ปชป.สุดมั่นใจ ร่างรธน.ฉลุย พท.ผวาแท้ง!


เพิ่มเพื่อน    

แกนนำ ปชป.การันตีร่างแก้ไข รธน.ของพรรคเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไร้ปัญหา หลังโดนท้วงพบข้อไม่สมบูรณ์! "ชินวรณ์" กางข้อบังคับการประชุมสภาสั่งสอนพวกอวดรู้ ชี้ชัดๆ เปิดช่องแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการได้ โดยเสนอแปรญัตติในชั้น กมธ. เพื่อไทยผวาบัตร 2 ใบโดนสอยร่วง อ้าง ส.ว.กำลังสุมหัวเตรียมยื่นศาล รธน.ตีความ "ไพบูลย์-บัญญัติ" เลื่อนชิง ปธ.กมธ.ไปสัปดาห์หน้า 
    ความเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ที่ขั้นตอนต่อไปเป็นการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งเดิมจะประชุมกันวันอังคารที่ 29 มิ.ย.นี้ เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการ เช่น ประธานกรรมาธิการที่จะชิงกันระหว่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ กับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ล่าสุดมีรายงานว่ามีการเลื่อนการประชุมออกไปเป็นสัปดาห์หน้าคือวันที่ 6 ก.ค. จากปัญหาโควิดระบาดหนัก และล่าสุดมีข้อกำหนดห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีบุคคลจำนวนรวมกันเกินกว่า 20 คน ที่ศบค.ประกาศออกมาเมื่อช่วงค่ำวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทำให้คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเลื่อนการประชุมออกไปทั้งหมด 
    ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบบัตร 2 ใบ ตามร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการวิจารณ์ว่าอาจยังไม่สมบูรณ์ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคมีความสมบูรณ์เพียงพอ และมีหลักการเหตุผลที่เสนอต่อรัฐสภาอย่างชัดเจน ส่วนที่บางฝ่ายกังวลว่าบางมาตราในรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับมาตรา 83 และมาตรา 91 ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ ก็สามารถดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการและเจตนารมณ์ที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากพิจารณาผ่านรับหลักการจากที่ประชุมรัฐสภามาแล้ว ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาจนถึงขั้นดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปไม่ได้ เชื่อว่าคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายจะสามารถแก้ไขให้สอดคล้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาธิปัตย์เสนอได้
     รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่างของพรรค เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้ระบบบัตร 2 ใบ ที่ผ่านขั้นรับหลักการของรัฐสภามาแล้ว ประชาธิปัตย์ก็เสนอแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน บนหลักการสำคัญ 3 ประการคือ 1.เพื่อสนับสนุนการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านการเลือกตั้งเป็นอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง 2. ประชาชนสามารถแสดงออกถึงเจตจำนงของตนในการคัดกรองผู้แทนเข้าสู่อำนาจ ไม่ต้องถูกมัดมือชกว่าต้องเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคจากบัตรใบเดียว แต่สามารถเลือก ส.ส.เขตและพรรคที่แยกกันจากบัตร 2 ใบ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกตามเจตจำนงของตนได้มากขึ้นกว่าระบบบัตรใบเดียว และ  3.ทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพ ผ่านการเลือกตั้ง
    เช่นเดียวกับ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา โควตาพรรคประชาธิปัตย์ และยังเป็นแกนนำพรรคในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจนผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาวาระแรก    กล่าวถึงกรณีการท้วงติงว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ว่า มีการพูดคุยชัดเจนแล้วตั้งแต่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นร่างที่เราต้องการแก้ไขหลักการเรื่องระบบการเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ คือ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน บัญชีรายชื่อ  100 คน ส่วนกระบวนการเลือกตั้งจะอยู่ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนที่หลายคนมีความเป็นห่วง เพราะในร่าง เสนอแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่มีมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งประมาณ 8-9 มาตรา ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 ระบุไว้ชัดเจนว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติมมาตราต่างๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักการได้ เพราะฉะนั้นประเด็นใดที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการที่แก้ไข เราจะขอเสนอแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการเพิ่มเข้าไป เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด
    "วันนี้แทนที่จะตั้งคำถามว่าการเสนอผ่านเพียงร่างเดียว และมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ ผมคิดว่าเราควรมาตั้งคำถามใหม่ดีกว่า โดยอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมาร่วมตั้งคำถามใหม่ว่าเราจะแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการตามข้อบังคับข้อ 124 อย่างไร เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งผมได้สรุปไว้ชัดเจนว่าระบบการเลือกตั้งที่เสนอเป็นการเสนอเพียงหลักการ สามารถเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้" นายชินวรณ์กล่าว
    เมื่อถามถึงกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภาเตรียมยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ  นายชินวรณ์กล่าวว่า เป็นความคิดเห็นของแต่ละคน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คิดว่าเมื่อรัฐสภารับหลักการก็ควรเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะต้องพิจารณา ส่วนสมาชิกที่เห็นว่าประเด็นใดยังไม่สมบูรณ์ สามารถแปรญัตติเพิ่มเติมเข้ามา หรือคนที่เป็นกรรมาธิการก็สามารถแปรญัตติเพิ่มเติมเข้ามาให้ครอบคลุมสมบูรณ์ได้ ซึ่งข้อบังคับข้อ 124 ระบุไว้แล้วว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติมมาตราใดๆ ได้ที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักการนั้น จึงสามารถทำได้อยู่แล้ว
    นายชินวรณ์ ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เปิดเผยอีกว่า คณะ กมธ.ได้เลื่อนประชุมจาก 29 มิ.ย. ไปเป็นสัปดาห์หน้า 6 ก.ค. ส่วนเมื่อถามว่ามีรายชื่อนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ถูกเสนอให้เป็นประธาน กมธ. นายชินวรณ์กล่าวว่า เราให้เกียรติพรรคแกนนำรัฐบาล แต่หากที่ประชุมเห็นชอบด้วย ส่วนตัว ก็มองว่านายบัญญัติมีความเหมาะสม และไม่น่าจะขัดข้อง
    ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขมาตรา 83 และ 91 สาระสำคัญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่วันนี้ปัญหาคือมีสมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะล้มไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างมาตรา 86 ซึ่งที่สำคัญคือ (4) เมื่อได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละจังหวัด ตาม (2) และ (3) ถ้าจำนวนสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบ 350 คน จังหวัดใดมีเศษที่เหลือจากการคำนวณตาม (3) มากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมีส.ส.เพิ่มอีก 1 คน และให้สภาผู้แทนราษฎรตามวิธีการดังกล่าวแก่จังหวัดที่มีเศษจากการคำนวณ รองลงมาตามลำดับจนครบจำนวน 350 คน ซึ่งมีความย้อนแย้งกันว่า มาตรา 86 (4) กำหนดไว้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน 350 คน เรื่องดังกล่าวต้องช่วยกัน เพราะเป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาที่มีการรับร่างให้มีการแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนเสนอมา เชื่อว่าจะสามารถแก้ได้ในชั้น กมธ.ที่สามารถเขียนเพิ่มให้ยกเว้นข้อความในมาตรา 86 (4) เมื่อเป็นเจตนาร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา เราต้องทำเรื่องนี้ให้ผ่าน ให้ได้ 
    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นประเด็นเดียวกันนี้ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ความเงอะงะของสภาผู้เฒ่าที่หลับหูหลับตาลงมติตามโพย โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า สภาผู้เฒ่าพร้อมใจกันผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ของพรรคประชาธิปัตย์ ประเด็นแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ ด้วยมติ (เฉพาะ ส.ว. 250 คน) เห็นชอบ 210 ไม่เห็นชอบ 5 งดออกเสียง 11 และไม่มาประชุม 24 ร่างที่ 13 ของ ปชป. กลายเป็นร่างเดียวที่ใช้เป็นหลักในการแปรญัตติในวาระที่สอง ซึ่งมีความไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีแก้ไขเพียงสองมาตราคือ มาตรา 83 และ 91 แต่หลักการที่ต้องแก้ยังต้องมีในมาตราอื่นๆ อีกอย่างน้อย 5-6 มาตรา ตัวอย่างเช่น มาตรา 86 (1) และ (4) มีการระบุถึงจำนวน ส.ส.เขต เป็น 350 คน หรือ มาตรา 93, 94 ยังคงระบุถึงวิธีได้มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อในรูปแบบบัตรใบเดียว
         "การแปรญัตติในวาระที่สอง ต่อให้เทวดามาแปรญัตติจึงถึงทางตันว่า แปรอย่างไรก็ไม่ทำให้ร่างแก้ไขเกิดความสมบูรณ์ เพราะแก้แล้ว ยังขัดกับมาตราที่ไม่ได้แก้ ครั้นจะเอามาตราที่ไม่ได้แก้ เสนอเข้ามาพิจารณาวาระที่หนึ่งใหม่ ก็ต้องรอสมัยประชุมหน้า เพราะร่างญัตติที่ถูกลงมติไม่รับหลักการ จะเสนอใหม่ภายใต้หลักการเดียวกัน ในสมัยประชุมเดียวกันไม่ได้ รอฟังคำตอบ เมื่อผู้สื่อข่าวเอาไมค์จ่อปากวิษณุเทพแห่งกฎหมายในวันจันทร์ดู ว่าจะมีอภินิหารใดได้ในกรณีนี้" อดีต กกต.ระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"