28มิ.ย.64-นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2564 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีเป้าหมายที่จะมุ่งพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศในทุกๆ สาขาวิชาที่เปิดสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาด ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่ 1.โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน 2.โลจิสติกส์และซัปพลายเชน 3.หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ 5.อาหารและเกษตร 6.ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ 7.แม่พิมพ์ โดยตนต้องการผลักดันให้เกิดคุณภาพนำปริมาณ ไม่ใช่เพิ่มปริมาณเข้ามาเรียนมากมายแล้วด้อยคุณภาพ เพราะแบบนั้นเด็กจบออกไปแล้วผู้ประกอบการก็ไม่อยากที่จะรับเข้าไปทำงาน
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า และจากที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาสังกัด สอศ.ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า รมว.ศธ.ให้ความสนใจเกี่ยวกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และเห็นว่าควรประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้รับทราบว่าในแต่ละจังหวัดมีศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ในด้านใด เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเข้ามาเรียนได้ง่ายขึ้น เช่น ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ค่อนข้างทำได้ดีในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรผู้สอนมีถึง 7 คนที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ (License) ในระดับนานาชาติ หรือของวิทยาลัยเทคนิคถลาง จ.ภูเก็ต ก็มีความเป็นเลิศในสาขาวิชาช่างอากาศยาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สอศ.อยู่ระหว่างการคัดกรองสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ว่าแต่ละแห่งมีความเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาในด้านใดบ้าง โดยให้สถานศึกษากรอกแบบฟอร์มประเมินตนเองว่ามีความพร้อมในสาขาใด คาดว่าอย่างช้าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะรวบรวมข้อมูลสรุปเสนอให้ รมว.ศธ.พิจารณาได้
“เมื่อมีความชัดเจนว่าวิทยาลัยใดมีความพร้อมจะเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษาในด้านใดแล้ว จากนั้น สอศ.จะต้องเตรียมจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน ที่โฟกัสไปยังเป้าหมายการผลิตกำลังคนได้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่จัดสรรแบบหางยาวเหมือนที่ผ่าน ๆ มา อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิทยาลัยนั้นๆ จะก้าวไปเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในสาขาใดสาขาหนึ่งไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลิกผลิตสาขาวิชาอื่น ๆ ยังคงเปิดสอนสาขาวิชาอื่นๆ ได้เหมือนเดิม เพราะถือเป็นสาขาที่มีความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นๆ อยู่ และจะได้รับงบประมาณแบบสแตนดาร์ดเหมือนเดิม ในขณะที่งบฯส่วนใหญ่จะถูกทุ่มลงไปยังศูนย์ความเป็นเลิศมากกว่า”เลขาฯ กอศ. กล่าว