มีเครื่องตีน้ำ มีการให้อาหาร ตรวจเช็คคุณภาพน้ำ แต่ไม่มีเทคโนโลยีเพิ่ม และสุดท้าย คือการเลี้ยงแบบผสมผสานร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น เช่น เลี้ยงกุ้งขาวร่วมกับปลานิล หรือร่วมกับกุ้งก้ามกราม ซึ่งจะได้ผลผลิตกุ้งขาวต่อไร่ต่ำกว่าสองแบบแรก แต่จะได้ผลผลิตสัตว์น้ำชนิดอื่นมาทดแทน
สำหรับกลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 เริ่มรวมตัวกันในปี 2548 มีจุดเริ่มจากต้องการบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องเงินทุนลงลูกกุ้งของสมาชิก จึงใช้วิธีระดมหุ้น หุ้นละ 1,000 บาท เพื่อเป็นกองทุนกู้ยืมภายในกลุ่ม แต่เนื่องจากอาชีพเลี้ยงกุ้งมีความเสี่ยง จึงตั้งกติกาไว้ว่าหากใครลงหุ้น 5,000 บาทกับกลุ่ม จะสามารถกู้เงินได้ 30,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเลี้ยงกุ้งให้ได้ 60 วันจึงจะให้เงินกู้ได้ ต่อมาเมื่อจำนวนเงินหุ้นมีจำนวนมากขึ้น กลุ่มจึงจดทะเบียนเป็น “กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49” ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งหุ้นเงินกู้ระยะสั้น หุ้นเครดิตน้ำมัน หุ้นขายสินค้า และหุ้นขายอาหารกุ้ง
ทั้งนี้ จุดเด่นของกลุ่มฯ คือ มีการบริหารจัดการที่ดี ประกอบกับผู้นำและคณะกรรมการกลุ่มฯ มีความเสียสละ คอยช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรในทุกด้าน แม้ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่ม นอกจากนี้ กลุ่มฯ ยังมีการส่งเสริมให้สมาชิกทำ “จุลินทรีย์ผลไม้” ไว้ใช้คลุกกับอาหารเลี้ยงกุ้ง เพื่อช่วยให้กุ้งสุขภาพดี แข็งแรง และโตเร็ว
นายสนิท แดงพยนต์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ต.โรงเข้ หนึ่งในผู้นำและคณะกรรมการของกลุ่มฯ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาว และมีประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งมากว่า 20 ปี เปิดใจเล่าย้อนถึงที่มาของการนำจุลินทรีย์ผลไม้มาใช้ในการเลี้ยงกุ้งว่า “เวลาที่กุ้งป่วย เกษตรกรต้องใช้ยาปฏิชีวินะรักษากุ้ง ผมเคยผ่านภาวะแบบนี้มา ซึ่งยารักษากุ้งมันแพง แล้วอาชีพเลี้ยงกุ้งเหมือนจะรายได้ดี แต่นั่นคือกุ้งก็ต้องได้ขนาดด้วย ผมรักอาชีพเลี้ยงกุ้ง ก็มานะพยายาม จนรู้ว่ามีคนเลี้ยงกุ้งแล้วไม่ป่วย เพราะใช้จุลินทรีย์ผลไม้ เลยคิดว่าเราต้องลองวิธีนี้แล้วล่ะ เพราะใช้เคมีมาหมดแล้วไม่ได้ผล ก็เลยให้แฟนไปศึกษาการทำจุลินทรีย์ผลไม้ และกลับมาทำใช้เลี้ยงกุ้งในบ่อของตัวเอง ปรากฏว่ากุ้งเราแข็งแรง ไม่ค่อยเป็นโรค เจริญเติบโตดี เลนบ่อกุ้งไม่เหม็น และเมื่อนำกุ้งไปให้ญาติพี่น้องรับประทาน ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า กุ้งของเราอร่อยเหมือนกุ้งธรรมชาติ”
จากผลดีต่างๆ ที่น่าพอใจ ทำให้ช่วยลดรายจ่ายไม่ต้องซื้อวิตามินมาเพิ่ม อีกทั้งการขับถ่ายของกุ้งที่มีจุลินทรีย์คงอยู่ ยังช่วยรักษาสภาพน้ำในบ่อ ลดปัญหาน้ำเน่าเสีย อันเป็นวิถีทางที่ปลอดภัยต่อผู้เลี้ยง ผู้บริโภค และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสูตรการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ผลไม้ที่คุณสนิทแนะนำประกอบด้วย สับปะรด 10 กิโลกรัม ปอกเปลือกบางๆ มะละกอสุก 2 กิโลกรัม เอาเม็ดออก ฟักทองแก่ 2 กิโลกรัม เอาเม็ดออก กล้วยน้ำว้าสุก 2 กิโลกรัม เอาเปลือกออก นำผลไม้ทั้งหมดสับให้ละเอียด เติมกากน้ำตาล และจุลินทรีย์ EM อย่างละ 250 ซีซี คลุกเคล้าให้เข้ากันโดยไม่ใช้น้ำเพิ่ม นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ในถังสะอาด ปิดฝาให้สนิท ระหว่างหมักให้เปิดฝาระบายก๊าซบ้าง เมื่อได้กำหนด 30 วัน จะได้จุลินทรีย์ผลไม้หมักนำมาใช้เลี้ยงกุ้งได้ โดยใช้จุลินทรีย์ผลไม้กับน้ำสะอาดในอัตราส่วน 1:1 มาปั่นให้ละเอียด คลุกอาหารกุ้งให้กุ้งกินทุกวัน ซึ่งข้อดีของการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ผลไม้ คือ กุ้งแข็งแรง เจริญเติบโตดี ไม่ค่อยเป็นโรค เนื้อกุ้งมีรสชาติดี หอมหวานแบบเดียวกับกุ้งจากทะเล ที่สำคัญคือคนที่แพ้กุ้งก็สามารถรับประทานได้ โดยปัจจุบันกลุ่มฯ ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “สาคร กรีนชิม” วางจำหน่ายที่ตลาด อตก.
และจากภาวะวิกฤติราคากุ้งตกต่ำ เนื่องจากประเทศคู่แข่งผลิตกุ้งในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่า คุณสนิท จึงมองว่าแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้กลุ่มฯ และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอยู่รอดได้ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรยึดแนวทางการเลี้ยงกุ้งปลอดภัยโดยใช้จุลินทรีย์ผลไม้ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ในการเชื่อมโยงตลาด โดยกลุ่มฯ จะขอใช้สถานที่และอาคารที่ทางจังหวัดมาสร้างไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งอยู่ริม ถ.พระราม 2 ต.บางโทรัด ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเป็นจุดขายและจุดกระจายสินค้าคุณภาพของกลุ่ม รวมถึงพืชผลการเกษตรอื่นๆที่เป็นของดี อ.บ้านแพ้ว
นายสนิท กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้เรายังเจาะแค่ตลาดเล็กๆ ด้วยบุคลากรกลุ่มเรามีน้อย ผมเองก็เป็นเกษตรกร การทำตลาดกุ้งเลยเป็นไปได้ช้า ก็เลยว่าจะอาศัยโครงการแปลงใหญ่ เพราะเห็นว่าที่ตรงนั้นเป็นสถานที่ดีมาก ช่วงเสาร์-อาทิตย์ เราเห็นนักท่องเที่ยวผ่านไปมาเต็ม ถ.พระราม 2 จึงอยากอาศัยแปลงใหญ่มารองรับผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้น เพราะยอมรับว่าราคาตลาดกุ้งเป็นแบบนี้ เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เราจะอาศัยแปลงใหญ่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างถาวร เราจะไม่ใช้เงินในโครงการเพื่อบริหารแบบง่ายๆ เราต้องใช้แบบให้เราได้รับประโยชน์จริงๆ และมาจากความต้องการของเราจริงๆ”
แนวคิดนี้ นับเป็นการสะท้อนและเน้นย้ำให้เห็นถึงวิถีของการพึ่งพาตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินงานของกลุ่มฯ อีกทั้งยังไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาเพื่อให้ได้สินค้าประมงที่ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิก สมกับเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับชาติ เมื่อปี 2556 ซึ่งคุณสนิท เชื่อมั่นว่า ยังมีผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่รักสุขภาพ และต้องการ “กุ้งปลอดภัย” อีกมาก ฉะนั้น หากพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ พร้อมทั้งพัฒนาและยกระดับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้ากุ้งของไทยได้อย่างแน่นอน!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |