สสส.จับมือมูลนิธิวายไอวาย บ่มเพาะนวัตกรรุ่นเยาว์ ปีที่ 4 ดึงศักยภาพเยาวชนร่วมแก้ปัญหาสุขภาวะของชาติ หวังให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา สังคม ชวนส่งไอเดียสร้างสรรค์ชิงรางวัลเกียรติยศ Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation 2021 ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี พร้อมโอกาสพัฒนา ต่อยอด ใช้จริง!
คนทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้การดูแลรักษาสุขภาพกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการใช้ชีวิต ภารกิจป้องกันก่อนการรักษาจึงเป็นงานสำคัญของ สสส.เติบโตสู่ปีที่ 20 มุ่งมั่นให้เป็นจริง ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ สสส.จับมือกับมูลนิธิวายไอวายจัดงาน Thai Health Innovation Awards เป็นการนำนวัตกรรมการสร้าง ซ่อม เข้ามาตอบโจทย์ในชีวิตของเรา อีกทั้งเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คุณภาพออกสู่สังคม ช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพ
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา
ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน คิดค้นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้คนไทยมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน 4 มิติ คือ กาย ใจ ปัญญา สังคม ด้วยความเชื่อมั่นในพลังและศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเครือข่ายครูที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ สสส.จึงร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย (why i why Foundation) จัดประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4
ปีนี้ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นรางวัลเกียรติยศจากนายกรัฐมนตรี Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2021 ถือเป็นรางวัลระดับชาติ ด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเยาวชน ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา ในการร่วมขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรสร้างเสริมสุขภาพของสังคมไทยอย่างจริงจังและยั่งยืน และผลักดันให้นวัตกรรมต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นจากการประกวดครั้งนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเกิดการขยายผลต่อไป
ดร.ณัฐพันธุ์กล่าวต่อว่า สำหรับโจทย์การประกวดคือ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยง หรือส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ 3.ลดอุบัติเหตุ และสร้างเสริมความปลอดภัยทางถนน 4.เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ และอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ 5.เพิ่มกิจกรรมทางกาย หรือลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
6.สร้างเสริมความเข้าใจสุขภาวะทางเพศ 7.การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ 8.สร้างเสริมสุขภาพจิต/การจัดการอารมณ์และความเครียด การประกวดครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ได้รับการบ่มเพาะทักษะในการประดิษฐ์คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดด้านการสร้างเสริมสุขภาพในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนและสังคมได้จริง
“จากการประกวด 3 ครั้งที่ผ่านมา เกิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่มาจาก “นวัตกรรุ่นใหม่” ซึ่งถูกนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานจริง อาทิ ผลงาน “เสาหลักจากยางพารา” เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ได้ขยายผลเสาหลักยางพาราในถนนบางสายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมนำไปเป็นนโยบายเปลี่ยนเสาหลักนำทางจากยางพาราทุกหลักทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ภายในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้งบประมาณรวม 1,402 ล้านบาท หรือ “เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด” เพื่อคนรักสุขภาพ มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก นำไปใช้ในธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการล้วนมีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพ ยิ่งค้นพบว่าเยาวชนไทยมีความสามารถอย่างมาก” ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว
สำหรับการประกวดครั้งนี้ แบ่งเป็น 1.ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 2.ระดับอาชีวศึกษา (ปวช. หรือเทียบเท่า) เปิดรับข้อเสนอโครงการตั้งแต่วันนี้-15 กรกฎาคม 2564 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อเรียนรู้แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพ และกระบวนการออกแบบนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานระดับประเทศ รวมรางวัลมูลค่ากว่า 200,000 บาท พร้อมโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaihealth.or.th/inno หรือ https://xn--www-epl.facebook.com/pmhealthpromotioninnoaward
เสาหลักนำทางจากยางพารา
ลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ
ต่อยอดนวัตกรรมจากเวทีประกวด สู่การแก้ไขปัญหาชุมชน ผลงานการประกวดรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพรุ่นที่ 1 เสาหลักนำทางจากยางพารา รางวัลชนะเลิศระดับ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ไปไกลกว่าที่คิด เพราะได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมต่อยอดช่วยให้ผลงานของเยาวชน แก้ปัญหาได้จริง
อ.ชาญชัย แฮวอู อ.ที่ปรึกษาโครงการ (สาขาช่างเชื่อม) ครูชำนาญการพิเศษ แผนกวิชาเทคนิคโลหะ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เล่าถึงผลงานชนะเลิศระดับ ปวช.ของนักศึกษาขณะเรียนระดับ ปวช. วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งประกอบไปด้วย ธรรมนูญ รุจิญาติ ขณะนี้ศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือ, รัตนพงศ์ แก้วนารา ขณะนี้ทำธุรกิจเปิดร้าน stainless อยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี, สิทธิกร อินทแสง ขณะนี้ศึกษาต่อคณะครุศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระนครเหนือ
ทางวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ฯ มีนโยบายให้นักศึกษาคิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือชุมชน สังคม เกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคใต้ปลูกยางพาราผลิตภัณฑ์ในชุมชนถึง 70% ขณะนั้นราคายางพาราตกต่ำมาก 3 กก./100 บาท จึงรับซื้อยางพาราด้วยสนนราคา กก.ละ 100 บาท เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร นำมาแปรรูป ใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมกับขี้เลื่อยจากเศษไม้ ผักตบชวา ถุงพลาสติก เศษขยะนำมาบดแห้งขึ้นรูปเป็นแม่พิมพ์ทำเสาหลักยางพาราสวยงามใช้นำทางและยังลดแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พร้อมกับติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย ติดตั้งระบบ GPS และ Application แจ้งเตือนจุดหรือพื้นที่เกิดเหตุ โดยเชื่อมกับ line ของมูลนิธิหรือหน่วยกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที จากเดิมที่ใช้เสาปูนซีเมนต์เมื่อชนแล้วเกิดแรงกระแทก
ปกติที่สุราษฎร์ฯ มีอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ รถนานาชนิด ผลงานนวัตกรรมเสาหลักนำทางจากยางพาราเป็นหนึ่งในนโยบายของจังหวัดที่ให้จัดทำถนนเสาหลักยางพารา 1,156 ต้น เพื่อนำร่องเส้นทางลดอุบัติเหตุ และส่งเสริมผลผลิตยางพาราในชุมชน พร้อมกับได้รับรางวัลผลงานเด่นด้านความปลอดภัยทางท้องถนน จากนายกรัฐมนตรีในปี 2562 โดยศูนย์ความปลอดภัยทางท้องถนน ต่อไปนำไปพัฒนาต่อยอดทำเป็นแท่งแบริเออร์กั้นทางบนเกาะกลางถนนจากยางพารา และยางกั้นล้อรถหรือ wheel stop ของช่องจอดรถ
เมื่อเศรษฐกิจชาวบ้านในชุมชนดีขึ้นเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้โดยตรง “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา เป็นการช่วยชาวบ้านเปลี่ยนน้ำตาให้กลายเป็นเสียงหัวเราะ ผมเป็นคนนครฯ จบเทคนิค ปวช.นครฯ ปวส.ราชมงคล สงขลา ปริญญาตรีสถาบันราชมงคล วิทยาเขตเทเวศร์ ปริญญาโท สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีทำงานเป็นวิศวกรโรงงาน บ.TPI สระบุรี จนฟองสบู่แตกปี 2538 จึงสอบบรรจุเป็นข้าราชการอยู่สุราษฎร์ฯ มาแล้ว 25 ปี ที่นี่ได้ทำงานอยู่กับธรรมชาติ สังคมชาวบ้านในชุมชนน่าอยู่ ผมลงชุมชนบ่อยมากรู้ถึงความต้องการชาวบ้านอยากได้ที่ตากปลาเค็มที่ถูกสุขลักษณะ เราทำโครงการขอทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ สร้างโรงอบปลาใช้พลังงานแสงอาทิตย์” อ.ชาญชัยกล่าว
อ.ชาญชัยกล่าวว่า สสส.จัดประกวดนวัตกรรมสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนในปีแรก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ฯ ได้แชมป์ชนะเลิศ และรองชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น เพื่อลดอุบัติเหตุจากการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่นั่งเก้าอี้รถเข็น และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลในการสระผม ด้วยการพัฒนาผลงานให้พกพาสะดวก พับเก็บง่าย มีน้ำหนักเบา ต่อมอเตอร์เพื่อสะดวกต่อการใช้งานและสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 100 กก. มีการพัฒนารูปแบบให้กะทัดรัด พับเก็บสะดวกมากยิ่งขึ้น เหมาะสมสำหรับสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่
อ.ชาญชัยกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้รับราชการ ทำงานมาแล้ว 25 ปี ได้รับรางวัลสูงสุด รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ครุฑทองคำรับจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันข้าราชการเมื่อปี 2561 เป็นข้าราชการครูคนเดียวของ จ.สุราษฎร์ฯ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกให้เข้าไปรับรางวัล
ก่อนหน้านี้เคยรับรางวัล Special Awards on Stage เหรียญทองระดับนานาชาติ นวัตกรรมอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ปกติเกษตรกรใช้มีดตัดสับปะรดทำให้เกิดอุบัติเหตุเจอสัตว์เลื้อยคลาน ได้รับอันตราย อีกทั้งยังเป็นแผลจากตาสับปะรด อาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ฯ ช่วยกันคิดค้นอุปกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกร เป็นการรับรางวัลจากประธานาธิบดีเกาหลีใต้ บนเวทีใหญ่ที่ประเทศเกาหลีใต้ วันประดิษฐ์นานาชาติ ปี 2562
รางวัลเหรียญเงิน เจนีวา เวทีสวิตเซอร์แลนด์ คิดค้นนวัตกรรม นำผ้าทอชาวบ้านย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวหรือดอกอัญชัน หรือขมิ้น เคลือบด้วยสารนาโนทำให้น้ำไม่ซึมด้วยทฤษฎีน้ำบนใบบอนจะกลิ้ง ทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋า เสื้อกันฝน ผ้าคลุมรถ แทนการใช้ผ้ายาง
รางวัลเหรียญทองที่ประเทศมาเลเซีย รางวัล Special ไต้หวัน 2 เหรียญทอง นำนวัตกรรมจากอิฐสร้างบ้านมารีไซเคิล ชาวบ้านมีโรงงานผลิตอิฐแดง นำขวดแก้วมาป่นแทนเม็ดทราย ที่ต่างจังหวัดจะมีการนำขยะมาแลกกับไข่ “งานทั้งหมดนี้เป็นงานคิดค้น ต้องให้ภาคราชการและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนต่อยอดความคิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ปีนี้ผมลงพื้นที่สร้างนวัตกรรมให้ชาวบ้าน ของบประมาณจากสำนักงานอาชีวศึกษาสร้างนวัตกรรมให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ที่ภาคใต้ปลูกมังคุดเยอะมาก เปลือกมังคุดเป็นขยะ มีสัตวแพทย์จากชุมพรคิดสูตรเพิ่มมูลค่าเปลือกมังคุด หมักเป็นน้ำทำเป็นยาฆ่าแมลงป้องกันเชื้อราในต้นทุเรียน ต้นเงาะ ทำสบู่ ถ่านให้ความร้อน”
อ.ชาญชัยกล่าวว่า เด็กช่างไม่เก่งในการนำเสนองานต่างไปจากเด็กระดับมัธยม ระดับมหาวิทยาลัย เราต้องช่วยกันเปลี่ยนให้เด็กอาชีวะนำเสนอผลงานแบบไม่อายใคร เป็นกำไรของชีวิต ขณะนี้มีเด็กสอบเข้ารับราชการเป็นทหารช่าง เด็กวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ฯ ได้รางวัล 1 รร. 1 นวัตกรรม เครื่องซีลผักใช้สุญญากาศ แต่เดิมใช้ไฟฟ้าในการดูดอากาศ ไม่ให้ผักเสีย ถ้าเรานำพลังงานน้ำที่มีความหนาแน่น ดันอากาศออก เพื่อให้ผักมีความสดมากกว่าปกติ ผักจะไม่ช้ำเก็บไว้ในตู้เย็นได้เป็นสัปดาห์ งานนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัล Special Award ที่ประเทศสิงคโปร์ ในงานวันประกวดนักประดิษฐ์
รวมผลงานเด็ด “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” รางวัลชนะเลิศ
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่และศักยภาพของเยาวชน รวมทั้งเครือข่ายครูที่จะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ สร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงสังคมและผู้คนให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้
สสส.และมูลนิธิวายไอวาย ได้ร่วมกันจัดโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Inno Awards) ขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงความคิด ความสามารถ ได้รับการบ่มเพาะทักษะความสามารถในการประดิษฐ์ คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม ผ่านการวิเคราะห์โดยใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนและสังคมได้จริง
แบ่งการประกวดเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) และระดับอาชีวศึกษา (ปวช. หรือเทียบเท่า) ทั่วประเทศ โดยจัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 3 ครั้ง
เราขอรวมผลงาน “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” รางวัลชนะเลิศมาให้เห็นกันชัดๆ อีกทีว่าเด็ดขนาดไหน
การประกวดครั้งที่ 1
• ผลงาน “NPK EASY” 5 กิจกรรมพัฒนาชุมชนหนองป่าครั่ง ถังปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ เลี้ยงไส้เดือนแบบคอนโดฯ ปลูกผักไฮโดรออร์แกนิกบ็อกซ์ เลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกผักบุ้งและดอกทานตะวันในตะกร้า ที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ปัจจุบันหนองป่าครั่งกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การทำเกษตรในพื้นที่จำกัด
• ผลงาน “เสาหลักจากยางพารา” เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน และได้ขยายผลเสาหลักยางพาราในถนนบางสายของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และกรมทางหลวงชนบทขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปลี่ยนเสาหลักนำทางยางพาราทั่วประเทศกว่า 7 แสนต้น เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ ภายในปีงบประมาณ 2565 โดยใช้งบประมาณรวม 1,402.172 ล้านบาท
การประกวดครั้งที่ 2
• ผลงาน “D&C Air pollution” ทีม Safe Zone ระดับมัธยมศึกษา” ไอเดียของ ศรันย์รักษ์ ฐิติกุลนิธิ นพกฤษฏิ์ นิธิชัยสถิต และพันธบัตร ใบบุตร จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กรุงเทพฯ ที่นำเอาปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 มาพัฒนาเป็นเครื่องมือตรวจวัดและแจ้งเตือน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนบางขุนเทียน โดยติดตั้งอุปกรณ์บนหมวกกันน็อกของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีการทำแผนที่อากาศผ่านเว็บไซต์ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ตามช่วงเวลา พร้อมกับคำแนะนำเพื่อเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน ซึ่งจะทำให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง
• ผลงาน “เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด” ทีม “ต้นยางสารภี” “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” ซึ่งเป็นผลงานของ จอมขวัญ ลุงต๋า และเทพพิทักษ์ อินคำ จากวิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยพฤติกรรมนิยมอาหารทอดของคนไทย จึงออกแบบเครื่องสลัดน้ำมัน โดยใช้หลักการปั่นผ้าแห้งของเครื่องซักผ้า ใช้แรงเหวี่ยงหมุนสะบัดเพื่อให้เหลือน้ำมันตกค้างในอาหารน้อยที่สุด มีขนาดเล็กราคาถูกสามารถใช้ได้ในครัวเรือน หรือพัฒนาให้เหมาะสมกับเชิงพาณิชย์ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จากการได้มองเห็นถึงความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมันปริมาณจำนวนมากที่ต้องรับประทานเข้าไปในแต่ละเมนู
เครื่องสลัดน้ำมันจากการทอด
การประกวดครั้งที่ 3
•·Real Time Exercise Game by Instagram Filter จากทีม 16 ยังแจ๋ว ระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนชลกันยานุกูล รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ อุปกรณ์เตือนภัยขาตั้งสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ได้ถึง 3 (ขาตั้งสติแตก) จากทีม IF โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ตุ๊กตาช่วยเตือนจุดเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ทีม Mito Team โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา
•·FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบ ระดับอาชีวศึกษา ทีม R-lu-mi-right จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง “น้องจุกผจญภัย” ทีมน้องจุกจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสําหรับครัวเรือนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากทีม SRPC Save the world วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี และมีรางวัลพิเศษ Rising star ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่มีโอกาสพัฒนาต่อในอนาคตได้ 2 รางวัล ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา Water scrubber system face mask หน้ากากจากระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (D-mask ดีม้ากกก) ทีมวุยก๊กจะเฟื่องฟูศัตรูจะแพ้พ่าย โรงเรียนชลราษฎรอำรุง ได้แก่ ระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ BizcomPN (SEX EDUBOT) ทีม BizcomPN วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |