ตลอดช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรี่ ซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ จนนำมาซึ่งขยะประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Use) เช่น ช้อน ส้อม ถุงพลาสติก กล่องโฟม กล่องพัสดุ รวมไปถึงขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย สิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ้นเปลืองทรัพยากร และส่งผลต่อการจัดการให้เหมาะสม โดยขยะที่ไม่มีที่ไปเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา จนนักวิชาการได้มีการบัญญัติศัพท์ใหม่เกี่ยวกับขยะที่ไม่มีใครรับรีไซเคิลเหล่านี้ว่า “ขยะกำพร้า” ซึ่งกำลังเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคยุคใหม่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ปัญหา และยิ่งไปกว่านั้นอาจต้องเริ่มต้นมองหาวิธีการนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้มีขยะชิ้นไหนถูกทิ้งจนกลายเป็นขยะกำพร้าแบบที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้
เพื่อให้บรรดาภาคส่วนทางสังคม ผู้ประกอบการ และนักบริโภค ได้ตระหนักถึงวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ล่าสุด “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” หรือ NIA ได้หยิบเอาความท้าทายนี้มาเป็นโจทย์หลักในการสร้างทางออกของสังคม ด้วยวิธีการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานNIA
ทำไมใครๆ ก็ไม่รัก ไม่อยากได้ "ขยะกำพร้า" ซึ่งจริงๆแล้ว “ขยะกำพร้า” คือนิยามของขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ “จัดการขยะในขั้นตอนกลางทาง” หรือขั้นตอนการจัดเก็บ รวบรวม คัดแยก ปรับปรุงสภาพ ให้มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการจัดการ เช่นเดียวกับขยะพลาสติกทั่วไป เนื่องจากขยะกำพร้าประกอบด้วยวัสดุที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดรับซื้อ เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หรือนำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน หรือไม่สะอาด มีการปนเปื้อน ไม่เป็นที่ต้องการของทั้งภาคธุรกิจและภาคที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ เราอาจพบเห็นขยะเหล่านี้ได้ตามริมทาง ในที่รกร้าง หรือแม้กระทั่งริมทะเล เพราะขยะเหล่านี้ถูกมองว่าไม่มีคุณค่าจึงไม่มีใครรับไปจัดการ
ใครๆ ก็ไม่อยากรับอุปถัมภ์ขยะกำพร้า ทั้งที่ก่อนที่จะมาเป็นขยะกำพร้า สิ่งของเหล่านี้เคยเป็นของที่มีค่า แต่ใช้แค่เพียงพริบตาเดียว หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-Use) เช่น กล่องโฟมใส่อาหาร ช้อนส้อมพลาสติก ถุงแกง ซองขนม ซึ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้หมดประโยชน์ใช้งานไปแล้ว ก็กลายเป็นขยะประเภทที่ไร้ค่า ซาเล้งไม่รับซื้อ เนื่องจากขยะเหล่านี้ไม่มีราคา นำไปรีไซเคิลไม่ได้ และไม่รู้วิธีกำจัดการต่ออย่างไร ขณะเดียวกันก็กลายเป็นขยะที่ทำให้ผู้คนรู้สึกตะขิดตะขวงใจถึงอันตราย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนทั่วไป ซาเล้ง คนเก็บขยะ ตลอดจนโรงงานแปรรูปขยะต่างก็มีความกังวลต่อการสัมผัสขยะที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ทำให้ขยะเหล่านี้ไม่ถูกนำไปเข้ากระบวนการจัดการกลางทาง และปลายทาง สุดท้ายจึงกลายเป็นภาพชินตาที่เราได้เห็นปลายทางของขยะเหล่านี้ถูกกำจัดด้วยวิธีการเผา ฝังกลบ หรือโยนลงคลอง ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่นอกจากจะไม่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย
แล้วจะจัดการยังไงกับ“ขยะกำพร้า” ซึ่งก็คือขยะมูลฝอยชนิดหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เรามีวิธีจัดการกับมันอยู่แล้ว แต่ขยะกำพร้าเพิ่้มขึ้นมากในช่วงโควิดระบาด การคิดละขยะกำพร้า อาจจำเป็นต้องพิจารณา"รอบคอบยิ่งขึ้น" มองตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการปฏิเสธไม่รับช้อน ส้อม ถุงพลาสติก เมื่อสั่งซื้อสินค้า ก็เป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่าย และมีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการปัญหาขยะ
นอกจากนี้เพื่อให้ขยะเหล่านี้ถูกนำไปทิ้งในหลุมฝังกลบขยะให้น้อยที่สุด "การคัดแยก"เพื่อทำให้เกิดการนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์หรือแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ เป็นขั้นตอนที่สำคัญจะทำให้ขยะกำพร้า ไม่ไร้ค่า และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่ถ้าได้รับการคัดแยกอย่างถูกต้องก็สามารถไปสู่กระบวนการขนส่งขยะเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานได้เช่นกัน
ถึงแม้การคัดแยกขยะกำพร้าจะต้องลงเอยในเส้นทางของประเภทขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าขยะที่เข้าสู่เส้นทางนี้จะต้องถูกทิ้งไปและไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อีก เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถแปรสภาพสิ่งที่แทบจะไม่มีมูลค่าแล้ว ให้กลับมาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ นั่นคือ “เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า”
อย่างไรก็ตาม การนำขยะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการจัดการอย่างถูกต้องมาตั้งแต่ต้นทางและกลางทาง เพื่อให้แน่ใจว่าขยะที่ผ่านการคัดแยกเหล่านี้จะสามารถเข้าสู่การเผาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น “ขยะกำพร้า” ที่ผ่านกระบวนการจัดการอย่างถูกต้องก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง ที่ใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือเป็นพลังงานทดแทนได้
แม้การเผาขยะสามารถให้พลังงานได้ก็จริง แต่พลังงานไฟฟ้าจากขยะเป็นเพียง “ผลพลอยได้” จากการกำจัดขยะเท่านั้น และวิธีนี้นับว่าก่อให้เกิดมูลค่าด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าการนำไปรีไซเคิล ดังนั้นเพื่อให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ และประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรที่ดีกว่า จึงควรใส่ใจลดจำนวนขยะตั้งแต่ต้นทางหรือจัดการขยะให้ถูกวิธี เพราะสามารถปูทางไปสู่การจัดการขยะได้แบบยั่งยืน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy เป็นการนำขยะมาสร้างประโยชน์แปรสภาพให้เป็นพลังงาน เนื่องจากแม้ว่าจะมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือนำขยะกลับไปรีไซเคิลใช้ประโยชน์อย่างไร ก็จะยังคงเหลือขยะจำนวนมากที่กำจัดได้ไม่หมด จนทำให้ปริมาณขยะที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ภายใต้การดำเนินงานของ NIA และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะเป็นโครงการที่ถ่ายทอดองค์ความรู้การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy ภายใต้หลักสูตรบูรณาการองค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม (STEAM4INNOVATOR) ไปสู่นักเรียนระดับมัธยมศึกษากว่า 10,000 คน ใน 50 โรงเรียน รวมไปถึงครูและบุคลากร ผู้ปกครอง องค์กรหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเยาวชนและประชาชนที่สนใจ
“โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) เป็นโครงการน่าจับตามองแห่งปีที่จะได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วมกันประลองไอเดียที่สดใหม่ในการแก้ปัญหาเรื่องขยะล้นเมืองที่อยู่กับเรามานาน โดยการใช้นวัตกรรมอันชาญฉลาดเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหา ซึ่งโครงการนี้เป็นความหวังที่จะได้เห็นสังคมไทยเข้าใกล้การใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
แม้การเผาขยะสามารถให้พลังงานได้ก็จริง แต่พลังงานไฟฟ้าจากขยะเป็นเพียง “ผลพลอยได้” จากการกำจัดขยะเท่านั้น และวิธีนี้นับว่าก่อให้เกิดมูลค่าด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าการนำไปรีไซเคิล ดังนั้นเพื่อให้เกิดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ และประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรที่ดีกว่า จึงควรใส่ใจลดจำนวนขยะตั้งแต่ต้นทางหรือจัดการขยะให้ถูกวิธี เพราะสามารถปูทางไปสู่การจัดการขยะได้แบบยั่งยืน
ส่วนโครงการปั้นนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาขยะ ของNIA ดูความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/