“บิ๊กตู่” ไฟเขียวทุ่ม 7.5 พันล้านบาท เยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง-ร้านอาหาร เฉียด 7 แสนราย จากเหตุสุดวิสัย 50% ของฐานเงินเดือนให้กับลูกจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือนใน 6 จังหวัด กรณีร้านอาหารจะประเมินอีกทีใน 15 วัน ประกันสังคมจ่ายเงินเพิ่มเติมอีก 2 พันต่อคน สำหรับลูกจ้าง ส่วนนายจ้าง 3 พันบาทต่อหัวของจำนวนลูกจ้าง นอกประกันสังคมแจกในแอปถุงเงิน
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ตึกภักดีบดินทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อหามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ภายหลังมีคำสั่งยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัด
โดยที่ประชุมจะรับทราบรายงานจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งการพิจารณารูปแบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม นอกจากนี้ ยังต้องจับตาโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่จะเริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ ว่าจะมีการปรับอย่างไรหรือไม่
หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ขอชี้แจงไปถึงประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศคำสั่งฉบับที่ 25 ซึ่งในการประชุมวันนี้ได้มีการหารือทั้งภาครัฐ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องถึงการดำเนินการ ตนขอยืนยันว่ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่วนราชการ รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วนเพื่อนำมาพิจารณาทุกครั้ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม รัฐบาลฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
วันนี้ต้องทำความเข้าใจกันว่าสิ่งที่เดือดร้อนกันวันนี้คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งมีผลกระทบใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และปทุมธานี ที่ได้การประกาศออกไป จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ รวมถึงระยะต่อไปจะมีการดำเนินการเช่นกัน เพื่อให้เกิดความทั่วถึงในหลายกิจกรรม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่เราเคยทำมาแล้ว และอาจจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาอีก อย่างวันนี้เราทำโครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็จะออกไปตามกำหนดการเดิม ซึ่งเป็นมาตรการการเยียวยา
นายกฯ กล่าวว่า เราจะเน้นในเรื่องของการลดผลกระทบในระยะเวลา 1 เดือน จากการที่ได้มีการประกาศฉบับที่ 25 ใน 6 จังหวัดก่อน โดยรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณส่วนของรัฐบาล ซึ่งเป็นเงินจากเงินกู้และเงินจากกองทุนประกันสังคมรวมแล้วจำนวน 7.5 พันล้านบาท ระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้ได้ใน 6 จังหวัด 3 หมวด ประกอบด้วย เรื่องของการก่อสร้างที่พักแรม บริการด้านอาหาร สถานบันเทิงและนันทนาการ ซึ่งมีผลกระทบจำนวนมากพอสมควร
วันนี้รัฐบาลมีมติจะจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคม ตัวเลขคร่าวๆ ประมาณ 2,000 บาทต่อคน และนายจ้างในระบบประกันสังคมตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 200 คน สรุปว่ารัฐบาลจะดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในระยะเวลา 1 เดือนที่ได้ประกาศปิดไปแล้ว และเหตุผลที่เราต้องปิดแคมป์คนงาน เพราะมีแรงงานติดเชื้อโควิดและแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก ที่ส่งผลกระทบกับจุดอื่นด้วย ซึ่งการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็นระยะที่ 1, ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ซึ่งก็จะมีพื้นที่จังหวัดอื่นตามมา แต่วันนี้ขอในส่วน 6 จังหวัดก่อน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัญหาที่มีแรงงานทยอยกลับบ้าน เรื่องนี้ต้องดูข้อมูลในรายละเอียดที่ผ่านมา ตนห่วงใยอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าเช้าวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนลงไปปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน เพราะวิตกว่าจะไปแพร่เชื้อในที่อื่น ทหารหลายนายได้รับความเสี่ยงสูง สำหรับวันนี้ตนเชื่อว่าไม่มีใครอยากกลับบ้าน เพราะกลับไปก็จะต้องถูกพื้นที่ควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด และไม่มีงาน แต่วันนี้อยู่ในคลัสเตอร์ที่เราควบคุมได้ มีการจ่ายชดเชยในส่วนของกระทรวงแรงงานอยู่แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรง อาหารการกินก็มีคนมาสนับสนุนดูแล
ทบทวนร้านอาหารใน 15 วัน
“สิ่งที่ได้รับผลกระทบและผมเป็นห่วงในวันนี้ก็คือร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารรายย่อย ที่ปกติคนค่อนข้างระมัดระวังเรื่องโควิดระบาดอยู่แล้ว ไม่ค่อยออกนอกบ้าน จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมก่อสร้างกับผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ เพื่อประกอบอาหารและจัดส่งไปยังสถานประกอบการและแคมป์คนงานต่างๆ เพื่อที่จะได้มีรายได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เรื่องนี้ทางกรุงเทพฯ รับเรื่องไปแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่สบายใจหรือยังไม่พอใจ แต่ก็ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องบริหารงานให้เป็นระบบ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาพันกันยุ่งเหยิงในอนาคต รัฐบาลต้องดำเนินการให้รอบคอบรัดกุม”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกัน โดยจะนำข้อสรุปทั้งหมดนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ นอกจากดูแลลูกจ้างแล้ว จะต้องดูแลนายจ้างด้วย ส่วนนายจ้างที่รายได้ขาดหายไป ก็จะมีการไปชดเชยตรงอื่นตามจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมากพอสมควร โดยรัฐจะพิจารณารายหัวให้กับลูกจ้าง ซึ่งผู้ประกอบการจะได้ไปด้วย แต่ต้องไม่เกิน 200 คน ก็ต้องยอมรับว่าใช้เงินมหาศาล ซึ่งในที่ประชุมคิดอย่างละเอียดรอบคอบกว่า 3 ชั่วโมง เราต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่จะได้รับการเยียวยาจะเป็นอย่างไร นายกฯ ตอบว่า กรณีหยุดงานจากเหตุสุดวิสัย จะได้รับเงินเยียวยา 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ โดยที่รัฐบาลจะเข้าไปสมทบให้ ส่วนโครงการคนละครึ่งที่มีข่าวว่าจะเลื่อนนั้น ยืนยันว่ายังไม่เลื่อน ยังเป็นไปตามกำหนด รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ไม่ได้มีเลื่อนอะไรทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการที่ถูกคำสั่งไม่ให้นั่งกินในร้านจากคำสั่งล่าสุด เขารู้สึกหนักเกินไป จะผ่อนปรนให้นั่งกิน 25 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เดี๋ยวดู ต้องขอเวลาดูก่อน แต่รัฐบาลก็สมทบเงินเยียวยาให้อยู่แล้วในช่วง 1 เดือนนี้ได้หมด เราถึงบอกว่าขอดู 1 เดือน และในระยะเวลา 1 เดือน เราก็จะดูในช่วงเวลา 15 วันด้วย โดยจะต้องประมาณการว่าหากดีขึ้นจะทำอย่างไร
"อย่างวันนี้ สถานประกอบการที่มีคนก่อสร้างเขาก็เดือดร้อน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีไป กรณีไหนที่สามารถหยุดได้ชั่วคราวก็ขอให้หยุดไปก่อน แต่กรณีไหนที่ต้องทำงานต่อทางด้านเทคนิค เช่น การทำอุโมงค์หรือก่อสร้างที่ได้ขึ้นชั้นไปแล้ว ซึ่งต้องมีเวลาการเซตตัวอะไรประมาณนี้ ก็ต้องขออนุมัติขึ้นมา ศบค.กำลังพิจารณาอยู่ ก็รู้ถึงความเดือดร้อน และก็เดือดร้อนไปทั้งหมด พวกเราก็เดือดร้อนไปไม่น้อยกว่า เพราะต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้คนสามารถดำรงชีวิตได้ในช่วงนี้ และอยากฝากว่าหลายประเทศเขาเดือดร้อนยิ่งกว่าเรา"
ซักว่ามีการประเมินหรือไม่ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงขึ้น จะเบาลงได้ในช่วงเวลาไหน นายกฯ ตอบว่า ตัวเลขที่ขึ้นต้องยอมรับในหลักการ ถ้าเราไม่ค้นหาเชิงรุกตัวเลขก็ไม่ขึ้น คำแนะนำของหมอให้ค้นหาเชิงรุก ซึ่งก็ต้องเจอ และหลายคนติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ คนบางส่วนแข็งแรง แต่เชื้อไปแพร่คนอื่น ฉะนั้นเมื่อมีการตรวจค้นเชิงรุก เราต้องยอมรับตัวเลขที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเพิ่มขึ้นมาแล้วก็ต้องดูในส่วนของผู้ที่รักษาหายรายวันว่ามีจำนวนเท่าไหร่
สมมุติว่าอย่างวันนี้ตัวเลขสูง 5,000 ราย แต่ตัวเลขที่รักษาหายกว่า 3,000 ราย ก็ต้องไปบริหารจัดการว่าทำอย่างไร และพื้นที่ไหนที่มีการแพร่ระบาด ก็ต้องมีการพิจารณาเรื่องวัคซีน เราได้ปรับตัวเลขอย่างนี้มาตลอดเวลา ไม่ได้ทำงานรายวัน แต่เราคิดกันเป็นระบบ และต้องรู้ว่าการทำงานประกอบด้วยหลายส่วนงาน หากคิดคนเดียวความคิดเห็นท่านอาจจะถูก แต่บางครั้งมันทำไม่ได้ ถูกต้องหรือไม่ ตรงนี้ต้องเห็นใจ
“รัฐบาลนี้ผมขอยืนยันดูแลเต็มที่ และรับฟังความเห็นของทุกคน ชอบ-ไม่ชอบผมก็ฟังและนำมาดูทั้งหมด ซึ่งต้องดูว่าอันไหนที่ทำได้ผมก็รับมา แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ผมก็ไม่อยากจะดู ถ้าในเชิงสร้างความเกลียดชังความขัดแย้งมากๆมันไม่เกิดประโยชน์ เวลานี้บ้านเมืองมันต้องเป็นอย่างนี้ ผมไม่รังเกียจใครเลย เพราะผมถือว่าทุกคนเป็นคนไทย หลายๆอย่างผมก็เสียใจอยู่เหมือนกัน ที่หลายๆคนก็ใช้วาจากิริยาไม่สุภาพ มันควรหรือไม่ประเทศไทยในวันนี้ ผมก็ไม่อยากจะพูดหรอก และผมก็อดทนอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
เมื่อถามว่า การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ลงไปดูเรียบร้อยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า วันที่ 1 ก.ค.เปิดรับนักท่องเที่ยว และนายกฯ จะลงไปในพื้นที่วันที่ 1 ก.ค. ตามกำหนดการเดิม เรื่องนี้ทุกคนต้องช่วยกัน ต่อให้นายกฯ ประกาศอะไรไป ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือมันก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าทุกคนไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ไอ้นี่จะเอา ไอ้นี่ไม่เอา แล้วมันจะทำอะไรได้ มันต้องหามาตรการที่เหมาะสมแล้วเดินหน้าไปให้ได้
"วันนี้ผมต้องเชื่อฟังทางคุณหมอ ระบบสาธารณสุข เขายืนยันว่าถ้าเราฉีดวัคซีนในพื้นที่ภูเก็ต และคนที่เข้ามาได้รับวัคซีน 2 เข็ม และอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเกาะ เราก็คอนโทรลได้ เมื่อทำเกาะนั้นได้ก็ทำเกาะอื่นต่อไป จากนั้นก็มาดูพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินใหญ่ มันต้องทยอยอย่างนั้น ถ้าทำพรึ่บเลยทีเดียวก็เกิดปัญหา ที่ผ่านมาเห็นว่าทุกคนเดือดร้อน ขอผ่อนคลาย ตนก็ผ่อนคลายให้ เมื่อผ่อนคลายแล้วเกิดปัญหาก็ต้องมาร่วมมือแล้วแก้ปัญหาใช่หรือไม่ เช่นร้านอาหารขอเปิดตนก็ให้ 25 เปอร์เซ็นต์ตนก็ให้ 50 เปอร์เซ็นต์ตนก็ให้ แต่ถ้าเกิดปัญหาจะให้ตนทำอย่างไร วันนี้จะเห็นได้ว่าตำรวจทหารไปตรวจทุกที่ จับกุมได้ทุกวัน เพราะยังมีคนที่ไม่ค่อยร่วมมืออยู่ นี่แหละสำคัญ ซึ่งจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน
เมื่อถามว่าจะมีการชดเชยสถานบันเทิงที่ปิดก่อนหน้านี้ด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลดูแล บางอันได้ตอนนี้ แต่บางอันได้หลังจากนี้ เข้าใจหรือไม่ ตนได้ย้ำแล้ววันนี้เป็นการแก้ไขความเดือดร้อนจากประกาศฉบับที่ 25 ถามอีกว่าสถานบันเทิงบอกว่าเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า ก็เยียวยา กระทรวงแรงงานดูแลอยู่แล้ว ทั้งเจ้าของกิจการ ลูกจ้าง ต้องขอบคุณทุกคนที่ยืนอยู่ขณะแถลงข่าวนี้ด้วย ทุกท่านก็เต็มที่
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ามาตรการดังกล่าวจะเข้าสู่การประชุมครม.ในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อให้ ครม.เห็นชอบในหลักการ และในสัปดาห์ต่อไปจะเข้าสู่ที่ประชุมของ ครม.อีกครั้งเพื่ออนุมัติวงเงิน ซึ่งในส่วนของวงเงินที่รัฐบาลจะใช้ 4,000 ล้านบาทจากเงินกู้นั้น จะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ก่อนจะมาเข้า ครม.ตามขั้นตอน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า มาตรการเยียวยาโควิดประกันสังคมจะจ่ายในกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของฐานเงินเดือนให้กับลูกจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เป็นเวลา 1 เดือน
ประกันสังคมจ่ายเงินเพิ่มเติมอีก 2,000 บาทต่อคน สำหรับลูกจ้างในระบบประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย รวมเป็นเวลา 1 เดือน ประกันสังคมจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จำนวน 3000 บาท/หัวของจำนวนลูกจ้าง (แต่ไม่เกิน 200 คน) ซึ่งส่วนนี้ประกันสังคมจะจ่ายให้กับผู้ประกอบการ เป็นเวลา 1 เดือน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลจะไม่มีการเลื่อนโครงการคนละครึ่ง เพื่อรักษาระดับการบริโภคของประชาชนหลังจากที่มีการออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดด้วย
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวว่า ผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการใน 6 จังหวัด มีจำนวนถึง 697,315 คน ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง ผู้อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการเยียวยาเลย เพราะลงทะเบียนไว้แล้ว จะได้รับการเยียวยา เช่นได้รับ 50% ของรายได้ อย่างแรงงานให้หยุด ต้องหยุดอยู่ในแคมป์ จะจ่ายให้ 50% ของค่าแรง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยเฉพาะถ้าเป็นคนไทย สัญชาติไทย รัฐจะเพิ่มให้อีก 2,000 บาท ถ้าไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ไปลงทะเบียน ภายในระยะเวลา 1 เดือนก็จะได้ ถ้าไม่ขึ้นทะเบียนให้ไปขึ้นในแอปถุงเงิน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |