ป่วยไม่หนักให้รักษาที่บ้าน


เพิ่มเพื่อน    

ไทยติดเชื้อกระฉูด 5,406 ราย ดับ 22 คน คลัสเตอร์ใหม่โผล่ต่างจังหวัดต่อเนื่อง สมุทรปราการ-ชลบุรี วันเดียวเฉียด 400 ราย แพร่จากโรงงานและแคมป์ก่อสร้าง สงขลาพุ่ง 275 ราย สั่งเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 สธ.แก้ปัญหาเตียงไม่พอ เริ่มให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน ฝ่าฝืนกติกางัด พ.ร.บ.โรคติดต่อจัดการทันที ผวาสายพันธุ์​อินเดียลามทั่วกรุง พบติดแล้วรวม 822 คน 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,406 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,379 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,757 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,622 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 9 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 18 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 249,853 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 3,343 ราย หายป่วยสะสม 202,271 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 45,648 ราย อาการหนัก 1,806 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 510 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 22 ราย เป็นชาย 13 ราย หญิง 9 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และเป็นผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 1 ราย โดยอยู่ใน กทม. 10 ราย, สมุทรปราการ 3 ราย,  นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ระยอง ปทุมธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สงขลา สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,934 ราย  
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,678 ราย, ตาก 453 ราย,  สมุทรปราการ 395 ราย, ชลบุรี 390 ราย,  สมุทรสาคร 295 ราย, สงขลา 275 ราย,  นนทบุรี 222 ราย, นครปฐม 197 ราย,  ปัตตานี 178 ราย, สระบุรี 157 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด ประกอบด้วย จ.ตาก ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด พบผู้ติดเชื้อ 447 ราย, จ.สมุทรปราการ ที่โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ อ.เมืองฯ 13 ราย, จ.นครปฐม ที่โรงหมู ต.มาบแค อ.เมืองฯ 3 ราย,  จ.สระบุรี ที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อ.หนองแค 127 ราย, จ.ระยอง ที่แคมป์คนงาน อ.เมืองฯ 35 ราย, บริษัทรับเหมาก่อสร้าง อ.เมืองฯ 13 ราย และโรงแยกขยะ อ.ปลวกแดง 15 ราย ขณะที่ กทม. มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 111 แห่ง ซึ่งพบผู้ป่วยภายใน 14 วัน อย่างไรก็ดี มีคลัสเตอร์ที่มีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้แล้วเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 28 วันขึ้นไปถึง 19 คลัสเตอร์  
    เมื่อถามว่าขณะนี้มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูง ศบค.จะมีมาตรการรองรับอย่างไร เตียงพอหรือไม่ แล้วจะมีแนวคิดเรื่องการรักษาตัวที่บ้านหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ประชุมอีโอซีของกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวร่วมกับอธิบดีกรมการแพทย์ มีการเตรียมการอยู่แล้ว เหลือเพียงการลงในรายละเอียดและกำหนดให้ชัดเจน เพราะถ้าการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 10 วันแล้วอีก 4 วันให้ไปดูแลอยู่ที่บ้าน จะช่วยได้ 1 ใน 3 ที่จะทำให้เตียงว่างขึ้นมาในทันที ซึ่งกำลังทำอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว และเชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะมีมาตรการออกมา  ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ทาง รมว.สาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดพื้นที่โรงพยาบาลไอซียูสนาม เพื่อใช้เทคโนโลยีในการเปิดไอซียูนอกสถานที่โดยเร็ว 
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ถึงเรื่องเตียงสนามที่ยังเป็นปัญหาไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยว่า เรื่องนี้กำลังดำเนินการอยู่ ต้องคลี่คลายตรงนี้ไปตรงโน้น ตรงโน้นไปตรงนี้ ตอนนี้เหลือประมาณ 40,000 รายที่อยู่ในระบบรักษา ซึ่งรัฐบาลรองรับตรงนี้อยู่ และสั่งการให้เตรียมรับสีแดงให้มากขึ้น ปัญหาสำคัญนอกจากมีสถานที่และเครื่องมือแล้ว จะต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะนำแพทย์ที่จบใหม่หรือที่กำลังจะจบเข้ามาช่วย สิ่งสำคัญอยู่ที่แพทย์ พยาบาล ที่ต้องมีความรู้ในเรื่องการดูแล ทั้งสีแดง เหลือง เขียว ที่ต้องคิดซ้ำซ้อนหลายอัน อาจจะถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง แต่ขอให้รู้ว่าเราฟังความคิดเห็นทุกคน เมื่อฟังประชาชนมาแล้วก็ต้องนำมาปรึกษาพวกเราตรงนี้ ทำอย่างไรให้ดีที่สุด เห็นใจซึ่งกันและกัน มันจะไปได้หมด แต่ถ้าไม่เห็นใจซึ่งกันและกันมันจะไปไม่ได้ และจะทำให้ความขัดแย้งสูงขึ้น การเมืองก็ขอไว้เถอะ อย่าเพิ่งเลย
เริ่มให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาที่บ้าน
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้ดำเนินการเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. หลังได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาผู้ป่วย โดยผู้ป่วยระดับสีเขียว เพิ่มอีก 500 เตียง เปิดรับผู้ป่วยในวันที่ 1 ก.ค.นี้ รวมเป็น 3,000 เตียง ส่วนผู้ป่วยสีแดงและสีเหลือง เพิ่ม 526 เตียง โดยจะเปิดรับผู้ป่วยได้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 
    โดยนายอนุทินกล่าวว่า พร้อมให้ความเชื่อมั่นเรื่องการรักษาพยาบาลว่า สธ.จะทำอย่างเต็มที่ พร้อมยอมรับขณะนี้เกิดความหนาแน่นเรื่องเตียงผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งได้หารือกับผู้บริหารเมืองทองธานี เพื่อขอขยายเตียงของ รพ.บุษราคัมให้มากขึ้น นอกจากนี้ ประสานเหล่าทัพจัดหาเตียงสนามเพิ่ม 180 เตียง เพื่อเป็นโคฮอร์ตวอร์ดไอซียู เช่น ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 และจะมีทีมแพทย์มาหมุนเวียนคอยดูผู้ป่วย
    นายสาธิตกล่าวว่า แนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านระหว่างรอเตียง (Home Isolation) อยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคลากรทางการแพทย์ และอยู่ในระบบการตรวจสอบ ติดตามอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลงมีระบบส่งต่อไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล โดยเริ่มดำเนินการแล้ววันที่ 28 มิ.ย. เฉพาะพื้นที่ กทม.
    นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า เนื่องจากตอนนี้มีคนไข้ที่รอเตียงอยู่วันละ 400-500 ราย แต่จริงๆ อาจจะมีการตกค้างกว่า 1,000 ราย จึงมีมาตรการเพิ่มการดูแลตัวเองที่บ้าน โดยหลักการต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ จะทำในผู้ป่วย 2 กลุ่ม คือผู้ติดเชื้อใหม่และผู้ป่วยที่รักษาตัวครบ 10 วันแล้ว ไม่มีปัญหา อีก 4 วันที่เหลือให้ไปดูแลตัวเองต่อที่บ้าน
    โดยที่ผ่านมากรมการแพทย์ได้มีการนำร่องให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวของ รพ.ราชวิถี จำนวน 18 ราย ดูแลตัวเองที่บ้านจากการติดตามผลพบว่ามี 16 ราย ที่หายดีไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น มีเพียง 1 ราย ที่ต้องส่งต่อ และอีก 1 รายเป็นลูกของรายที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เลยต้องส่งต่อไปรักษาที่ รพ.พร้อมกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน ทุกคนต้องมีจิตสำนึก ถ้าผู้ติดเชื้อที่เราให้ดูแลตัวเองที่บ้านได้ แล้วยังออกไปนอกพื้นที่ กรณีเช่นนี้มีการคุยกันว่าถือว่าเป็นการจงในแพร่เชื้อ สามารถเอาผิดได้ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ
เดลตาลาม กทม.พุ่ง 822 ราย
    นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในประเทศไทย ว่า การเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.2564 พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย โดยจะเห็นว่าสัดส่วนสายพันธุ์เริ่มเปลี่ยนแปลง สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) สัปดาห์วันที่ 13 มิ.ย. พบ 9.76% สัปดาห์วันที่ 13-20 มิ.ย. เพิ่มเป็น 10.43% และสัปดาห์ที่ 20-27 มิ.ย. เป็น 12.30% ขณะที่สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) เพิ่มขึ้นช้าๆ จาก 0.61% เป็น 1.39% ที่ส่วนใหญ่พบใน จ.นราธิวาส
    ทั้งนี้ จากภาพรวมทั้งประเทศ สายพันธุ์เดลตามีอัตราเฉลี่ยสะสม 12.30% แต่ข้อมูลเฉพาะในสัปดาห์นี้ ขยับมาอยู่ที่ 16.59% และเพิ่มมากที่สุดคือ กทม. คิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด ส่วนภูมิภาคเดลตาขยับเพิ่มเป็น 7.34% หากอัตรายังเป็นแบบนี้ คาดว่าอีก 2-3 เดือนสายพันธุ์เดลตาใน กทม. อาจจะมากกว่าสายพันธุ์อัลฟาเดิม โดยข้อมูลในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์เดลตาเพิ่ม 459 ราย รวมเป็น 1,020 ราย สายพันธุ์เบตาเพิ่มอีก 89 ราย สะสม 127 ราย สำหรับข้อมูลสายพันธุ์เดลตาที่พบเพิ่มในสัปดาห์นี้ 459 ราย ได้แก่ กทม. 331 ราย ส่วนใหญ่พบในแคมป์แรงงาน,  นครสวรรค์ 11 ราย, พระนครศรีอยุธยา 7 ราย, กาฬสินธุ์ 6 ราย, อุดรธานี 23 ราย,  สกลนคร 22 ราย, เลย 20 ราย, หนองบัวลำภู 12 ราย, พะเยา เพชรบูรณ์ ชลบุรี มหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย, อุทัยธานี หนองคาย จังหวัดละ 2 ราย, ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครพนม 3 ราย และอุตรดิตถ์ บึงกาฬ จังหวัดละ 4 ราย 
    ก่อนหน้านี้ ช่วงระหว่าง เม.ย.-20 มิ.ย. ใน กทม.พบสายพันธุ์เดลตาแล้ว 491 ราย เมื่อรวมกับยอดที่พบใหม่อีก 331 ราย ทำให้เฉพาะ กทม.มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจำนวน 822 ราย 
    จ.สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 395 ราย เสียชีวิต 3 ราย รายที่ 1 เป็นชาย อายุ 38 ปี มีโรคประจำตัว โรคไต, รายที่ 2 เป็นหญิง อายุ 59 ปี มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง, รายที่ 3 เป็นชาย อายุ 66 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง  ส่วนคลัสเตอร์ใหม่ในเขตอำเภอเมืองฯ เป็นโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศ ติดเชื้อ 13 ราย
    ที่ จ.ชลบุรี พบผู้ติดใหม่สูงถึง 390 ราย โดยพบในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี 68 ราย,  ศรีราชา 206 ราย, บางละมุง 46 ราย,  พนัสนิคม 3 ราย, สัตหีบ 20 ราย, บ้านบึง 29 ราย, พานทอง 8 ราย, บ่อทอง 3 ราย ซึ่งคลัสเตอร์ใหม่เป็นแคมป์คนงานก่อสร้าง บริษัท แสตนดาร์ด เพอร์ฟอร์แม้นซ์จำกัด (SPC) ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา ติดเชื้อถึง 188 ราย และตลาดใหม่ชลบุรี 22 ราย ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ได้มีคำสั่งปิดแคมป์คนงานดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-25 ก.ค. รวม 28 วัน โดยให้นายอำเภอศรีราชานำกำลังทุกภาคส่วน ออกตรวจควบคุมดูแล มิให้เข้าออกและขนย้ายคนงาน
    ที่ จ.ปัตตานี ทุบสถิติใหม่ มียอดผู้ป่วยวันเดียวพุ่ง 173 คน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งล็อกดาวน์หมู่บ้านในอำเภอต่างๆ ประกอบด้วย อ.เมืองฯ ปิดหมู่บ้าน 5 ตำบล คือ ต.ปะกาฮารัง, ต.บานา, ต.บาราเฮาะ, ต. ตะลุโบะ และ ต.คลองมานิง ส่วน อ.กะพ้อ ล็อกดาวน์ 2 ตำบล ประกอบด้วย ต.ปล่องหอย, ต.กะรุบี และ อ.ไม้แก่น 1 ตำบล คือ ต.ตะโละไกรทอง ขณะเดียวกันจังหวัดกำลังจะมีการเตรียมปิดอีกหลายหมู่บ้าน ส่วนที่ด่านคัดกรองโควิด-19 เกาะหม้อแกง ต.ท่ากำชำ อ.หนอกจิก ด่านประตูแรกก่อนเข้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ได้มีมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่
    ที่ จ.สงขลา พบผู้ป่วยใหม่ 275 ราย ยอดสะสม 5,124 ราย เสียชีวิต 17 คน มาจากหลายคลัสเตอร์จากกลุ่มเดินทางจากศูนย์มัรกัสนาประดู่ จ.ปัตตานี 21 ราย พบเชื้อกลุ่มสัมผัส 97 ราย กลุ่มมัรกัสทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย 1 ราย พบเชื้อในผู้สัมผัส 21 ราย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลาได้มีคำสั่งห้ามออกจากบ้านเวลา 22.00-04.00 น. และห้ามเดินทางเข้า-ออก กทม.ปริมณฑลและ 4 จังหวัดภาคใต้ 1 เดือน ถึง 28 ก.ค. 
    ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ติดรายวันเพิ่มขึ้น 35 ราย ในพื้นที่ 30 อำเภอ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"