“ประยุทธ์” โปรยยาหอมสนับสนุนทุกพรรค ชี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน “ประวิตร” เหยียบเบรก สุเทพสวมรองเท้าคู่เก่าเดินหาสมาชิก ลั่นยังไม่ปลดล็อกห้ามขยับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วคำสั่งหัวหน้า คสช.ไม่ขัด รธน. “เด็ก ปชป.” น้อมรับแต่โอดครวญ “บิ๊กตู่” รับกฎหมายลูก 2 ฉบับถึงมือแล้ว ย้ำเลือกตั้ง ก.พ. 62 แน่ไม่ต้องมาเซ้าซี้ เตือนใช้กฎหมายเด็ดขาดฟันโลกโซเชียลสร้างความวุ่นวาย
เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกในกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่า วันนี้มีพรรคตั้งใหม่หลายสิบพรรค ซึ่งก็เป็นไปตามกติกาหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งเรื่องคุณสมบัติ สมาชิกพรรค เงินสนับสนุนพรรค ถือเป็นสิ่งที่ควรเป็น ควรเกิดขึ้นกับการเมืองไทย ไม่ใช่ต้องการไปลดสมาชิกพรรคของเขา เพื่อสนับสนุนพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล นั่นเป็นคนละเรื่องกัน จริงๆ แล้วถ้าใครจะเป็นตัวแทนประชาชน จะต้องมีความชัดเจนเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมาชิกพรรค การใช้จ่ายอะไรต่างๆ เพื่อได้มีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล
“ไม่ว่าจะพรรคใคร พรรคของนายสุเทพหรืออะไรต่างๆ ถ้าตั้งใจจริง ก็ขอให้ประสบความสำเร็จ จะแสดงความยินดีด้วย พรรคใดก็ได้ ใครก็ได้ ที่นำพาประเทศชาติของเราให้เข้มแข็ง เป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล มีการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ นั่นคือสิ่งที่ผมสนับสนุนทุกพรรค ซึ่งเคยบอกไปแล้ว ไม่ใช่เพราะเขามาสนับสนุนผม รัฐบาล คสช. แล้วผมต้องสนับสนุนเขากลับ แต่ผมสนับสนุนทุกพรรค ถ้าสร้างสรรค์” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด ทุกคนลืมไปหรือไม่ ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม จะเป็นพรรคเก่าหรือใหม่ ทั้งพรรคที่สนับสนุนตนเอง หรือตนเองสนับสนุนพรรคนั้น ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ ประชาชนจะเป็นผู้กาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เข้าไปกับประชาชนทุกคนด้วยในการเลือกตั้ง เข้าคูหาก็ไม่ได้เข้ากับเขา จึงบังคับวิธีไม่ได้ ต่อให้คนชอบตนเองทั้งประเทศ แต่เวลาเลือกตั้งเขาไม่ได้เลือกตนเองใช่ไหม เขาเลือก ส.ส. แล้วตนเองเป็น ส.ส.ได้หรือไม่ ทำไมมามองกันแต่ตรงนี้จนวุ่นวายไปหมด
“ผมลงเลือกตั้งไม่ได้ แต่มันก็เป็นเรื่องของกลไกในรัฐธรรมนูญ และกลไกการเลือกตั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.และ ส.ว. ทั้งหมดเขียนไว้อยู่แล้วว่าใครจะเป็น อะไรตรงไหนบ้าง มันต้องอยู่ในกรอบนี้ ใครจะไปใครจะมา ประชาชนเป็นผู้ตัดสินทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ เผยอีกว่า วันนี้เรากำลังสร้างการรับรู้ว่าจะมีประชาธิปไตยสากล จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังคงตีกันไปมาเช่นนี้ แล้วใครจะเชื่อมั่นเชื่อถือเรา วันนี้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ การลงทุนเกิดขึ้นมากมายพอสมควร เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว เราจะทำลายกันไปทำไม วันนี้จะเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันเลือก เหลือเวลาอีกหลายเดือน ทุกคนก็ทำเหมือนเป็นยกสุดท้าย สื่อโซเชียลมีเดีย ก็ประโคมปี่กลองเชิดกันใหญ่ ต้องน็อกกันให้ได้ แล้วอย่างนี้ประเทศชาติจะไปตรงไหนกัน ขอถามหน่อย ทำไมเราไม่ทำให้บ้านเมืองมีความสุขสงบเรียบร้อย ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ไม่ละเมิดผู้อื่น หรือให้ร้ายกล่าวว่าโดยไม่มีข้อเท็จจริง สิ่งเหล่านี้ต้องเตือนประชาชน
“อย่ากล่าวให้ร้ายกันต่อไปอีกเลย วันข้างหน้ามีการเลือกตั้งจะเกิดเหตุการณ์ยิ่งกว่านี้หรือไม่ ถ้าตีกันตั้งแต่วันนี้ มันไม่ใช่ ทุกคนต้องการอย่างนั้นหรือไม่ ขอถามสื่อโซเชียลฯ ต้องการแบบนี้หรือไม่ ถ้าต้องการกันแบบนี้ ท่านก็ทำกันต่อไป ผมก็ทำเท่าที่ผมทำได้ บางเรื่องกฎหมายก็ใช้ไม่ได้ทุกตัว เพราะจะเดือดร้อนกับคนอื่นที่เกี่ยวข้องกันไปหมด อย่าลืมว่ามีคนสนใจการเมืองส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่ได้สนใจ หากแต่ทำมาหากินเลี้ยงชีพกันต่อไป ไม่สงสารเขาหรือ ถ้าเกิดความวุ่นวายแล้วเขาหากินกันไม่ได้ จะทำอย่างไร ไม่มองอนาคตกันบ้างหรือ จะตีกันตั้งแต่วันนี้กันหรืออย่างไร เอาประเทศชาติมาก่อน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ ยังย้ำอีกครั้งในเรื่องนี้ว่า ถ้ายังมีปัญหาส่วนนั้นส่วนนี้ ยังขัดแย้งแบบนี้ หรือด่ากันไปว่ากันมา บิดเบือนกันอยู่แบบนี้ ซึ่งนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะเลือกตั้งกันไหวหรือไม่ เป็นเรื่องของสื่อโซเชียลฯ เลือกได้ไม่ได้ไม่ใช่เรื่องของตนเอง เพราะเพียงแต่ดูแลความปลอดภัย ชีวิตทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก แต่ใครที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัย ไปสู่การเลือกตั้งไม่ได้ ก็ต้องถูกดำเนินการลงโทษโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็พูดกันเลอะเทอะไปเรื่อย จำเป็นต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้ได้
“ป้อม”เบรกลุงกำนัน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงประเด็นนายสุเทพประกาศจะใช้รองเท้าคู่เดิมเดินสายไปหามวลชนว่า ถ้าเดินคนเดียวก็เดินได้ แต่ถ้าจะเดินไปเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองยังทำไม่ได้ และยังไม่เห็นคำขออนุญาตดำเนินการทางการเมืองจากพรรค รปช. ซึ่งนายสุเทพจะทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนพรรคอื่นไม่ได้ หากนายสุเทพอยากไปคนเดียวก็ไปได้ แต่อย่าไปในเชิงการเมือง เพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อกให้ทำกิจกรรม
เมื่อถามว่า หากนายสุเทพเดินเท้าไปคนเดียวแล้วมีผู้ที่ชื่นชอบมาให้การสนับสนุนทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า ทำไม่ได้ หากต้องการเดินเข้าหามวลชนจะทำได้ก็ต่อเมื่อปลดล็อกทางการเมือง ส่วนจะอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้เมื่อใดนั้น ขอให้ได้คุยกับพรรคการเมืองในเดือน มิ.ย.ก่อน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะพูดคุยวันไหน แต่น่าจะปลายเดือน มิ.ย.
พล.อ.ประวิตรยังปฏิเสธความรู้จักกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งระบุว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย ว่าพรรคนี้อยู่ที่ไหน ของใคร ไม่รู้จัก เป็นรัฐบาล ยังไม่รู้เรื่องเลย ถ้าเขาจะสนับสนุนก็ว่ากันไป
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงพรรค รปช.ว่าถือเป็นเรื่องดี ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ส่วนที่นายสุเทพระบุว่าจะเดินเท้าไปทั่วประเทศนั้น ตอนนี้ยังไม่เดิน คงเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้วในตอนนั้น
พล.อ.วัลลภยังกล่าวถึงการใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนโจมตีรัฐบาลจำนวนมากในระยะนี้ว่า สมช.ยังติดตามต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มที่ทำดังกล่าวมีความเชื่อมโยงทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งช่วงใกล้เลือกตั้งจะมีการกระทำในลักษณะนี้มากขึ้น
ด้าน พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.กองทัพภาค 4) กล่าวเช่นกันว่า เป็นเรื่องดี เพราะถือว่าทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการ ตามกฎและระเบียบ ใครจะตั้งพรรคอะไรก็ตั้งไป แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถือว่าให้มาเล่นการเมืองข้างบน ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ดูแลได้ เพราะทหารจะเป็นกลาง ดูแลทุกพรรคการเมือง
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ไม่รู้สึกอะไร เพราะคำลวงย่อมไร้ผลสำหรับคนไม่เชื่อ แต่คนที่เคยเชื่อจำนวนหนึ่งคงเจ็บปวดบ้าง เพราะรู้สึกเหมือนลุงกำนันที่เคยเดินเป่านกหวีดพูดกลับไปกลับมา แล้วจะใช้น้ำตาล้างสมองคน คงสำเร็จไม่ทุกราย
เต้นได้ทียกหางตัวเอง
นายณัฐวุฒิยังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้อยากให้สังคมไทยสรุปบทเรียนว่า ในความขัดแย้งกว่า 10 ปี ถึงที่สุดทุกฝ่ายก็ต้องมาพบกันในสนามเลือกตั้ง กลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรคการเมืองใหม่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ตั้งพรรคมาตุภูมิ กลุ่ม กปปส.ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย รัฐบาล คสช.ถูกพูดถึงว่ากำลังตั้งพรรคพลังประชารัฐ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบอยคอตมา 2 ครั้งก็ยังร้องโหยหวนหาการเลือกตั้ง ถ้าวิธีการนอกระบบไปต่อได้จริงไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะถอยกลับมา ส่วนพรรคเพื่อไทยและ นปช.ไม่เคยปฏิเสธสิ่งนี้ ข้อเรียกร้องทุกครั้งในการต่อสู้คือเลือกตั้ง แม้กติกาและกลไกอำนาจจ้องเล่นงานก็พร้อมลงสนาม
"คนบางกลุ่มพอเห็นว่าแพ้แน่ ก็อ้างโน่นอ้างนี่แล้วล้มกระดาน พอกติกาได้เปรียบและฝ่ายตรงข้ามบอบช้ำก็เปิดตัวลงแข่ง ผมคิดว่าประชาชนคนธรรมดาใจถึงกว่ามาก แพ้ชนะไม่รู้ แต่ขอสู้ในระบบที่ทุกคนมี 1 เสียงเท่าเทียมกัน เพราะการรักษาหลักการที่ถูกต้องคือชัยชนะที่แท้จริงของประเทศ ถ้าไม่ตกผลึกร่วมกันในเรื่องนี้ ก็ไม่เห็นช่องทางที่จะออกจากวิกฤติได้" แกนนำ นปช.กล่าว
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อปรากฏการณ์กำนันสุเทพครั้งที่ 2 บอกอะไรการเมืองไทย ว่าคำประกาศของนายสุเทพเป็นคำตอบในตัวว่าการปฏิรูปประเทศยังไม่เสร็จ จึงเป็นภาระหน้าที่ต้องผลักดันให้เสร็จตามเจตจำนงเมื่อครั้งกำเนิดมวลมหาประชาชน แต่น่าเสียดายที่มีการมอง ปรากฏการณ์กำนันสุเทพครั้งที่ 2 มีการเลือกจับบางประเด็น และตีความว่ากำนันสุเทพตระบัดสัตย์หรือไม่ ทั้งที่จริงถ้าฟังอย่างไม่มีอคติ ก็ยังยืนอยู่ในจุดยืนเดิมที่ประกาศไว้ คือไม่เข้าสู่การเมืองไม่รับตำแหน่งใดๆ ในทางการเมือง ซึ่งไม่ต้องไปตีความให้เสียเวลา ถ้าถึงวันที่กำนันสุเทพก้าวข้ามเขตแดนนี้ คำว่าตระบัดสัตย์ถึงจะฟังขึ้น
“ผมไม่แปลกใจ และคาดการณ์ไม่ผิดที่จะมีถ้อยคำเหน็บแนม ถากถางกระทั่งเย้ยหยันสารพัดพุ่งไปที่กำนันสุเทพ โดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนนักการเมืองและพรรคการเมืองบางพรรค แต่ที่แปลกใจค่อนข้างมาก ไม่เห็นกำนันสุเทพตอบโต้ เอาคืนในแบบที่เราเคยเห็นหรือแบบที่นักการเมืองถนัดและทำกันอย่างเมามันในขณะนี้ แม้แต่พรรค รปช.ก็เช่นกัน ไม่เห็นผู้ก่อตั้งพรรคคนใดออกมาชี้หน้า ท้าทายปั้นสำนวน สร้างโวหารสาดใส่ พรรคการเมืองอื่นหรือผู้วิจารณ์แม้แต่ครั้งเดียว” นายสุริยะใสระบุ
นายสุริยะใสยังระบุว่า วันเปิดตัวผู้ก่อตั้งและผู้สนับสนุนพรรคของ รปช. ได้เห็นสิ่งใหม่ที่เป็นนวัตกรรมทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองทั่วไป ที่เริ่มต้นก็ประกาศชื่อหัวหน้า ชื่อเลขาธิการ หรือเจ้าของพรรคตัวจริงกันเลย แต่ รปช.สร้างข้อตกลงใหม่ๆ ให้สมาชิกเป็นผู้ชี้ขาดโดยตรง ทั้งตำแหน่งผู้บริหารพรรค นโยบายพรรค การสรรหาผู้สมัครฯ หรือแม้แต่การสร้างโรงเรียนการเมืองของพรรค เพื่อหลอมรวมอุดมการณ์ของพรรค และวินัยหรือจริยธรรมในพรรค
“กำนันสุเทพและขบวน รปช.จะประสบความสำเร็จ ในการเลือกตั้งหรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เท่ากับการสร้างพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน เป็นพื้นที่เป็นช่องทางให้ประชาชนใกล้ชิดและเข้าถึงอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง นี่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่สร้างความหวัง การเมืองแบบนี้ชนะตั้งแต่ต้นไม่มีคำว่าแพ้ เพราะไม่ได้ไปแข่งกับใคร แต่ช่วยกันทำให้การเมืองดีขึ้น อย่างที่ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พูดไว้นั่นเอง” นายสุริยะใสกล่าว
คำสั่งหัวหน้า คสช.ไม่ขัด รธน.
วันเดียวกัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 140 และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 หรือไม่
โดยประเด็นที่หนึ่งในมาตรา 140 นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 และมาตรา 45 ส่วนประเด็นที่สอง มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสองนั้น ก็มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะทั้งสองประเด็นดังกล่าวไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า มีความเห็นสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำสั่งที่ 53/2560 ไม่ใช่ประเด็นสร้างผลกระทบใดกับพรรคการเมือง ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการรีเซตสมาชิกพรรค และอาจมีผลกระทบกับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารีโหวตนั้น เป็นคนละประเด็น
นายอุดมกล่าวต่อว่า เรื่องไพรมารีโหวต สำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะมีสมาชิกพรรคที่ยืนยันเป็นจำนวนที่มากพอ แต่หากจะมีปัญหา คือ พรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะก่อนมีกฎหมายใหม่ พรรคมีสมาชิกหลักร้อย แต่เมื่อต้องยืนยันสมาชิกพรรคตามกฎหมายใหม่ อาจไม่มีผู้ใดยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองและไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ตามกฎหมายใหม่
“ประเด็นที่นักการเมืองยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นเพียงการสร้างประเด็นทางการเมือง ที่หลายฝ่ายมองว่า คสช.ไม่ควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะกระทบรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น อาจมองเช่นนั้นได้ แต่ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาล คสช.เป็นรอยต่อก่อนมีรัฐบาลใหม่ ดังนั้นการตรากฎหมายบางครั้งอาจมีเงื่อนไขที่ใช้เวลา ซึ่งมาตรา 44 เป็นเครื่องมือตัดสินใจ และเป็นกลไกทำให้การออกกฎหมายฉับไวมากขึ้น” นายอุดมกล่าว
ปชป.น้อมรับคำตัดสิน
นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า พรรคได้ทำหน้าที่ในการปกป้องสมาชิกพรรคและสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่สุดความสามารถแล้ว เพราะเห็นว่าคำสั่งที่ 53/2560 ของ คสช.ไม่เป็นธรรมต่อสมาชิก ปชป. เพื่อขอพึ่งบารมีศาลในการปกป้องสิทธิของประชาชน แต่วันนี้ทุกอย่างยุติลงแล้วด้วยคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งพรรคก็น้อมรับ สมาชิกพรรคที่สิ้นสมาชิกภาพตามคำสั่งของ คสช. แต่เราเชื่อว่าจะไม่สิ้นสุดความผูกพันระหว่างพี่น้องประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสินออกมาเช่นนี้แล้ว เราก็เคารพ และต้องว่าตามที่ศาลสั่ง แม้ว่าเดิมพรรคมีสมาชิกพรรค 2.4 ล้านคน ถ้าไม่มีคำสั่งที่ 53/2560 ก็ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่หรือยังมีสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคต่อได้อีก 4 ปี แต่เมื่อมีคำสั่งนี้ออกมา และไม่สามารถยืนยันตนได้ภายในวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกภาพก็สิ้นสุดลง ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะคืนความเป็นสมาชิกพรรคได้อีกเมื่อใด จึงเป็นภาระอย่างยิ่งต่อสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อศาลชี้ว่าไม่เป็นภาระทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นภาระ เราก็ยินดีน้อมรับ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงความคืบหน้าการประกาศใช้กฎหมายลูก 2 ฉบับ หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งเรื่องมาแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่าเสนอมาแล้วเมื่อไม่ขัดแย้ง ก็ต้องดำเนินการเลือกตั้งทันที โดยกฎหมายได้เขียนไว้อยู่แล้ว คำสั่ง ม.44 ก็มีอยู่ เลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.2562 ไม่ต้องมาถามตรงนี้ มันเป็นตามขั้นตอนอยู่ เลือกตั้งอย่างไรก็ ก.พ. พูดยืนยันแบบนี้
สำหรับความคืบหน้ากฎหมายการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ส่วนจะเลือกตั้งได้หรือไม่ได้นั้น ถ้าเรียบร้อยทุกอย่างก็เลือกตั้งได้
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวประเด็นนี้ว่า ได้พยายามเร่งแก้ไขกฎหมายทั้ง 6 ฉบับให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งหากกฎหมายเสร็จเร็ว มีช่องให้เลือกตั้งท้องถิ่น ก็น่าจะทำได้ เพราะไทม์ไลน์ของเลือกตั้งใหญ่นั้นมีแน่นอนอยู่แล้ว ใน 45 วันก็พร้อมทำได้เลย โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเป็นก่อนสิ้นปี เพราะโรดแมปกำหนดว่าการเลือกตั้งใหญ่ต้องมีขึ้นในต้นปีหน้า
“ที่เกรงว่าหากเลือกตั้งท้องถิ่นและการเลือกตั้งใหญ่ในเวลาใกล้กัน แล้วจะเกิดความวุ่นวาย นั่นก็เป็นแนวความคิด ดังนั้นต้องมีระยะที่พอดี แต่ก่อนอื่นต้องดูความพร้อมของกฎหมาย ถ้าเสร็จเร็ว และมีช่วงว่างมาก แล้วห่างกันซักหน่อยหนึ่งก็น่าจะดี ไม่วุ่นวาย ประชาชนจะได้ไม่สับสน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่ามีความพร้อม และหากเลือกได้บางส่วนอย่างที่ว่าไว้ ถ้าทำได้ก็ทำ” พล.อ.อนุพงษ์ระบุ
ไม่ให้ราคาอนาคตใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีพรรคอนาคตใหม่ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ว่า ขอถามว่าเขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ใครจะไปแตะต้องเขาได้ และไม่ได้ให้นโยบายว่าจะต้องไปติดตาม แต่ถ้าเขามีปัญหา ก็ต้องมีคนไปเตือน หรือแจ้งว่าไม่ควรทำ เพราะวันข้างหน้าก็ผิดกฎหมายได้ ถ้าเขาไม่เตือนจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาก็ออกมาด่าไปเรื่อย โขมงโฉงเฉง บางคนก็บอกว่ารัฐบาลไม่เอาจริง ทำไมปล่อยให้คนพวกนี้ด่าอยู่ได้
“นี่แหละรัฐบาล ไม่ได้พยายามใช้กฎหมายเต็มที่ แต่ก็อาจจำเป็นถ้าสถานการณ์รุนแรงมากกว่านี้ คนบางคนไม่ควรมีสิทธิ์มาพูดในสื่อโซเชียลฯ อีกแล้ว ผมถามว่าจะไปขยายความให้เขาทำไม ในเมื่อความผิดชัดเจนอยู่หลายคน อย่ามองแค่ประเด็นความเป็นเด็ก เป็นนักศึกษา แล้วผิดมากี่ครั้ง สังคมเขาเบื่อหน่ายหรือไม่ ถ้าสังคมเห็นชอบดีงาม จะทำอะไรก็ทำ ผมไม่ยุ่ง แต่บ้านเมืองเกิดความเสียหาย ขอฝากไว้ด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมอ่านแถลงการณ์หน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ว่า ต้องถามว่ามากันกี่คน ถ้ามาจำนวนมากก็ไม่สามารถทำได้ และถ้าเป็นเรื่องของการเมืองก็ไม่ควรมาเกิน 5 คน ถ้ามาไม่เกิน 5 คนฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ต้องไปจับตาอะไร
เมื่อถามว่า หากแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมาอ่านแถลงการณ์เพียง 3 คน แต่มีประชาชนมาดู มาให้กำลังใจ ทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ได้ เพราะถือว่ามีส่วนร่วมด้วย ส่วนตำรวจจะจับกุมทันทีเลยหรือไม่นั้น ไม่รู้
พล.อ.วัลลภกล่าวเรื่องนี้ว่า ต้องดูกรอบของกฎหมาย ถ้าเป็นการทำโดยบริสุทธิ์สุจริตก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.หรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลตามปกติ เช่นที่เคยดูแลการชุมนุมในครั้งก่อนๆ
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ แต่เนื่องจากที่ประชุมมีข้อสังเกตและความเห็นหลายประการ ที่ประชุมจึงมอบหมาย สศช.ให้รวบรวมความเห็นของ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ครบภายในเวลา 18.00 น. จากนั้นให้ปรับแก้ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับมาเข้าที่ประชุม ครม.อีก
“ครม.ใช้เวลาพิจารณายุทธศาสตร์ชาตินานถึง 40 นาที โดยนายกฯ ซักอย่างละเอียด เช่น ดัชนีชี้วัดการทำงานของรัฐบาลในวันข้างหน้า ต้องต่างไปจากอดีตที่เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว จะเสนอนโยบายขายฝันให้ประชาชน ซึ่งต่อไปจะทำไม่ได้ พรรคการเมืองต้องนำแผนแม่บท แผนของหน่วยงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมาพิจารณา ทุกรัฐบาลต้องดำเนินการตามแผนแม่บทนั้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้แปลร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นภาษาอังกฤษด้วย” พล.ท.สรรเสริญกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |