ช้าไปแล้ว! คนงานพากันเผ่นออกจากแคมป์ หลัง "บิ๊กตู่" ประกาศล็อกดาวน์ 1 เดือน
แคมป์อิตาเลียนไทยหลักสี่อดีตคลัสเตอร์ใหญ่หิ้วกระเป๋ากลับบ้าน ผงะ! ทหารคุมแคมป์ติดโควิดแล้ว 8 นาย และส่วนใหญ่ยังไม่ฉีดวัคซีน "จับกัง 1" เผยเยียวยา 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง จ่ายทุก 5 วัน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. และได้รับฟังรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ซึ่งที่ประชุมมีความห่วงใยกลุ่มคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นในแคมป์ที่พักคนงานต่างๆ ที่มีการเดินทางจากแคมป์ที่พักอาศัยไปสู่สถานที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา จึงได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานเหล่านี้เป็นการชั่วคราว เพื่อระงับการแพร่ระบาด โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินค่าจ้างชดเชย ให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ ในช่วงที่มีการประกาศปิด 1 เดือน
แต่ทั้งนี้คนงานจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อที่พิสูจน์ทราบได้ โดยกระทรวงแรงงานจะเข้าตรวจสอบเช็กชื่อคนงานทุกวันเพื่อทำบัญชีค่าจ้างร่วมกับตัวแทนนายจ้าง หากลูกจ้างคนใดไม่อยู่ในแคมป์ ก็จะพิจารณาอีกทีเป็นรายๆ ไป เพราะการจ่ายค่าจ้างนั้นอยู่ที่นายจ้างต้องรับรองด้วย
นายอนุชากล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อลงไปในพื้นที่และพบกับผู้ประกอบการ ทำความเข้าใจและชี้แจงมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐบาล พร้อมกับขอความร่วมมือในการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งหมดในเวลานี้ โดยในช่วงที่ปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการเยียวยาให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยากรณีว่างงานเพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. ซึ่งในเบื้องต้น กระทรวงแรงงานมีแผนที่จะทำรายการจ่ายเงินสดให้คนงานที่แคมป์ทุกๆ 5 วัน ตลอดช่วง 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดระยะเวลาที่มีการปิดแคมป์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีระบบตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยานั้นจะต้องอยู่ในแคมป์จริงๆ
โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะลงไปตรวจโควิด-19 เชิงรุกทุกแคมป์ที่ปิด และหากแคมป์ใดถือว่าปลอดภัยแล้ว และได้รับวัคซีนในส่วน ม.33 แล้ว รวมถึงคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย จะดำเนินการปลดล็อกให้แคมป์นั้นกลับมาเปิดได้โดยเร็วที่สุด และอาจไม่ต้องรอให้ครบ 1 เดือน ขณะที่โครงการใดที่มีสัญญากับรัฐหรือเอกชน จะมีการขยายระยะเวลาสัญญาให้ในช่วงที่แรงงานต้องหยุดการทำงานทั้งหมด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า แคมป์คนงานได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการ ส่วนแรงงานต่างด้าวหากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ก็จะนำเข้าสู่ระบบ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลจำนวนแคมป์คนงานเบื้องต้น พบว่าปัจจุบันในกรุงเทพมหานคร 575 แห่ง ลูกจ้าง 83,375 คน, จังหวัดนนทบุรี 140 แห่ง, ปทุมธานี 149 แห่ง และสมุทรปราการ 32 แห่ง
ในส่วนจังหวัดที่เหลือและจังหวัดชายแดนภาคใต้ รมว.แรงงานได้สั่งการให้หน่วยงานสังกัดในพื้นที่บูรณาการทำงานและประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในแคมป์คนงานตามมาตรการ ศบค.
ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ได้เรียกประชุมด่วน หน่วยงาน กอ.รมน. นขต.กห. เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ VTC ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อสนับสนุนรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 จากสถานการณ์ภายในประเทศและภูมิภาคที่ยังคงมีแนวโน้มระบาดต่อไปภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรอบบ้านยังคงรุนแรงและน่ากังวล ในมาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชา พบการแพร่ระบาดและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในเมียนมามีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้หลบหนีข้ามแดนมายังไทยมากขึ้น สถิติการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองระหว่าง 19-23 มิ.ย.64 จับกุมได้จำนวน 830 คน (เมียนมา 202 คน, กัมพูชา 210 คน, ลาว 85 คน, คนไทย 155 คน และผู้นำพา 7 คน) ขณะที่ภายในประเทศยังคงพบการแพร่ระบาดต่อเนื่อง โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เป็นระยะในพื้นที่เสี่ยง เช่น แคมป์คนงาน ตลาดสดและชุมชนแออัด ในขณะที่ระบบสาธารณสุข เริ่มมีข้อจำกัดในการรับมือกับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยสีแดง
มีรายงานว่า มีการแบ่งพื้นที่ จัดส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปควบคุมแคมป์คนงานทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ใช้กำลังของสารวัตรทหาร (สห.) โดยแคมป์แรงงานอยู่ในพื้นที่เหล่าทัพใด เหล่าทัพนั้นความรับผิดชอบ
กองทัพไทย กองพันสารวัตรทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ดูแลเขตหลักสี่ กองทัพบก ใช้กำลังมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพเหนือ ใน 3 เขต ประกอบด้วย จตุจักร, บางซื่อ,ลาดพร้าว
กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) รับผิดชอบกรุงเทพกลาง 11เขต, กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1รอ.) รับผิดชอบกรุงเทพใต้ 13 เขต
กองทัพเรือ กองร้อยรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือกรุงเทพฯ (กอง รปภ.ฐท.กท.) ดูแลเขตบางกอกน้อย, กรมสารวัตรทหาร กองทัพเรือ ดูแลเขต บางกอกใหญ่
กองทัพอากาศ ใช้กำลังกองพันทหารสารวัตรทหารอากาศ (สห.ทอ.) ดูแล ดอนเมือง
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในแต่ละเหล่าทัพได้เน้นย้ำให้กำลังพลที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ เข้มงวดมาตรการป้องกันตัวเอง ตามแผนพิทักษ์กำลังพล ป้องกันไม่ให้กำลังพลเหล่านี้กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ เนื่องจากกำลังพลที่ออกไปปฏิบัติงานยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
มีรายงานข่าวว่า หลังจากนโยบาย ศบค.ให้ส่งตำรวจและสารวัตรทหาร (สห.) ไปดูแลแคมป์คนงานแพร่ระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า พบ สห.ติดโควิดแล้วจำนวน 8 นาย โดยเป็นสารวัตรทหาร (สห.) ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลควบคุมแคมป์คนงานที่พบการติดเชื้อ จึงมีมาตรการป้องกันตัวเองแค่เพียงสวมแมสก์ เฟซชิลด์ ใช้สเปรย์แอลกอฮอล์เท่านั้น
ทั้งนี้ มีเพียงกำลังพลส่วนน้อยเท่านั้น ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจากการลงทะเบียนด้วยตนเอง ในขณะที่ทางหน่วยต้นสังกัดยังไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนมาให้กำลังพลที่ทำหน้าที่เสี่ยง และขณะนี้หน่วยที่มี สห.ติดเชื้ออยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีกำลังพลที่จะติดเชื้อเพิ่มเติมหรือไม่อีกหลายร้อยนาย
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้นัดประชุมผู้ประกอบการแคมป์แรงงานในพื้นที่ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับคนงาน โดยกองบัญชาการกองทัพไทยได้ส่งกำลังร่วมสนับสนุนภารกิจ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ร่วมจำกัดพื้นที่ (ZEAL) แต่ไม่ได้กักบริเวณ ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือหากภายใน 1-2 สัปดาห์หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะรีบอนุญาตเปิดทำการในทันที ซึ่งระยะนี้ให้ผู้ประกอบการดูแลคนงานในเบื้องต้นไปก่อน จากนั้นกระทรวงแรงงานจะเข้ามาตามดูแลตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันเดียวกันนี้ ปรากฏภาพคนงานบางส่วนภายในแคมป์คนงานหลักสี่ของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ซึ่งเคยเป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาด ต่างถือกระเป๋าเสื้อผ้า ของใช้จำเป็นออกจากแคมป์ หลังจากที่ ศบค.เตรียมออกมาตรการปิดแคมป์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์แถลงไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลในบริเวณดังกล่าวก็ไม่ได้มีการห้ามปรามแต่อย่างใด และยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงลงพื้นที่ ซึ่งคาดว่าอยู่ระหว่างการเตรียมการและลงพื้นที่ในช่วงเย็น
เช่นเดียวกับแคมป์คนงานย่านคลองเตย ตลอดทั้งวันไม่ปรากฏมีเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนภายในแคมป์คนงานพบว่ามีความเงียบผิดปกติ แทบไม่มีความเคลื่อนไหวของคนงานเลย มีรายงานว่าคนงานบางส่วนตกใจกับคำสั่งปิดแคมป์ จึงเดินทางออกไปตั้งแต่คืนวันศุกร์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |