เราได้ยินได้ฟังเรื่องราวของ “วิกฤติเตียงสีแดง” เพราะคนป่วยด้วยโควิด-19 เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนห้อง ICU รับไม่ไหว เข้าสู่ภาวะที่อาจเกิดการ “ล่มสลาย” ของระบบสาธารณสุขของประเทศ
ผู้คนในทุกวงการมีความห่วงกังวล เอกชนหลายฝ่ายยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยทรัพยากรทั้งเงินและคนกับเทคโนโลยี
แต่หากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและ ศบค.ไม่สามารถกดตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตประจำวันได้ ความรุนแรงของปัญหา “เตียงสีแดง” ก็จะยังไม่สามารถแก้ไขได้
วันก่อน TDRI หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ออกบทความเสนอทางออกให้สาธารณชนได้รับทราบ
เป็นบทวิเคราะห์โดย ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของ TDRI
มีเนื้อหาที่น่าสนใจสำหรับคนไทยที่กำลังเกาะติดสถานการณ์วิกฤติโควิดเป็นอย่างยิ่ง
ผมขอย่อความบางตอนของบทความนี้มาส่งต่อให้ผู้อ่านได้ช่วยกันติดตามต่อเป็นลักษณะถาม-ตอบดังนี้
เรายังทำอะไรเพิ่มเติมได้บ้างในสถานการณ์การระบาดที่เริ่มควบคุมได้ลำบากมากขึ้น?
สิ่งที่เราน่าจะได้ทำเกือบเต็มที่แล้วก็คือ “การขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาล” ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเชิงรับที่ปลายเหตุ
แต่เรายังมีนโยบายและมาตรการเชิงรุกที่น่าจะพอทำเพิ่มเติมได้อีกอย่างน้อย 4 ด้าน เพื่อจัดการสถานการณ์การระบาดที่เริ่มควบคุมได้ยากลำบากมากขึ้น ได้แก่
• การปรับนโยบายการตรวจโรค
• การปรับมาตรการกักแยกโรค
• การปรับนโยบายวัคซีนเฉพาะหน้า
• และการใช้นโยบายล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ
1) พิจารณาปรับนโยบายการตรวจโรค เพื่อเอื้อให้สามารถร่วมกันตรวจโรคแบบปูพรมให้ครอบคลุมประชาชนกว้างขวางมากกว่าเดิม โดยอาจจะต้องเพิ่มรูปแบบการตรวจด้วย
ตัวอย่างเช่น เราควรเพิ่มการตรวจน้ำลาย (pooled saliva RT-PCR test) ในกลุ่มพนักงานโรงงานหรือสถานที่ทำงานอื่นๆ เพราะใช้ทรัพยากรที่หน่วยตรวจน้อยกว่าและตรวจซ้ำได้บ่อยๆ จะได้นำขีดความสามารถของการตรวจเยื่อบุโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal swab RT-PCR test) ที่เราใช้อยู่เดิมไปตรวจกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ
เราอาจเพิ่มการใช้ชุดตรวจโรคด้วยตนเองโดยประชาชน (self-administered test for Ag test) ซึ่งเดิมเราไม่แนะนำให้ใช้เพราะกังวลว่าอาจมีปัญหาเรื่องความไว (sensitivity) คืออาจพบผลลบลวงในช่วงเริ่มติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ หรืออาจมีปัญหาความจำเพาะ (specificity) คืออาจพบผลบวกลวงในช่วงหายจากการติดเชื้อแล้ว
แต่เมื่อกำลังการตรวจเดิมไม่เพียงพอต่อการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยเราควรจะนำชุดตรวจด้วยตนเองมาใช้เฉพาะประชาชนบางกลุ่มที่มีความสามารถในการตรวจคัดกรองด้วยตนเอง สามารถตรวจซ้ำได้บ่อยๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องผลลบลวงตอนเริ่มติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องตรวจซ้ำบ่อยๆ เพราะยังไม่เคยติดเชื้อแต่มีความเสี่ยงจากการทำงานตลอดเวลา (อาจต้องตรวจซ้ำทุกสัปดาห์)
นอกจากนั้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถปรับใช้ชุดตรวจด้วยตนเองเพื่อคัดกรองคนก่อนเข้าที่ทำงานหรือตรวจคัดกรองเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากได้ (screening test)
ที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามตรวจอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงผลการตรวจเข้าสู่ระบบตามรอยโรคและระบบกักแยกโรคด้วย
(พรุ่งนี้: ทำไมต้อง Home Isolation?).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |