วิกฤติโควิด-19 กับโอกาสของบริษัทยา


เพิ่มเพื่อน    

นิตยสาร Nature ตีพิมพ์บทความ “5 เหตุผลที่ภูมิคุ้นกันหมู่จากโควิดอาจเป็นไปไม่ได้” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้ง 5 เหตุผลประกอบด้วย 1) วัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 2) การกระจายวัคซีนไม่ทั่วถึงและรวดเร็วเพียงพอ 3) ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เปลี่ยนกฎการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 4) ภูมิคุ้มกันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และ 5) คนได้รับวัคซีนเปลี่ยนพฤติกรรมกลับไปกระทำสิ่งเดิมๆ ทำให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไม่น่าจะเกิดได้ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับชาติ และไม่นานมานี้ “ดร.อันโทนี เฟาซี” หัวหน้าที่ปรึกษาทางด้านการแพทย์ของรัฐบาลสหรัฐก็ขอให้ลืมเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ไปก่อน
    กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ British Medical Journal ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ชื่อ Future of covid-19 vaccine pricing : lessons from influenza – “อนาคตของราคาวัคซีนโควิด : บทเรียนจากไข้หวัดใหญ่” มีเนื้อหาที่ขอยกมาบางส่วนดังนี้
    มีการพบหลักฐานว่าโคโรนาไวรัสตัวนี้จะมีวิวัฒนาการจนระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันซึ่งเราได้รับจากวัคซีนจะถูกจำกัด นำไปสู่การฉีดโดสใหม่เพื่อเพิ่มภูมิคุ้นกัน หรือต้องฉีดวัคซีนที่พัฒนาใหม่เพื่อตามวิวัฒนาการของไวรัสให้ทัน
    การซื้อขายวัคซีนระหว่างบริษัทผู้ผลิตและรัฐบาลประเทศต่างๆ อยู่ในข้อตกลงด้านราคาที่เป็นมิตร เป็นข้อตกลงที่กำหนดไว้สำหรับใช้ในช่วง “การระบาดทั่ว” หรือ Pandemic ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าราคาของวัคซีนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อ “การระบาดทั่ว” คลายสถานะกลายเป็นการระบาดประจำปีหรือการระบาดประจำถิ่น (Endemic)
    ภาพคู่ขนานระหว่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด-19 ที่พบเห็นได้ทั้งในแง่ของประวัติการพัฒนา, การตลาด และการบริหารจัดการต่างๆ อาจบอกพฤติกรรมของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และชี้ให้เห็นแนวทางนโยบายของพวกเขาในตลาดสหรัฐอเมริกาและประเทศร่ำรวยอื่นๆ ได้
    หากรูปแบบที่เกิดกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปรากฏซ้ำ ราคาวัคซีนโควิด-19 ที่สูงขึ้นจากการกำหนดของบริษัทยาในอนาคตอันใกล้ก็จะส่งผลสำคัญต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ งบประมาณด้านสาธารณสุข และเงินซื้อประกันสุขภาพที่อาจจะเพิ่มขึ้น
    ในการพัฒนาวัคซีนโควิดสำเร็จขึ้นมาอย่างรวดเร็วนั้นมีส่วนสำคัญมาจากการให้ทุนจากภาครัฐ สำหรับแอสตร้าเซนเนก้าได้รับทุนเกือบทั้งหมดจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรและเงินบริจาค วัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอนเทคได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีและอียู (ไบโอเอนเทคคิดค้น พัฒนา ส่วนไฟเซอร์ร่วมลงทุน นำไปทดลองและผลิต)
    รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนเงินทุน 18,000 ล้านเหรียญฯ  ในภารกิจเร่งรีบความเร็วแสง Operation Warp Speed เพื่อการคิดค้น พัฒนา และผลิตวัคซีน เสมือนเป็นการจ่ายเงินซื้อวัคซีนล่วงหน้า และสร้างหลักประกันแก่บริษัทยาว่าจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านการเงิน หลายบริษัทรับเงินจากโครงการนี้ อาทิ โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอหน์สัน, และโนวาแวกซ์
    คณะอนุกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบของสภาคองเกรสได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว โดยถามบริษัทผู้ผลิตวัคซีนว่าจะขายวัคซีนในราคาต้นทุนใช่หรือไม่ แอสตร้าเซนเนก้าและจอห์นสันแอนด์จอห์นสันตอบว่า “จะเป็นเช่นนั้น” หากยังอยู่ในช่วง “ภาวะฉุกเฉินของโรคระบาด” ด้านไฟเซอร์และโมเดอร์นาตอบปฏิเสธ!
    ทั้งนี้ นักวิทยาภูมิคุ้มกันและบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ว่าอาจจะต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 รายปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เกิดประสิทธิภาพและป้องกันสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
    เวลานี้มีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับการนิยาม “ช่วงเวลาของภาวะการระบาดทั่ว” ซึ่งหากอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้บริษัทผู้ผลิตได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะขายวัคซีนในราคามิตรภาพและแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิตกับบริษัทอื่นๆ
    มีเอกสารภายในของแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้รับการเปิดเผยออกมาว่าพวกเขาจะไม่ค้ากำไรกับวัคซีนในช่วง Pandemic แต่ไม่เกินเดือนกรกฎาคมปีนี้ทางบริษัทจะสรุปว่าช่วงเวลาของการระบาดทั่วทุกหัวระแหง หรือ Pandemic จะหมดลงเมื่อไหร่ ส่วนผู้บริหารของบริษัทยาเจ้าอื่นๆ ได้ระบุออกมาแล้วว่าช่วงเวลาของ Pandemic อาจจะสิ้นสุดลงแค่ในปลายปีนี้
    เมื่อโปรโมชั่น “การระบาดทั่ว” จบลง ก็จะนำไปสู่ “การตั้งราคาเชิงพาณิชย์” โดยหนึ่งในผู้บริหารจากไฟเซอร์คาดว่าราคาจะอยู่ที่โดสละ 150–175 เหรียญฯ หรือประมาณ 4,650–5,425 บาท และสำหรับตลาดอียูนั้นไฟเซอร์ได้ขึ้นราคาสำหรับคำสั่งซื้อในอนาคตแล้วถึง 60 เปอร์เซ็นต์
    บทวิเคราะห์นี้หยิบยกการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในสหรัฐมากล่าวถึง ชี้ให้เห็นว่ามีการผลิตโดยหลายบริษัท ใช้ปนกันได้ สามารถรับบริการได้ทั้งจากสถานพยาบาลและจุดให้บริการชั่วคราว แต่ละปีฉีดให้กับหลายสิบล้านคนในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19
    ข้อสังเกตสำคัญคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการพัฒนาแทบทุกปีเพื่อป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ถาวร ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการป้องกันการระบาด ความเจ็บป่วย และการตาย
    วัคซีนโควิดก็เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในบริบทของการได้รับเงินทุนจากภาครัฐ กรณีของวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นได้รับจากกระทรวงกลาโหม จนถึงทุกวันนี้ห้องทดลองของรัฐบาลกลางยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่รายฤดูกาล
    และเมื่อมาดูในมิติทางด้านราคาของวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วพบว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลางซื้อได้ถูกกว่าเอกชน แต่ราคาก็สูงขึ้นทุกปี อย่างปีที่แล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) ซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตรงจากผู้ผลิตจำนวน 7 ล้านโดส ในราคา 100 ล้านเหรียญฯ ตกโดสละ 14 เหรียญฯ ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านั้น
    เราอาจคาดหวังว่าในเมื่อมีคำสั่งซื้อมากขึ้นเพราะรัฐบาลขยายกลุ่มสำหรับผู้ที่ควรได้รับวัคซีนให้กว้างขึ้น ผู้ผลิตมีหลายราย ราคาน่าจะลดลงตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ในวงการวัคซีนแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในสหรัฐตั้งแต่ปี 2000–2021 วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีราคาสูงขึ้น 149 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ซื้อที่เป็นภาครัฐ ส่วนภาคเอกชนสูงขึ้น 163 เปอร์เซ็นต์ เพราะบริษัทยามีพฤติกรรมคล้ายๆ กันคือเมื่อบริษัทหนึ่งขึ้นราคา บริษัทอื่นก็ปฏิบัติตาม พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาแข่งขันกันให้กระทบตลาด
    ย้อนไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในการประชุมเสมือนจริงกับผู้ร่วมลงทุน งาน Barclays Global Healthcare Conference บริษัทไฟเซอร์โดย “แฟรงค์ ดาเมลิโอ” ซีเอฟโอ และ “ชัค ทริอาโน” รองผู้อำนวยการด้านความสัมพันธ์กับผู้ลงทุน ได้สร้างความมั่นใจให้กับ “คาร์เตอร์ กูลด์” นักวิเคราะห์ของ “บาร์เคลย์ส” ว่าเป็นโอกาสของไฟเซอร์ในการขึ้นราคาวัคซีนเมื่อโควิด-19 เปลี่ยนสถานะจาก Pandemic สู่ Endemic
    “หากมองถึงความต้องการวัคซีนและราคาวัคซีนในขณะนี้ มันไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยสภาวะปกติทางการตลาดหรือกลไกตลาด มันถูกขับโดยภาวะของการระบาดใหญ่ และความต้องการของรัฐบาลทั่วโลกที่หวังจะยึดครองวัคซีนจำนวนมากไปไว้ในมือ”
    “ดาเมลิโอ” พูดถึงสภาวะปกติของตลาดบ่อยครั้ง จากนั้นก็เชื่อมโยงไปยังโอกาสของบริษัทในการสร้างความได้เปรียบจากโอกาสของความต้องการของตลาดและมุมมองทางด้านราคา
    “เราหวังว่ากลไกตลาดปกติจะได้เข้ามาแทนที่ และเมื่อถึงตอนนั้นปัจจัยอย่างประสิทธิภาพของวัคซีน ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผลลัพธ์ทางคลินิก จะเป็นปัจจัยสำคัญมาก และเรามองว่าเป็น ขอพูดตรงๆ นะ ว่าเป็นโอกาสงามของวัคซีนของเรา ในมุมมองทางด้านดีมานด์ ทางด้านราคา ด้วยชื่อชั้นวัคซีนของเรา”
    ผู้บริหารไฟเซอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ได้รับการป้องกันอยู่ตลอด ผู้คนอาจต้องฉีดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและคงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นกันทุกๆ ปี และการฉีดวัคซีนนี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “นิวนอร์มอล” หรือชีวิตวิถีใหม่
    “เป็นไปได้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการฉีดวัคซีนรายปีจะเกิดขึ้น” ดาเมลิโอย้ำ
    ไฟเซอร์คาดว่าจะมีรายได้ 15,000 ล้านเหรียญฯ จากวัคซีนโควิดในปีนี้ โดยจะทำกำไร (หลังจากหักภาษีแล้ว) ราว 3.75 พันล้านเหรียญฯ (คิดเป็นเงินไทย 116,250 ล้านบาท มากสุดในประวัติศาสตร์วงการเภสัชภัณฑ์) และกำไรจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้ เพราะกำลังมีการเจรจาข้อตกลงใหม่ๆ อีกจำนวนมาก
    นอกจากวัคซีนโควิด-19 แล้ว ไฟเซอร์ยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี mRNA อีกด้วย เพื่อป้อนผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงสู่ตลาด
    สำนักข่าว The Intercept ตีพิมพ์บทความ Drungmakers promise investors they’ll soon hike Covid-19 vaccine prices (ผู้ผลิตยาให้คำมั่นกับผู้ลงทุนว่าเร็วๆ นี้จะขึ้นราคาวัคซีนโควิด-19) เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา
    ตอนหนึ่งของบทความได้กล่าวถึงกรณีการเรียกร้องถึงความใจกว้างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์การผลิตที่บริษัทยาควรมอบให้กับประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย วุฒิสมาชิก “เบอร์นี แซนเดอร์ส” จากเดโมแครต ก็เป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องไปยังไฟเซอร์และบริษัทยาอื่นๆ แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าอุตสาหกรรมยามีล็อบบี้ยิสต์ขาใหญ่จำนวนมาก และได้ค้านข้อเสนอดังกล่าว หรือแม้แต่ต่อข้อเรียกร้องเรื่องการกำหนดราคา
    “อัลเบิร์ต บัวร์ลา” ซีอีโอของไฟเซอร์ กล่าวในระหว่างการพูดคุยกับผู้ลงทุนว่าบริษัทของเขาไม่ค่อยกังวลต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเท่าใดนัก
    “เราเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ได้กระจายความนิยมไปยังคองเกรสเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับความรับรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับประสิทธิภาพในวัคซีนโควิดของเรา” ซีอีโอไฟเซอร์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ากำลังตั้งตารอการทำงานร่วมกับรัฐบาลโจ ไบเดน และสมาชิกสภาคองเกรสทั้ง 2 พรรค
    มีรายงานด้วยว่า บริษัทไฟเซอร์ได้กดดันรัฐบาลลาตินอเมริกา รวมถึงอาร์เจนตินา ในการนำทรัพย์สินเช่นอาคารสถานทูตและฐานทัพของพวกเขามาวางเป็นประกันเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายกรณีเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงการฉีดวัคซีน
    ด้านโมเดอร์นาก็ไม่ได้เดินหน้าในเรื่องการแบ่งปันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีการผลิต หรือการออกแบบคิดค้น และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลกในการกระจายวัคซีนในราคาต่ำแก่ชาติกำลังพัฒนา
    “สตีเฟน โฮก” ประธานของโมเดอร์นา ได้กล่าวในการประชุมกับธนาคารบาร์เคลย์สเช่นเดียวกันว่า หลังจาก “ภาวะการระบาดทั่ว” สิ้นสุดลง และเข้าสู่ภาวะการระบาดประจำฤดู ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น โมเดอร์นาก็หวังว่าจะเกิดการตั้งราคาตามปกติ บนฐานของคุณภาพสินค้า
    “โจเซฟ โวล์ค” รองประธานกรรมการบริหารบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันกล่าวในงาน Raymond James Institutional Investors Conference ว่า ผู้ลงทุนสามารถคาดหวังได้ว่าบริษัทจะประเมินการกำหนดราคาใหม่ ซึ่งจะอยู่ในทิศทางของโอกาสทางด้านการค้ามากขึ้น เมื่อภาวะ Pandemic สิ้นสุดลง และมองว่าภาวะนี้น่าจะอยู่เกือบทั้งปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามสิทธิการประกาศการสิ้นสุดของภาวะดังกล่าวควรเป็นของบริษัท
    “ผมคิดว่า ไม่ควรจะมีใครมาชี้นิ้วบงการเรา” คือถ้อยแถลงจากผู้บริหารจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
    การสิ้นสุดของภาวะ Pandemic ควรถูกประกาศโดยองค์การอนามัยโลกหรือหน่วยงานระหว่างประเทศบางหน่วยงาน ทว่าบริษัทยาก็ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามในเรื่องการกำหนดราคายาขององค์การอนามัยโลก
    จึงเป็นอะไรที่น่าแปลกใจ เพราะประเด็นผลข้างเคียงของผู้ได้รับวัคซีนยังคงมีอยู่ วัคซีนไม่ได้ยับยั้งการติดเชื้อแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทผู้ผลิตยาวางแผนกันถึงเรื่องการขึ้นราคาและการทำกำไรมหาศาลในระยะยาว
    โรคร้ายหลายโรคไม่เคยหายไปจากโลกของเรา ทั้งที่การพัฒนาทั้งวัคซีนและยารักษาดำเนินมาเป็นเวลาหลายสิบปี หรือเป็นร้อยปี ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมยาก็ร่ำรวยมากขึ้นเป็นทวีคูณ
    มากชนิดที่อุตสาหกรรมอาวุธยังต้องชิดซ้ายลงข้างทางไปไกลๆ.

*********************

แหล่งข้อมูล

- bmj.com/content/373/bmj.n1467
- nature.com/articles/d41586-021-00728-2
- theintercept.com/2021/03/18/covid-vaccine-price-pfizer-moderna/
- fiercepharma.com/pharma/pfizer-sees-need-for-annual-revaccinations-and-rationale-for-higher-prices-after-pandemic
- businessinsider.com/pfizer-execs-highlight-significant-opportunity-hike-covid-vaccine-price-2021-3
-nytimes.com/2021/05/03/health/covid-herd-immunity-vaccine.html

-nytimes.com/live/2021/05/09/world/covid-vaccine-coronavirus-cases

*********************

เครดิตภาพ

- chula.ac.th


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"