ไม่เลื่อนคนละครึ่ง! "คลัง" ลุยโอน 1 ก.ค. วงเงินให้เลือกใช้ตามสะดวก แม้รัฐประกาศควบคุมพื้นที่ป้องกันการระบาดของโควิด-19 “ธปท.” ชี้ โควิดทุบท่องเที่ยวกระอัก ร้านอาหาร โรงแรม สายการบินอ่วมหนัก ลุ้นยาว Q1/66 เศรษฐกิจสะเด็ดน้ำ ด้านเอกชนลั่นพร้อมรับนโยบายชโลมใจ 120 วันเปิดประเทศ อ้อนรัฐเติมสภาพคล่อง-เร่งฉีดวัคซีนเปิดประเทศ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการหารือในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบศ. เป็นการด่วน ได้ข้อสรุปว่า จะไม่มีการเลื่อนมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2564 แม้ว่าจะมีการประกาศควบคุมพื้นที่ป้องกันการระบาดของโควิด-19 ช่วงเดือน ก.ค.ก็ตาม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตังให้ผู้ได้สิทธิ์ในวันที่ 1 ก.ค.2564 วงเงิน 1,500 บาท และวันที่ 1 ต.ค. วงเงิน 1,500 บาท รวม 3,000 บาทตลอดโครงการ ตามกรอบเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้
"คลังจะโอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ ผู้ได้สิทธิ์สามารถเลือกใช้จ่ายได้ตามที่สะดวก เพราะมาตรการมีระยะเวลา 6 เดือน หากสถานการณ์ไม่สะดวกให้ใช้จ่าย ก็สามารถชะลอไปใช้เดือนต่อๆ ไปได้ แต่คลังก็จะโอนไว้ให้เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจากสถานการณ์ขณะนี้" นางสาวกุลยากล่าว
สำหรับมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 จะเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. โดยรัฐจะสมทบค่าใช้จ่ายให้ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน โดยวงเงินที่เหลือในแต่ละวันสามารถทบไปใช้ได้จนสิ้นสุดอายุมาตรการ โดยขณะนี้ยังคงเหลือสิทธิ์กว่า 2.5 ล้านสิทธิ์ จากทั้งหมด 31 ล้านสิทธิ์
วันเดียวกัน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย ว่า จากการระบาดของโควิด-19 ในหลายระลอกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทั้งการจำกัดการเคลื่อนที่ การงดเดินทาง การเว้นระยะห่าง ลดการรวมตัว เป็นต้น ถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร บริษัทนำเที่ยว สายการบิน และอื่นๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้น ขณะที่การเร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงเพิ่มเริ่มดำเนินการได้เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2564
"โดยจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้ ธปท.คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา และอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ มองว่าการออกนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจต่างๆ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้ยังมีความจำเป็นจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา สถานการณ์นี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชน" นายเมธีกล่าว
นายเมธีกล่าวอีกว่า การสร้างภูมิในธุรกิจโลกใหม่ ต้องไปด้วยกัน 3 ฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานชีวอนามัยขึ้นสูง ขณะเดียวกันก็ยังต้องการความสะดวกสบายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม 2.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ต้องสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจให้สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ การจัดเตรียมบริการที่สอดคล้องกับความชอบของแต่ละบุคคล และ 3.ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ต้องหันมาทบทวนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ การสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม การผสมผสานการท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง การสร้างบุคลากรทางวิชาชีพในสาขาต่างๆ เพื่อเปิดรับการท่องเที่ยว
ด้านนายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว ทั้งธุรกิจสายการบินและโรงแรมเป็นต้น มีความหวังและเริ่มเดินหน้าได้ ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนมีความพร้อมมาปีกว่าแล้ว แต่ยังมีสิ่งเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวต้องการคือเงินทุน เพื่อมาปรับปรุงธุรกิจ เตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว และการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย 70% ถ้าทำได้ ก็มั่นใจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเร็วๆ นี้
โดยคาดว่าหากทั่วโลกรวมถึงไทยมีการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐ จีน และเอเชีย ที่เป็นประเทศกลุ่มเป้าหมายของไทย จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2565 กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 25 ล้านคน คิดเป็น 60% สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และภาคการท่องเที่ยวน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 ปี
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้และปีหน้าลง เนื่องจากมองว่าการระบาดของโควิด-19 ยังคงแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มุมมองของการเปิดประเทศยังต้องติดตามว่าจะทำได้เมื่อไหร่ และต่างประเทศจะเปิดให้เดินทางได้เมื่อไหร่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันหมู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |