‘แพทย์ชนบท’ขีดเส้นรบ. ฉีดวัคซีน15ล้านโดส/ด.


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.มั่นใจสัปดาห์นี้คนที่มีนัดฉีดวัคซีนจะได้รับนัดหมายให้ไปฉีดตามนัด สธ.ยืนยันวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลลดการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อังกฤษได้ร้อยละ 71-91 ขณะที่แอสตร้าฯ  ส่งมอบวัคซีนให้ไทยครบ 6 ล้านโดสในสัปดาห์นี้ตามแผนจัดหาวัคซีน 61ล้านโดส "แพทย์ชนบท" เสนอทางรอดเดียวต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส ถ้าทำไม่ได้ "รัฐบาลประยุทธ์" ต้องออกไป 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 มิถุนายน  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ในส่วนของการฉีดวัคซีนวันที่ 27 มิ.ย. มีการฉีดทั้งสิ้น 93,577 โดส ทำให้ยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีทั้งสิ้น 9,147,512 โดส 
    เมื่อถามว่า 2-3 วันที่ผ่านมาตัวเลขการฉีดวัคซีนมีจำนวนน้อย ขอความชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วัคซีนจะทยอยได้มาไม่ได้มาทีเดียวล็อตใหญ่ มีการกระจายการฉีดออกไปตามจำนวน ซึ่งล็อตล่าสุดที่เพิ่งมาเมื่อวันที่ 25-26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เชื่อว่าภายในต้นสัปดาห์นี้คนที่มีนัดฉีดอยู่ก็จะได้รับการนัดหมายให้ไปฉีดวัคซีนตามนัด 
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับในเดือน มิ.ย.นี้ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ครบ 10 ล้านโดส ขณะนี้เหลือเพียง 900,000 โดสเท่านั้น เชื่อว่าสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามต้องเร่งการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด โดยเฉพาะ 2 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มป่วย 7 โรคเรื้อรัง ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค. พร้อมย้ำว่าการฉีดวัคซีนให้ได้รวดเร็ว ช่วยลดอัตราความรุนแรงของโรค ลดอัตราการเสียชีวิต ขณะเดียวกันมีข่าวดีว่าภายในเดือน ก.ค. อย.จะอนุมัติให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถเดินหน้าผลิตยารักษาผู้ป่วยโควิด จากเดิมใช้ชื่อยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยา “ฟาเวียร์” ได้แล้ว โดยคาดว่าเริ่มเดินหน้าผลิตในเดือน ส.ค. จำนวน 2 ล้านเม็ด และยังมียาที่นำเข้ามาร่วมเสริมอีกด้วย
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า คณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้สรุปผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน Coronavac ของบริษัทซิโนแวค ในการป้องกันการติดเชื้อจากการใช้จริงในประเทศไทยช่วง เม.ย.-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)​ พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มอย่างน้อย 14 วัน มีประสิทธิผลในการลดการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาได้ร้อยละ 71-91 โดยแยกการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่จังหวัดภูเก็ต มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อร้อยละ 90.7 ศึกษาที่จังหวัดสมุทรสาคร มีประสิทธิผลร้อยละ 90.5 ส่วนการศึกษาในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข จากเหตุการณ์การติดเชื้อที่จังหวัดเชียงราย พบวัคซีนมีประสิทธิผลร้อยละ 82.8 และจากฐานข้อมูลกรมควบคุมโรค ศึกษาในบุคลากรสาธารณสุข พบมีประสิทธิผลร้อยละ 70.9 โดยคนที่ได้รับวัคซีน ไม่มีผู้ใดเสียชีวิตจากโควิด ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาที่พบการระบาดเพิ่มมากขึ้น อยู่ระหว่างการศึกษารวบรวมข้อมูล
    "ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในการใช้จริง (Real World Study) ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ พบผลสอดคล้องกันว่า วัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิผลสูงเพียงพอในการป้องกันโควิด-19 โดยสามารถลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ระหว่างร้อยละ 71-91 และลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 95 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วอย่างน้อย 14 วัน" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว 
    ขณะเดียวกัน แอสตร้าเซนเนก้า  ประกาศวันนี้ว่า ขณะนี้บริษัทได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 4.7 ล้านโดส และจะทำการส่งมอบวัคซีนครบ 6 ล้านโดสภายในสัปดาห์นี้ ตามแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย
    นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "แอสตร้าเซนเนก้ามีความยินดีที่ได้เห็นการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศไทยคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าหากเราร่วมมือกัน ในไม่ช้าก็จะสามารถควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ แอสตร้าเซนเนก้ามุ่งมั่นสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลไทย เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเร็วที่สุด”  
    แอสตร้าเซนเนก้าจะดำเนินการส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ ในต้นเดือนกรกฎาคม โดยหนึ่งในสามของกำลังการผลิตวัคซีนภายในประเทศได้ถูกสำรองไว้เพื่อผลิตวัคซีนให้กับประเทศไทย ตามคำสั่งซื้อรวม 61 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของวัคซีนจำนวน 180 ล้านโดสที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีกประมาณสองในสามจะจัดสรรให้กับการผลิตวัคซีนเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    เพจเฟซบุ๊ก "ชมรมแพทย์ชนบท" โพสต์ข้อความว่า ข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทฉบับที่ 2 : วัคซีนต้องมีให้ฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส ประเทศไทยจึงจะรอด ตามแผนเดิมรัฐบาลตั้งการเป้าการจัดหาวัคซีนไว้ชัดเจนว่า มิถุนายนวัคซีนยังมีน้อย แต่ตั้งแต่กรกฎาคมเป็นต้นไป รัฐบาลจะได้แอสตร้าฯ เดือนละ 10 ล้านโดส และซิโนแวก 3-5 ล้านโดส รวมเป็น 13-15 ล้านโดส ซึ่งดูเป้าแล้วจะอุ่นใจสักนิด แต่มาวันนี้ แอสตร้าฯ จากสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิตที่น่าจะคงที่แล้วคือ เดือนละ 15 ล้านโดส (ลดลง 25% จากเดิมที่บอกไว้ที่ 20 ล้านโดสต่อเดือน) จำนวนเดือนละ 15 ล้านโดสที่ผลิตได้นี้ จะส่งมอบให้รัฐบาลไทยเพียงเดือนละ 4 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะต้องส่งออกตามสัญญา ความฝันที่เดือนละ 10 ล้านโดส จึงหดหายได้มาเพียง 40% เท่านั้น เล่นเอายอดจัดสรรวัคซีนเดือนกรกฎาคมที่จะถึงในไม่กี่วันนี้ ไม่ลงตัว จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งยอดจัดสรรมาที่จังหวัด
    ส่วนซิโนแวคนั้นดูชิวๆ ขอให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินประเทศจีนเขาพร้อมส่ง ดังข่าวการสั่งซื้อซิโนแวคอีก 28 ล้านโดส การสั่งเพิ่มซิโนแวคมากกว่า 5 ล้านโดสต่อเดือน จึงเป็นไปได้แน่ แต่ที่แย่คือประสิทธิภาพของซิโนแวคที่ต่ำกว่าวัคซีนอื่นใดสำหรับวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสันแอนด์จอห์นสันนั้น หากไม่นับ lot เล็กที่มหามิตรอเมริกาอภินันทนาการทางการตลาดให้ ก็ต้องรอไม่ก่อนตุลาคม 2564 ซึ่งถึงตอนนั้นไทยคงระบาดจนย่ำแย่ไปแล้ว
    ชมรมแพทย์ชนบทได้คุยกันอย่างหนัก เราเห็นบุคลากรทางการแพทย์ ท้องถิ่น ท้องที่ และ อสม. ต่างก็สู้ยิบตาควบคุมโรคในพื้นที่จนอ่อนล้า งานรักษาพยาบาลบนหอผู้ป่วยและ ICU ก็เหนื่อยแสนสาหัส ทางรอดของประเทศก็ยังอยู่ที่ “วัคซีน”  ไม่ใช่การล็อกดาวน์ เราจะล็อกดาวน์ตัวเองไปได้กี่สัปดาห์ เศรษฐกิจก็จะล่ม
    ประเทศไทยได้มาถึงจุดวิกฤติ เราจะยอมรับการมีวัคซีนฉีดเพียงไม่ถึง 10 ล้านโดสต่อเดือนไม่ได้อีกแล้ว ทั้งๆ ที่เราฉีดได้มากกว่า 15 ล้านโดสต่อเดือน นี่คือเป้าหมาย คือความอยู่รอดของประเทศ และคือตัววัดความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาลจะสอบตกถูกไล่ออกก็อยู่ที่ข้อสอบข้อนี้ แต่ถ้าสอบตกคนไทยทั้งประเทศก็พลอยตกเหวไปด้วย
    บัดนี้เราคงต้องทำใจว่า “มันสายเกินไปแล้วสำหรับคนไทยที่จะสามารถเลือกวัคซีนได้” เกราะจะบางหรือปานกลางก็ต้องแย่งฉวยใส่กันป่วยกันตายไปก่อน วัคซิเนชันและวิคตอรีที่แท้จริง  ต้องฉีดวัคซีนเดือนละไม่ต่ำกว่า 15 ล้านโดส โดยต้องพยายามให้เป็นซิโนแวคให้น้อยที่สุด นี่คือทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ รัฐบาลประยุทธ์จะผลักดันให้เป็นจริงได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาตนเองลาออกไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"