ประเมินสถานะทางเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ ก็ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเพดานการเติบโตของจีดีพีในปี 2564 ไม่น่าจะมากเกิน 2% โดยสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่งต่างก็หั่นเป้าและฟันธงการเติบโตไว้ที่ 1.8% เท่านั้น
เหตุผลมาจากอะไรก็คงไม่ต้องเดา นั้นก็คือการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ และยังไม่สามารถจัดการได้ จนขณะนี้จำนวนผู้ป่วยหน้าใหม่รายวันไม่มีต่ำกว่า 3,000 คน ซึ่งก็ยังไม่มีวี่แวว จะกดจำนวนผู้ป่วยให้ต่ำไปกว่านี้ นับเป็นการระบาดที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือนเต็ม
อย่างไรก็ดี แม้ว่าไทยเราจะมีข่าวดีมาบ้างในเรื่องการส่งออกที่ 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค-พ.ค.) ยอดการส่งออกเติบโตสูงมาก อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทั้ง จีน, สหรัฐอเมริกา และยุโรป เริ่มฟื้น เพราะสามารถจัดการการระบาดได้ดี และมีการเปิดเศรษฐกิจของตัวเองเกือบเต็มรูป ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น
แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทย ยังเหมือนเดินอยู่ท่ามกลางเมฆหมอก และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย อาทิ ความเข้มงวดของมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของทางการ และความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19
รวมถึงมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นการจับจ่าย ผ่านโครงการเราชนะ คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็ต้องจับตาต่อไปว่า จะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนตามที่หวังกันหรือไม่ หรือ เป็นแค่การโยนเงินถมบ่อที่ไม่มีวันเต็ม
ล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เพิ่งมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งก็เป็นอัตราที่คงที่มาซักระยะแล้ว โดยในมุมของนโยบายการเงิน ที่ดูแลผ่านดอกเบี้ย ก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้แล้ว เพราะถือเป็นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ซึ่งลดมากกว่านี้ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เนื่องจากภาคธุรกิจก็ไม่กล้ากู้เงินไปขยายธุรกิจในสถานการณ์แบบนี้ ขณะเดียวกัน ดอกเบี้ยนโยบายในเรตนี้ เอาจริงๆ ก็ต่ำกว่า ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว โดย 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 0.83% ซึ่งก็สูงกว่าดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้นยิ่งลด คนฝากเงินก็จะได้รับความเดือดร้อนเปล่าๆ
ซึ่งในความเห็นของที่ประชุม กนง. เห็นว่าการจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจะเป็นไปได้ ในเรื่องของความช่วยเหลือผ่านมาตรการของรัฐ จะต้องมีความต่อเนื่อง และการประสานนโยบายมีความสำคัญ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ และมาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจ และดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้
เห็นได้ชัดว่า ช่วง 4-5 เดือนนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย จากการแข่งขันของไวรัสที่กลายพันธุ์ และการจัดหารวมถึงการกระจายวัคซีน โดยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบาง สายป่านสั้น ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือทุกอย่างของภาครัฐและ ธปท.จะต้องเน้นผลักดันมาตรการที่มีอยู่ให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติมากที่สุด.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |