จับตาศึกชิงประธานกมธ.แก้รธน.


เพิ่มเพื่อน    

ผลโหวตร่างแก้ไข รธน.ฉบับปชป.ประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบได้ไปต่อแค่ร่างเดียว ส.ว.พร้อมใจโหวตหนุน ส่วนอีก 12 ฉบับจอดป้าย ตั้ง 45 กมธ.ชำแหละต่อ "วิรัช" รับ ส.ส.พปชร.โหวตหนุนปิดสวิตช์ ส.ว.โต้กลับ ชง "ไพบูลย์" นั่ง ปธ.กมธ. ขณะที่ ปชป.จ่อเสนอ “บัญญัติ” นั่งประธาน ถกนัดแรก 29 มิ.ย. "บิ๊กตู่" ไม่ห่วงความสัมพันธ์ "ส.ว.-พปชร."  ลั่นมีนายกฯ คนเดียวกัน "เพื่อไทย" หวั่นร่าง ปชป.ถูกตีตกอีก "ก้าวไกล" เดินหน้าปิดสวิตช์ ส.ว.-ร่าง รธน.ทั้งฉบับให้ได้
      ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อช่วงค่ำวันพฤหัสบดี เพื่อพิจารณารับหลักการวาระแรกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา 13 ฉบับ ได้ลงมติแบบขานชื่อเรียงตามลำดับตัวอักษร ตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึงเวลา 23.30 น. โดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง 30 นาที จนครบทุกคน และครบทั้ง 13 ฉบับ จากนั้นได้ใช้เวลานับคะแนนอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมมีผลมติรับหลักการวาระหนึ่งเพียง 1 ฉบับ คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ด้วยมติเห็นชอบ 552 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 342 เสียง และ ส.ว. 210 เสียง ส่วนไม่เห็นชอบ 24 เสียง และงดออกเสียง 130 เสียง
    ส่วนฉบับอื่นๆ เนื่องจากเสียง ส.ว.ไม่ถึง 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดทำให้ต้องตกไป โดยเฉพาะฉบับปิดสวิตช์ ส.ว. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีปัญหาเสนอแก้กลไกปราบโกงของรัฐธรรมนูญ   
    ในส่วนของ ส.ว.ที่มาจากตำแหน่งที่เป็น ผบ.เหล่าทัพนั้น พร้อมใจกันไม่มาลงมติครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดย 6 ส.ว.เหล่าทัพชุดนี้ยังเคยประกาศก่อนรับตำแหน่งว่าไม่รับเงินเดือนส.ว. แต่ต้องเป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญกำหนด
    สำหรับร่างแก้ไข รธน.ที่ได้รับความเห็นชอบครั้งนี้ เป็น 1 ใน 6 ฉบับที่พรรคปชป.เสนอ โดยเป็นร่างแก้ไขเพื่อแก้ไข มาตรา 83 และมาตรา 91 เกี่ยวกับจำนวน ส.ส. และระบบเลือกตั้ง ส.ส. มีสาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 83 ให้ ส.ส.มีจำนวน 500 คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน  จากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน  โดยเป็นการเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้ง และเป็นเลือกตั้งแยกระหว่างเลือกคนกับการเลือกพรรคแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้ระบบบัตรใบเดียวเลือกตั้งเฉพาะ ส.ส.เขตเท่านั้น
    มาตรา 91 ยกเลิกวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปใช้วิธีการคำนวณที่สอดคล้องกับรูปแบบบัตร 2 ใบ กำหนดให้นำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับทั่วประเทศ มาคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคมาคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค อย่างไรก็ตาม ระบบเลือกตั้งนี้ถูกอภิปรายไม่เห็นด้วย ทั้งจากสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มองว่าจะเป็นการเพิ่มเขตเลือกตั้งทำให้สัดส่วนพื้นที่ถูกซอยให้มีขนาดเล็กลง เอื้อต่อระบบพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพล และอาจกระทบต่อพรรคการเมืองเล็กที่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศมาตลอดว่าร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยระบบที่อาจส่งผลต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ทำให้การลงมติ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยส่วนใหญ่งดออกเสียง
ตั้ง 45 กมธ.ถกนัดแรก 29 มิ.ย.
    จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งกรรมาธิการจำนวน 45 คน ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 17 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 8 คน, พรรคภูมิใจไทย  4 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 8 คน, พรรคก้าวไกล 3 คน, พรรคเสรีรวมไท 1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คนมีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในฐานะประธานการประชุม ได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.55 น. วันที่ 25 มิ.ย.64
    สำหรับ กมธ.วิสามัญฯ 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน  สำหรับสัดส่วน ส.ส. 30 คน กำหนดการแปรญัตติ 15 วัน โดยนัดประชุมนัดแรกในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. เพื่อเลือกตำแหน่งต่างๆ รวมถึงวางกรอบการทำงาน
    สำหรับ ส.ว.ที่รับหลักการร่างที่ 4 ของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว. ประกอบด้วย 1.นายคำนูณ สิทธิสมาน 2.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 3.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 4.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 5.นางประภาศรี สุฉันทบุตร 6.นายประมนต์ สุธีวงศ์ 7.พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 8.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 9.นายมณเฑียร บุญตัน 10.นายวันชัย สอนศิริ 11.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 12.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 13.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล 14.นายอำพล จินดาวัฒนะ  
       ส่วนในร่างที่ 11 ของสามพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ดังนี้ 1.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.นายคำนูณ สิทธิสมาน 3.พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม 4.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 4.นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 6นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 7.นายบรรชา พงศ์อายุกูล 8.นางประภาศรี สุฉันบุตร 9.นายประมนต์ สุธีวงศ์ 10.พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 12.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 13.นายมณเฑียร บุญตัน 12.นายวันชัย สอนศิริ 14.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 15.นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 16.นายสม จาตุศรีพิทักษ์ 17.นายสมชาย เสียงหลาย 18.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 19.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ 20.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และ 21.นายอำพล จินดาวัฒนะ  
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพปชร. และประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.ไม่เห็นชอบร่าง รธน.ที่พรรคพปชร.เสนอว่า น้อมรับทุกคำติติงที่ ส.ว.ให้ข้อสังเกตไว้ ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยจะมีร่างใดร่างหนึ่งผ่านความเห็นชอบในวาระรับหลักการ และเป็นร่างของพรรค ปชป.ที่ผ่านโดยมีเนื้อหาเรื่องระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คล้ายกับที่พรรค พปชร.เสนอไว้ ยอมรับว่าการแก้มาตรา 144 และ 185 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ส่วนกรณีที่ ส.ส.ของพรรคโหวตเห็นชอบตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯนั้น เป็นปฏิกิริยาโต้กลับอย่างหนึ่ง ซึ่งบีบบังคับ ส.ส.ไม่ได้ ไม่ได้เป็นความต้องการของผู้ใหญ่ และไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ ทั้งนี้ พรรค พปชร.จะเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานกรรมาธิการ 
    ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการลงมติร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “จบแล้ว เป็นเรื่องของในสภา” 
    เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ส.ว. กับพรรค พปชร. หลัง ส.ว.คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พปชร. ขณะที่ พปชร.ก็โหวตปิดสวิตช์ ส.ว. โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงว่า "ไม่เป็นไร นายกฯ คนเดียวกัน"
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พปชร.ถูกตีตกว่า ถูกตีตกไปแล้ว และเป็นเรื่องของ ส.ส.ที่จะว่ากันไป พูดคุยกันไป และไม่เห็นต้องเสียหน้า เพราะเราบอกแล้วว่าไม่เอามาตรา 144 และ 185  และเราได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเราก็โอเคแล้ว ส่วนความสัมพันธ์กับ ส.ว.ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไร 
ปชป.ส่ง"บัญญัติ"ชิงปธ.กมธ.
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชป. จนสามารถผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาได้ แม้จะเป็นเพียงร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบ และหวังว่าจะนำไปสู่ความเห็นชอบต่อไปในวาระที่ 3 ก็ถือเป็นการนับหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง แล้วถือเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่อาจนำไปสู่การแก้ไขในประเด็นสำคัญอื่นๆ ได้มากขึ้น 
    ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบเพียงฉบับเดียวจาก 13 ฉบับ กล่าวว่า หากพรรค ปชป.ได้รับเกียรติในชั้นกรรมาธิการได้ให้เป็นประธาน กมธ.วิสามัญฯ ก็จะเสนอนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน เพราะเหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้ แต่ต้องหารือกันอีกทั้งกับวุฒิสภา และพรรคฝ่ายค้าน ในการประชุมวันที่ 29 มิ.ย.ก่อน ยืนยันว่าร่างของพรรคเรื่องระบบเลือกตั้งที่แก้มาตรา 83 และมาตรา 91 เพียง 2 มาตรา แต่ใน รธน.ปี 2560 มีมาตราที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งอีกที่ต้องแก้ จะไม่เป็นปัญหาต่อการพิจารณาร่างแก้ รธน.ครั้งนี้ เพราะรัฐสภารับหลักการแล้วคือให้มี ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่ กมธ.สามารถพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมได้ 
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท. และประธานวิปฝ่ายค้าน และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. แถลงสรุปผลการอภิปราย โดยนายสุทินกล่าวว่า การลงมตินั้นผ่านเพียงร่างเดียวร่างของพรรคปชป. ที่ระบบเลือกตั้งบัตรเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นอกจากนั้นอีก 12 ร่างไม่ผ่าน ผิดหวังว่าร่างที่ตกไปนั้น เรื่องระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีเสนอคล้ายคลึงกันถึง 3 ร่าง แต่ ส.ว.กลับไปเลือกร่างของพรรค ปชป.ที่มีแค่ 2 มาตรา โดยไม่มีรายละเอียด แตกต่างจากร่างของพรรคพท.ที่ได้แก้ไขทั้งระบบ จึงเกิดคำถามว่าจะไปแก้กันอย่างไร เพราะร่างของพรรค ปชป.ไม่ได้เสนอแก้มาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ 
     นพ.ชลน่านกล่าวว่า ร่างของ ปชป.จะไปแก้กันได้จริงไหม จะบังคับใช้ได้หรือไม่ หรือและจะขัดแย้งกันเองจนนำไปสู่ในการคว่ำในวาระที่ 3 หรือท้ายสุดอาจไปจบกันที่การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็เป็นไปได้หมด อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกห้ามแก้ทั้งฉบับ แต่เราจึงยังประกาศสู้ จะแก้ไขรายมาตราต่อไปในโอกาสต่อๆ ไป 
    นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวเช่นกันว่า เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ที่สุดท้ายร่างที่เสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว.ทั้ง 2 ฉบับถูกปัดตกทั้งหมด ทั้งๆ ที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากที่สุด และเกินกึ่งหนึ่งของเสียงในรัฐสภา แต่กลับต้องตกไป เพราะเสียงของ  ส.ว. พรรค ก.ก.ยืนยันว่าจะเดินหน้าปิดสวิตช์ ส.ว. ต่อไปในสมัยประชุมถัดไปเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ การผลักดันให้เกิดการลงประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้ได้. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"