เปิดผลโหวตร่างแก้รธน. ฉบับปชป.ประเด็นบัตร 2 ใบได้ไปต่อแค่ร่างเดียว อีก12ฉบับจอดป้าย


เพิ่มเพื่อน    

 

25 มิ.ย.64-  ที่รัฐสภา วันที่ 24 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับหลักการวาระแรกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา  13 ฉบับ ได้ลงมติแบบขานชื่อเรียงตามลำดับตัวอักษร ตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึงเวลา 23.30 น. โดยใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง 30 นาทีจนครบทุกคนและครบทั้ง 13 ฉบับ จากนั้นได้ใช้เวลานับคะแนนอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมมีผลมติรับหลักการวาระหนึ่งเพียง 1 ฉบับ คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ด้วยมติเห็นชอบ 552เสียง แบ่งเป็นส.ส.342 เสียง และส.ว.210 เสียง ส่วนไม่เห็นชอบ 24 เสียง และงดออกเสียง 130เสียง

ส่วนฉบับอื่นๆ เนื่องจากเสียง ส.ว. ไม่ถึง 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดทำให้ต้องตกไป โดยเฉพาะฉบับปิดสวิตช์ ส.ว. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีปัญหาเสนอแก้กลไกปราบโกงของรัฐธรรมนูญ  โดยมีรายละเอียดผลคะแนนแต่ละฉบับดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ  แก้ไข 5 ประเด็น  
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 334 เสียง (ส.ส.334,ไม่มีเสียงส.ว.) ไม่เห็นชอบ 199 เสียง งดออกเสียง  173 เสียง
2. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นสิทธิและเสรีภาพ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 399 เสียง (ส.ส. 393 เสียง ส.ว. 6เสียง) ไม่เห็นชอบ 136 เสียง งดออกเสียง 171  เสียง
3. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร2ใบ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ  376 เสียง (ส.ส. 340 เสียง ส.ว.36 เสียง) ไม่เห็นชอบ 89 เสียง งดออกเสียง 241 เสียง
4. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็น ปิดสวิตช์ ส.ว.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 455  เสียง (ส.ส. 440 เสียง ส.ว. 15 เสียง )ไม่เห็นชอบ 101 เสียง งดออกเสียง  150 เสียง
5. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ประเด็นยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 327 เสียง (ส.ส.326 เสียง ส.ว. 1 เสียง) ไม่เห็นชอบ เสียง งดออกเสียง  129 เสียง
6. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคภูมิใจไทย  ประเด็นประแก้ยุทธศาสตร์ชาติ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ  454 เสียง (ส.ส.419 เสียง ส.ว.35 เสียง) ไม่เห็นชอบ 86 เสียง งดออกเสียง 166 เสียง
7. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคภูมิใจไทย  ประเด็นหน้าที่ของรัฐแก้ปัญหาความยากจน
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ  476เสียง (ส.ส.421 เสียงส.ว.55 เสียง) ไม่เห็นชอบ 78 เสียง งดออกเสียง  152 เสียง
8. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ประเด็นสิทธิเสรีภาพ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 469  เสียง(ส.ส.421 เสียงส.ว.48 เสียง) ไม่เห็นชอบ 75 เสียง งดออกเสียง  162 เสียง
9. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ประเด็นสัดส่วนการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 415  เสียง(ส.ส.400 เสียง ส.ว. 15 เสียง) ไม่เห็นชอบ 102เสียง งดออกเสียง 189  เสียง
10. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ประเด็นการตรวจสอบ ป.ป.ช.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ  431 เสียง (ส.ส. 398 เสียง ส.ว. 33 เสียง)ไม่เห็นชอบ 97 เสียง งดออกเสียง 178  เสียง
11. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ประเด็นที่มานายกรัฐมนตรีและปิดสวิตช์ ส.ว.
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ461  เสียง (ส.ส. 440 เสียง ส.ว.21 เสียง) ไม่เห็นชอบ 96เสียง งดออกเสียง 149  เสียง
12. ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคประชาธิปัตย์  ประเด็นกระจายอำนาจท้องถิ่น
- ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ 457 เสียง (ส.ส.407 เสียง ส.ว.50 เสียง) ไม่เห็นชอบ 82เสียง งดออกเสียง 167  เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในส่วนของส.ว.ที่มาจากตำแหน่ง ได้แก่ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้  ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ  พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นพร้อมใจกันไม่มาลงมติครั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์  โดย 6 ส.ว.เหล่าทัพชุดนี้ยังเคยประกาศก่อนรับตำแหน่งว่าไม่รับเงินเดือนส.ว. แต่ต้องเป็นส.ว.ตามรัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบครั้งนี้ เป็น 1 ใน 6 ฉบับที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ โดยเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไข มาตรา 83 และมาตรา 91 เกี่ยวกับจำนวน ส.ส. และระบบเลือกตั้ง ส.ส. มีสาระสำคัญ ดังนี้
 
-มาตรา 83 ให้ ส.ส.มีจำนวน 500 คน  มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 400คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ100 คน  จากที่รัฐธรรมนูญปี2560 กำหนด ให้ ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ150 คน  โดยเป็นการเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้ง  และเป็นเลือกตั้งแยกระหว่างเลือกคน กับการเลือกพรรค แบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ2550 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเลือกตั้งแบบบัตร2 ใบ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้ระบบบัตรใบเดียวเลือกตั้งเฉพาะ ส.ส.เขตเท่านั้น

-มาตรา 91 ยกเลิกวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของรัฐธรรมนูญ 2560 กลับไปใช้วิธีการคำนวณที่สอดคล้องกับรูปแบบบัตร 2ใบ กำหนดให้นำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับทั่วประเทศ มาคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคมาคำนวณเพื่อจัดสรรที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค อย่างไรก็ตามระบบเลือกตั้งนี้ ถูกอภิปรายไม่เห็นด้วย ทั้งจากสมาชิกวุฒิสภา และส.ส.พรรคก้าวไกล ที่มองว่าจะเป็นการเพิ่มเขตเลือกตั้ง ทำให้สัดส่วนพื้นที่ถูกซอยให้มีขนาดเล็กลง เอื้อต่อระบบพรรคการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพล และอาจกระทบต่อพรรคการเมืองเล็กที่ไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศมาตลอดว่าร่วมเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยระบบที่อาจส่งผลต่อจำนวน ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย  ทำให้การลงมติวันนี้ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยส่วนใหญ่งดออกเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้ตั้งกรรมาธิการจำนวน 45 คน ประกอบด้วย พรรคร่วมรัฐบาล 17 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย  4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ส่วน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคเสรีรวมไท  1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คนมีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน โดยประชุมนัดแรกในวันที่  29 มิ.ย. 64 เวลา 10.00 น. ห้องประชุมรัฐสภาชั้น 6 จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานการประชุมได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 01.55น. วันที่ 25 มิ.ย. 64

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"