เริ่มจะมีเสียงจากคุณหมอหลายท่านที่ต้องการให้รัฐบาลพิจารณามาตรการที่เข้มข้นจริงจัง เพื่อกดตัวเลขคนติดเชื้อที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะนิ่งหรือลดลงได้ในเร็ววัน
ที่คุณหมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล แห่งโรงพยาบาลศิริราชเสนอให้
ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 วันนั้นไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของท่าน
ผมได้พูดคุยกับคุณหมออาวุโสหลายท่านที่มีความเห็นคล้ายกันว่า การที่จำนวนคนติดเชื้ออยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างนี้ไม่มีทางจะที่บริหารได้ นอกจากจะต้องใช้มาตรการเคร่งครัดอีกครั้งหนึ่ง
เพราะจำนวนเตียงโรงพยาบาลเริ่มจะไม่พอ
บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้าและเครียดหนักขึ้น
คนป่วยที่มีอาการหนักและที่ต้องการเครื่องช่วยหายใจมีเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ล่าสุดเมื่อโรงเรียนเปิดก็เกิดการแพร่เชื้อในหมู่เด็กๆ จนต้องมีการปิดโรงเรียนกันในหลายภาค
แต่เรายังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็ก
และวัคซีน “ทางเลือก” กับ “ตัวเลือก” ก็ยังมีจำกัดขณะที่วัคซีนตัวหลักก็ยังไม่มีการส่งมอบอย่างต่อเนื่องเพียงพอ
ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะเอาเชื้อจากโรงเรียนไปติดผู้ใหญ่ที่บ้าน
โฆษก ศบค.คุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน บอกว่า ที่ประชุม ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอเรื่องให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว
มีความเห็นว่าหากทำเช่นนั้นจะไม่ได้ผล เพราะจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายคนจากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ซึ่งก็จะไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดของไวรัสโควิดอยู่ดี
คุณหมอนิธิพัฒน์ตระหนักประเด็นนี้ดี จึงได้เตือนเอาไว้ในข้อเสนอของท่านว่า
“สำหรับผมแล้ว คำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤติโควิดระลอก 4 คือการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคาและลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนขึ้นในสัปดาห์หน้า ที่กว่ามาตรการเด็กขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล
“และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพฯ แตกรังออกต่างจังหวัดเหมือนที่เราทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์”
เงื่อนไขสำคัญคือจะต้องไม่ให้เกิดอาการ “แตกรัง” ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว
และเป็นที่มาของปัญหาทุกวันนี้
คุณหมอทวีศิลป์บอกว่า ศบค.เห็นว่าน่าจะใช้วิธี Bubble and Seal จะได้ผลกว่า
นั่นหมายถึงการจำกัดวงของการแพร่เชื้อและตีเส้นปิดจุดนั้นไม่ให้แพร่เชื้อไปจุดอื่น
การที่วิธีนี้จะสำเร็จต้องมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
นั่นคือต้อง Seal หรือตีกรอบปิดล้อมโดยไม่มีรูโหว่หรือมีใครมีทางหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่กำหนด
ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าแม้จะประกาศมาตรการ Bubble and Seal ในบางจุดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะมีความหย่อนยานในการนำไปปฏิบัติจริง
เคยมีการประกาศใช้วิธีนี้ในหลายจุดที่เป็น clusters ของการแพร่เชื้อ แต่ก็ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง เช่น กรณีแคมป์คนงาน หรือแม้แต่ในเรือนจำ
แต่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เป็นที่มาของข้อเสนอว่าจะต้องใช้วิธีการ “เจ็บแต่จบ” อีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะเมื่อมีคำถามว่าเรื่องคำประกาศของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะ “เปิดประเทศ” ใน 120 วัน
โดยยังไม่มีแผนคู่ขนานที่จะรับมือกับความผิดพลาดหรือการแพร่เชื้อที่อาจจะเกิดขึ้น
นายแพทย์หลายท่านที่ผมคุยด้วยยอมรับว่าสถานการณ์วันนี้เข้าขั้น “คับขัน”ฃ
ที่พูดตรงๆ ว่า “เอาไม่อยู่” ก็มี
ที่พูดแบบนิ่มๆ แต่ตรงประเด็นก็มี เช่น ท่านรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ที่เขียนในเฟซบุ๊กของท่านว่า
“จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยเริ่มกลับมาอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง สถานการณ์ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มจะหนักขึ้น...”
ท่านยอมรับว่า “...แสดงว่าที่ทำมายังไม่พอที่จะคุมโรคให้ลดลงได้”
เมื่อที่ทำมายังไม่พอที่จะคุมโรคให้ลดลงได้ ย่อมแปลว่าท่านกำลังบอกเราว่าจะต้องทำอะไรมากกว่านี้
จะทำอย่างไรนั้นคงไม่มีทางเลือกมากนัก
นั่นคือการยอมรับความจริงและใช้มาตรการจริงจังควบคุมไปกับการประคองสภาพเศรษฐกิจไปด้วยกัน
เพราะหากยังกดตัวเลขคนติดเชื้อประจำวันไม่สำเร็จ เรื่องปากท้องก็ยากที่จะฟื้นได้เช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |