วิกฤติโควิด-19 วัดกันที่จำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตประจำวันเท่านั้นจะไม่เห็นภาพจริง
จะให้รู้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยเข้าระดับ “ล่มสลาย” หรือไม่ต้องดูจำนวนเตียงในห้อง ICU และโรงพยาบาลทั้งหลายด้วย
ล่าสุด คุณหมอหลายท่านได้ออกมายอมรับความจริงว่า “ไม่ไหวแล้ว”
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ยอมรับเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่า สถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐทุกระดับสีในพื้นที่ กทม. ทุกแห่งศักยภาพในการรรับ “เกือบเต็มที่จะรับผู้ป่วยรายใหม่แล้ว”
โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดงใน กทม. เหลือประมาณ 20 เตียงเท่านั้น
เดิมเคยคาดการณ์ว่าการระบาดระลอกเดือนเมษายนจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้วันละ 400-500 คน
ขณะนั้นแต่ละโรงพยาบาลได้แบ่งเตียงไอซียูในทุกสังกัดเพิ่มขึ้น รวมถึงการแบ่งโซน 6 พื้นที่ใน กทม.เพื่อดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการเตียงร่วมกัน
แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม.ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวันมากกว่าพันคนในแต่ละวัน ทำให้สถานการณ์เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยในทุกระดับสีเกือบวิกฤติ
ขณะเดียวกันแนวโน้มกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง อาการหนักขึ้น กลายเปลี่ยนเป็นสีแดงเพิ่มขึ้นด้วย
จึงส่งผลให้อัตราครองเตียงสีแดงเพิ่มขึ้นตาปมไปด้วย รวมถึงเตียงในผู้ป่วยสีเขียว
อธิบดีสมศักดิ์บอกด้วยว่า นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 100-200 แห่งในพื้นที่ กทม. แม้จะมีห้องไอซียูรองรับได้ 1-2 เตียง แต่ปัญหาสำคัญคือ ขาดบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแล
เพราะบุคลากรเหล่านี้ก็มาจากโรงพยาบาลรัฐที่ทำงานนอกเวลา
ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.รัฐทุกแห่งตอนนี้ได้ทำงาน “เกินกำลัง” ในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอยู่แล้ว
คุณสมศักดิ์บอกว่า การแก้ปัญหาขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข และทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง ทั้งการแบ่งโซนดูปแลผู้ป่วยแต่ละพื้นที่
โดยหลักตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงลงให้ได้มากที่สุด
ล่าสุด เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาร่วมกับ กทม. ออกแนวทาง community isolation คือ การแยกตัวออกจากชุมชนทันที และทำ Bubble and Seal
อีกประเด็นหนึ่งคือ ตอนนี้มีการติดเชื้อในผู้สูงอายุมากขึ้น
เบื้องต้นได้มีการหารือ กทม. จัดทำแนวทาง Nursing home isolation
กรณีหากผู้ดูแลและผู้สูงอายุติดเชื้อ แต่อาการไม่มาก ให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุระหว่างรอเตียง
ขณะเดียวกันจะมีแพทย์ในพื้นที่คอยให้คำปรึกษา เพื่อผ่อนคลายระหว่างการจัดสรรเตียง
อีกด้านหนึ่ง คุณหมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล แห่งศิริราช คำนวณรายละเอียดของเตียงโรงพยาบาลให้ได้เห็นภาพชัดขึ้นอีก
ท่านวิเคราะห์ไว้ในเฟซบุ๊กของท่านว่า
ระลอกแรกกรุงเทพฯ มีไอซียูโควิดที่ใช้งานจริงได้ 200 เตียง
ระลอกสองขยายขึ้นมาได้เป็น 300 เตียง
ระลอกสามจนถึงขณะนี้เบ่งมาเกือบเต็มที่แล้วเป็น 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 475 จึงเหลือว่าง 25 เตียง
ใน 475 เตียงนี้ เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 300 เตียง ใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น 175 เตียง
ในอีก 10 วันข้างหน้า
อัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 50% จะมีผู้เสียชีวิต 150 คน
ส่วนอีก 150 คนที่เหลือจะย้ายออกจากไอซียูได้ 1 ใน 3 คือ 50 คน
จะมีผู้ป่วยใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่นอาการทุเลาออกจากไอซียูโควิดได้ร้อยละ 80 คือ 140 คน
จึงเหลือเตียงว่างเป็น 25+150+50+140 = 365 เตียง
หากมีผู้ป่วยใหม่วันละ 1,000 คน รวม 10 วัน คิดเป็น 10,000 คน
ผู้ป่วยโควิดใหม่ทุกๆ 100 คน โรคจะลุกลามจนต้องใช้ไอซียูโควิด 5 คน ดังนั้นจะต้องเตรียม 500 เตียง
ดังนั้นเตียงที่ยังขาดอยู่คือ 500-365 = 135 เตียง จะได้จากไหน
เราคงเพิ่มได้อีกเพียง 35 เตียง
ที่เหลือ 100 เตียง จะต้องไปดึงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด
ถามว่าเราจะยอมให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร
คุณหมอนิธิพัฒน์น่าจะเป็นคุณหมอคนแรกๆ ที่แสดงความเห็นในที่สาธารณะให้มีการ “ล็อกดาวน์” เพื่อป้องกันไม่ให้คนป่วยโควิดทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย
ข้อเสนอของท่านได้รับการตอบสนอง...ระดับหนึ่ง
วันนี้เมื่อนายกฯ ประกาศไม่ล็อกดาวน์ ใช้การปิดแคมป์คนงาน 1 เดือนทดลองดูก่อน
ทุกคนก็ได้แต่จะหวังว่า “วิกฤตการณ์เตียง” จะไม่เลวร้ายไปถึงจุดที่ (เริ่มเกิดแล้ว) ที่คุณหมอต้องตัดสินใจถอดเครื่องช่วยหายใจจากคนป่วยคนหนึ่งให้คนป่วยอีกคนหนึ่ง เพราะอาการของคนที่สองมีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดมากกว่า
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |