28 มิ.ย.64 - เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมว่า ในการประชุมหารือกันในครั้งนี้เพื่อพิจารณาถึงการลดผลกระทบจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถารการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่25) ที่ประชุมฯได้พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฯฉบับที่ 25 ซึ่งโดยหลักได้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจในร้านอาหารในพื้นที่ที่มีการออกมาตรการควบคุมสูงสุด 6 จังหวัดที่ออกมาตรการห้ามนั่งในร้านอาหาร ได้แก่ กทม.และปริมณฑลได้แก่ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด
นายดนุชา กล่าวว่า โดยมาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการพิเศษที่ออกมาในช่วงเวลา 1 เดือนในการดูแลทั้งแรงงาน ลูกจ้าง และนายจ้างทั้งในระบบและนอกระบบ โดยใช้วงเงินประมาณ 7.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากกองทุนประกันสังคม 3.5 พันล้านบาท และเงินกู้ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่มาใช้จ่ายในส่วนนี้ ได้แก่ 1.มาตรการที่ช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับการจ่ายเงินค่าจ้างให้ในสัดส่วน 50% ของค่าจ้างแต่ไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน
2.มาตรการในการช่วยเหลือลูกจ้างในระบบประกันสังคม ได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 2,000 บาท เนื่องจากลูกจ้างบางส่วนได้รับผลกระทบจากการหยุดงาน หรือบางธุรกิจอาจไม่จ่ายเงินเดือนให้ในช่วงนี้รัฐจึงให้เงินเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยเหลือในช่วงเวลานี้ 3.มาตรการในการช่วยเหลือนายจ้าง โดยนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 3,000 บาทโดยเป็นการจ่ายรายหัวให้กับลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการจริงแต่ไม่เกิน 200 คน กำหนดระยะเวลา 1 เดือน
และ 4.ส่วนแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ซึ่งรัฐบาลมีฐานข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นถุงเงิน ในกรณีที่ผู้ประกอบการและแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบก็ให้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อรับสิทธิโยชน์ในส่วนนี้ โดยในระยะเวลา 1 เดือน กระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้มีการลงทะเบียนโดยนายจ้างพาลูกจ้างไปลงทะเบียนก็จะได้เงิน 3,000 บาท และลูกจ้างก็จะได้เงิน 2,000 บาทเช่นเดียวกัน แต่จะไม่ได้ให้ค่าชดเชยการว่างงานฉุกเฉินในสัดส่วน 50% และในจำนวนนี้แรงงานจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือการว่างงานสุดวิสัยเนื่องจากยังจ่ายสมทบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือนตามกฎหมายประกันสังคม โดยในส่วนที่ไม่มีลูกจ้างก็ได้รับเงินเฉพาะ 3,000 บาทโดยลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นถุงเงิน
“ที่ประชุมฯยังได้มีการหารือกันถึงเรื่องการขอความร่วมมือจากสมาคมก่อสร้างให้ประสานกับสมาคมภัตราคารและร้านอาหารต่างๆเพื่อให้ซื้ออาหารจากผู้ประกอบการเหล่านี้ไปให้กับคนงานที่อยู่ในแคมป์ก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือกลุ่มร้านอาหารด้วย”นายดนุชา กล่าว
เลขาธิการ สศช.ยังกล่าวด้วยว่ารัฐบาลจะไม่มีการเลื่อนโครงการคนละครึ่ง เพื่อรักษาระดับการบริโภคของประชาชนหลังจากที่มีกาารออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดด้วย
ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับที่ 25 ใน 6 จังหวัดมีประมาณ 6.9 แสนคน ส่วนแรงงานต่างด้าวประมาณ 9 หมื่นคน ส่วนแรงงานนอกระบบนั้นต้องดูเรื่องการมาลงทะเบียนที่จะเปิดแต่คิดว่าไม่มากนัก ที่จะมากอาจเป็นร้านอาหารที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนเลยก้ต้องรีบมาลงทะเบียน โดยในส่วนที่จะเริ่มจ่ายเงินให้กับคนงานคาดว่าจะเริ่มได้ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ แรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมไม่ได้มีการสมทบเงินไว้ จึงไม่ได้ส่วนที่จ่ายชดเชยการว่างงาน แต่การมาลงทะเบียนของแรงงาน และร้านค้าที่ยังไม่เคยอยู่ในระบบรัฐบาลก็จะช่วยเหลือ โดยแรงงานได้ 2,000 บาท และร้านค้าให้ได้ 3,000 บาท
โดยส่วนนี้แรงงานที่เป็นต่างด้าวจะไม่ได้เงินช่วยเหลือเนื่องจากเงินส่วนนี้ใช้จากเงินกู้ฯมีเงื่อนไขว่าต้องไปช่วยเหลือคนไทย ส่วนที่จำกัดการจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการแต่ละสถานประกอบการไม่เกิน 200 คนนั้นเนื่องจากใช้เกณฑ์การช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นหลัก แม้จะเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่รัฐบาลก็จะช่วยเหลือไม่เกิน 200 คน เพราะขณะนี้ธุรกิจขนาดใหญ่เช่นธุรกิจรถยนต์นั้นมีผลประกอบการที่ดีไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับกรณีปิดแคมป์คนงานต่างชาติที่ประกาศว่าเป็นระยะเวลา 1 เดือนระหว่างนี้จะมีการเร่งการฉีดวัคซีน และการตรวจเชิงรุกโดยระยะต่อไปเมื่อมีการฉีดวัคซีนและตรวจได้มากๆแล้วสามารถพิจารณาปลดล็อกให้เป็นแคมป์ๆไปได้ แต่ต้องเอาเข้าสู่การพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.)ก่อนจะอนุญาตให้เปิดก่อนกำหนด
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่ามาตรการดังกล่าวจะเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อให้ครม.เห็นชอบในหลักการ และในสัปดาห์ต่อไปจะเข้าสู่ที่ประชุมของ ครม.อีกครั้งเพื่ออนุมัติวงเงิน ซึ่งในส่วนของวงเงินที่รัฐบาลจะใช้ 4,000 ล้านบาทจากเงินกู้ฯนั้นจะผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯก่อนจะมาเข้าครม.ตามขั้นตอน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการพิเศษให้กับ 6 จังหวัด ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงแรงงาน กทม. จะร่วมกันทำงานเชิงรุกในช่วงระยะเวลา 1 เดือนนี้ ทั้งการป้องกันการแพร่ระบาด การตรวจเชิงรุก และการเร่งรัดการฉีดวัคซีน เพื่อคุมการระบาดให้ได้ใน 1 เดือน โดยมีเป้าหมายว่าจะทำให้การแพร่ระบาดใน 10 จังหวัดลดลงให้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยมีเป้าหมายทำให้ผู้ระบาดรายใหม่ลดน้อยลงเหลือต่ำกว่า 10 คนต่อวันให้ได้เหมือนใน 50 จังหวัดที่การแพร่ระบาดเหลือน้อยมาก ที่ประชาชนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็ว ส่วนที่ต้องให้การช่วยเหลือก็จะมีมาตรการโดยเฉพาะ
“มาตรการที่ออกมาในครั้งนี้ต้องการดูแลทั้งลูกจ้าง นายจ้าง ในระบบ และนอกระบบ เพื่อให้ได้รับการดูแลในช่วงที่มีสถาการณ์และมีมาตรการในส่วนนี้ออกมา ส่วนมาตรการอะไรที่เป็นมาตรการในภาพใหญ่ทั้งประเทศก็จะเดินหน้าต่อ คือมาตรการคนละครึ่ง มาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้อันนี้ยังเป็นไปตามกำหนด ตามกติกาเดิมที่ได้ประกาศไว้ไม่ได้เลื่อน”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |