แอฟริกาโผล่กรุง/ป่วยโคม่าพุ่ง


เพิ่มเพื่อน    

ยอดติดเชื้อรายใหม่ 3,995 ราย เสียชีวิต 42 ราย ต่างจังหวัดพบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ กทม.เฝ้าระวัง 111 แห่ง "ศบค." ห่วงป่วยโคม่าเพิ่มขึ้น "สธ." เจอผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เบตาครั้งแรกในกรุงเทพฯ เชื่อมโยงจากนราธิวาส ปรับเตียง รพ.สนามมณฑลทหารบกที่ 11 รับ ICU "ชายแดนใต้" โควิดระบาดหนักยอดรายวันพุ่ง 
    เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,995 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,915 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,563 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,352 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 45 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 35 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 244,447 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 2,253 ราย หายป่วยสะสม 198,928 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 43,607 ราย อาการหนัก 1,725 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 489 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 42 ราย เป็นชาย 27 ราย หญิง 15 ราย อยู่ใน กทม. 27 ราย, ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี จังหวัดละ 2 ราย, เพชรบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นนทบุรี ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา อุดรธานี และอุทัยธานี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,912 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก​ มีผู้ติดเชื้อสะสม 181,546,268 ราย เสียชีวิตสะสม 3,932,741 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กทม. 1,370 ราย, สมุทรสาคร 289 ราย, สมุทรปราการ 231 ราย, นนทบุรี 195 ราย, ปัตตานี 189 ราย,  ชลบุรี 155 ราย, สงขลา 133 ราย,  ปทุมธานี 126 ราย, ยะลา 94 ราย,  ฉะเชิงเทรา 93 ราย มีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ประกอบด้วย บริษัทอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อ.กระทุ่งแบน จ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วย 16 ราย, ตลาดพิชัย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พบผู้ป่วย 13 ราย,  ตลาดพงษ์ศักดิ์ อ.เมืองชลบุรี พบผู้ป่วย 11 ราย, บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วย 21 ราย, บริษัทผลิตชิ้นส่วนเชิงกล อ.เมืองลพบุรี พบผู้ป่วย 8 ราย, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ อ.เมืองสุพรรณบุรี พบผู้ป่วย 6 ราย, ศูนย์ฝึกตำรวจภูธร อ.เมืองสุราษฎร์ธานี พบผู้ป่วย 21 ราย ส่วนคลัสเตอร์ กทม.ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 111 แห่ง
    ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้หารือกับ ศปก.ศบค.สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้บางจังหวัดต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อจากระบบบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ป่วยอาการรุนแรงและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้น 
    "การแพร่กระจายของโรคพื้นที่โรงงาน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง ยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ผู้ติดเชื้อมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนจากงานเลี้ยง และที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น และตรวจพบโรคสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง พบผู้ติดเชื้อจากสถานประกอบการ โรงงาน และตลาดขนาดใหญ่" แหล่งข่าวระบุ
พบสายพันธุ์เบตาใน กทม.
    ด้านกระทรวงสาธารณสุขมีรายงานว่า เบื้องต้นได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ในพื้นที่ กทม. 1 คน โดยจากการสอบสวนโรคพบความเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อ จ.นราธิวาส ซึ่งรายละเอียดเตรียมจะแถลงข่าวในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ โดยจากการเฝ้าระวังและตรวจติดตามโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่พบเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)กรณีนี้ถือเป็นรายแรกที่พบในพื้นที่ กทม.
    วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11, พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และคณะตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการจัดตั้ง ICU สนาม โรงพยาบาลสนามมณฑลทหารบกที่  11 
    นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้มีความต้องการเตียงรักษาผู้ป่วยหนักมากขึ้น นายกฯในฐานะ ผอ.ศบค.จึงได้สั่งการให้ 3 หน่วยงาน คือ สธ., กทม. และกองทัพบกบูรณาการสรรพกำลังยกระดับโรงพยาบาลสนามแห่งเดิมเพื่อดูแลผู้ป่วยหนักให้ได้ จึงปรับโรงพยาบาลสนามมณฑลทหารบกที่ 11 ซึ่งมีความพร้อมเรื่องอาคารที่มิดชิด สะดวกสบาย มีความปลอดภัย จากเดิมที่รับดูแลผู้ป่วยสีเขียวจะยกระดับให้ดูแลผู้ป่วยหนักได้ 186 คน ภายใน 7 วัน คาดว่าจะเปิดได้ในวันที่ 2 ก.ค.นี้
    "สำหรับการยกระดับโรงพยาบาลสนามแห่งนี้เพื่อดูแลผู้ป่วยหนัก โดยเป็น 2 ชั้น 4 อาคาร มีระบบอากาศความดันลบตามมาตรฐาน ชั้นล่างเป็นเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักสีแดง 58 เตียง เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และชั้น 2 จะเป็นหอผู้ป่วยสีเหลืองเข้มและเหลืองอ่อน 128 เตียง เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นเป็นสีเขียว จะส่งต่อไป Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม" นายอนุทินกล่าว
    ขณะที่เพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์บทความลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 15 เรื่อง “วิกฤติกรกฎาคม เตียงเต็ม ICU เต็ม แถมวัคซีนมาน้อยกว่าที่คาด” ตอนหนึ่งระบุว่า ปกติเราก็จะตรวจสวอบเพื่อหาผู้ติดเชื้อ เราให้เขากักตัวที่บ้าน 1-2 วันเพื่อรอผล พอผลออกใครพบโควิดบวกก็รับเข้านอนโรงพยาบาล แล้วก็หาคนที่สัมผัสคนที่บวกมาสวอบเพิ่ม ทำเป็นวงจร เจอคนบวกก็พาเข้านอนกักตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ใครลบก็กักตัวเองที่บ้านต่อไป พอครบ 7 วันคนที่ผลลบก็มาสวอบซ้ำ ถ้าบวกก็รับไว้นอนที่โรงพยาบาล หาไปเรื่อย และเจอเพิ่มขึ้นทุกวัน ผลก็คือเตียงโรงพยาบาลเต็ม สุดๆแล้ว ลามไปเตียงของโรงพยาบาลสนามก็เริ่มเต็มไปด้วย ต้องเปิดเพิ่มหรือเริ่มจะให้นอนกักที่บ้านได้ เมื่อผู้ป่วยมากขึ้นมากย่อมมีคนที่อาการหนักมากขึ้นด้วย ผลก็คือ ICU ที่เต็มแล้วก็จะล้น อัตราการเสียชีวิตก็จะสูงขึ้นเป็นเท่าตัว บัดนี้ระบบสาธารณสุขกำลังอ่อนล้า ผู้ป่วยล้นจนกำลังจะเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะรับไหว นี่คือวิกฤติแห่งเดือนกรกฎาคม
    "เดือนกรกฎาคมนี้ ในเบื้องต้นแอสตร้าฯ จากสยามไบโอไซน์จะมาเพียง 4 ล้านโดส คือสัปดาห์ละ 1 ล้านโดส เพราะเขาต้องส่งออกไปประเทศอื่นๆ ตามสัญญาด้วย และซิโนแวคจะมาเท่าเดิมที่ 3 ล้านโดส รวมเป็น 7 ล้านโดสเท่านั้น  วัคซีนหายไปครึ่งหนึ่ง ประดุจโล่และเสื้อเกราะที่ขาดแคลนหนักในยามที่ข้าศึกรุมกระหน่ำ" ชมรมแพทย์ชนบทระบุ
    จ.เชียงใหม่ มีรายงานว่าหลังจากเชียงใหม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมาอีก 10 ราย ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อของคลัสเตอร์ครอบครัวที่ไปร่วมพิธีศพจังหวัดสตูลติดกลับมา และทำให้ครอบครัวมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการประชุมและเร่งดำเนินการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น พร้อมแจ้งพื้นที่เสี่ยงในไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ โดยยังไม่มีการประกาศล็อกดาวน์เพราะเห็นว่ายังอยู่ในการควบคุมได้ ทำให้ประชาชนยังต้องหวาดผวา 
ชายแดนใต้ติดเชื้อโควิดพุ่ง
    จ.ตาก เพจหมอแม่สอด (พญ.ที่ทำงานประจำโรงพยาบาลแม่สอด) อ.แม่สอด จ.ตาก ได้โพสต์ข้อความว่า ขณะนี้อำเภอแม่สอดของเราพบเคสโควิดจำนวนมหาศาลในค่ำคืนเดียว จากการตรวจ 840 ราย พบบวก 452 ราย ไม่แน่ชัด 25 ราย 
    จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ 47 ราย ในพื้นที่ 30 อำเภอ อยู่ในพื้นที่  อำเภอเมืองฯ 16 ราย, อ.ปากช่อง 12 ราย, อ. เสิงสาง 7 ราย, อ.โนนสูง 4 ราย, อ.สูงเนิน 2 ราย, อำเภอโชคชัย 2 ราย, อ.บัวใหญ่ 1 ราย, อ.ปักธงชัย 1 ราย, อ.คง 1 ราย และ อ.ด่านขุนทด 1 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ 1,161 ราย รักษาหาย 955 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 189 ราย และเสียชีวิตสะสมจาก 16 ราย เพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 17 ราย โดยช่วง 3 วันติดต่อกันเสียชีวิตรายวัน 3 วัน
    จ.ศรีสะเกษ นายนราวุฒิ กุนรา นายกอบต.บึงมะลู ลงนามในประกาศ อบต.บึงมะลู เรื่องปิดทำการสำนักงาน อบต.บึงมะลู และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตรับผิดชอบ อบต.บึงมะลู เนื่องจากมีบุคลากรภายใน อบต.บึงมะลู ได้รับผลตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด 1 ราย เช่นเดียวกับนายยิ่งยง นันทวณิชชากร ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย (ศกว.) อ.เมืองฯ จ.ศรีสะเกษ ระบุว่า จากกรณีมีเด็ก นร.ชั้น ม. 6/10 พบเชื้อโควิดโรงเรียน จึงได้สั่งปิด โรงเรียนตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-2 ก.ค.64 นี้ 
    จ.อุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 6 ราย เป็นชาย 3 คน อายุ 11 ขวบ อยู่ ต.ดอนจิก อ.พิบูลมังสาหาร กลับจาก กทม.แล้วป่วย, อายุ 31 ปี อยู่ ต.โนนโหนน อ.วารินชำราบ เป็นพนักงานขาย กลับจากกรุงเทพมหานครแล้วป่วย, อายุ 20 ปี อยู่ ต.ห้วยข่า อ.บุณฑริก เป็นแรงงานก่อสร้าง กลับจากกรุงเทพมหานครแล้วป่วย อีก 3 ราย เป็นหญิง อายุ 61 ปี อยู่ ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ สัมผัสเชื้อจากลูกที่มาจากนครปฐม, อายุ 45 ปี อยู่ ต.ดุมใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ เจ้าหน้าที่ อบต. สัมผัสผู้ป่วยรายที่ 408, อายุ 19 ปี อยู่ ต.ห้วยข่า อ.บุณฑริก เป็นแรงงานก่อสร้างกลับมาจากกรุงเทพมหานครแล้วป่วย 
    จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อโควิดรายวัน 141 ราย มาจากสัมผัสเสี่ยงจากหลายคลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์ใหญ่จากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เช่น จากผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อจากโรงเรียนสอนศาสนา จ.ปัตตานีและ จ.ยะลา ผู้ติดเชื้อจากบริษัท ห้างร้าน ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในชุมชน รวมยอดสะสม 4,857 ราย  
    จ.ปัตตานี สถานการณ์โควิดล่าสุดพบผู้ป่วย 155 คน ยอดสะสม 1,835 คน รักษากายแล้ว 721 คน และเสียชีวิตสะสม 6 คน ส่วนในอำเภอเมืองปัตตานีพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 660 คน มากกว่าอำเภออื่นๆ อย่างไรก็ดี ผู้ว่าราชจังหวัดยังไม่มีการออกคำสั่งล็อกดาวน์จังหวัดแต่อย่างใด แต่ใช้การปิดหมู่บ้านทันทีหากพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก 
    จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 135 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 1,461 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาล 916 ราย และรักษาหายแล้ว 535 ราย โดยสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อใกล้เต็มแล้ว ทั้งโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม จึงทำให้ นพ.มัซรัน ตะเละ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา ได้สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย ซึ่งในเบื้องต้นนั้นได้มีการเตรียมขอเช่าแพท่องเที่ยวของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มาจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว สำหรับกักตัวผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว เพื่อรอสังเกตอาการอีก 7 วัน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"