ดับนิวไฮชู‘ขนมครก’ปราบโควิด


เพิ่มเพื่อน    

โควิดแรงต่อเนื่องยอดติดเชื้อใหม่ 3,174 ราย เสียชีวิตนิวไฮ 51 ราย คลัสเตอร์ใหม่กระจายหลายพื้นที่ "กทม." เพิ่มอีก 2 แห่ง เฝ้าระวังรวม 96 แห่ง "ศบค." ห่วงกราฟผู้ป่วยใส่ท่อหายใจพุ่งขึ้น รับข้อเสนอล็อกดาวน์เมืองกรุง แต่หวั่นแรงงานทะลักออก ตจว. ขอใช้แค่ปรับแผนคุมเข้มแหล่งติดเชื้อก่อน "สธ." เล็งยกระดับ รพ.สนาม 4 มุมเมืองแก้วิกฤติเตียง งัดยุทธศาสตร์ขนมครกสู้โควิดปากน้ำ "บิ๊กตู่" ถกภาคเอกชนร่วมมือรับเปิดประเทศใน 120 วัน
    เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,174 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,112 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,392 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 720 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 36 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 26 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 228,539 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 1,941 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 189,777 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 37,018 ราย อาการหนัก 1,526 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 25 ราย อยู่ใน กทม. 34 ราย ปทุมธานี สมุทรปราการ จังหวัดละ 3 ราย ชลบุรี นครปฐม จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี ราชบุรี ยะลา ปราจีนบุรี สงขลา สระแก้ว และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,744 ราย 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด กทม. 956 ราย สมุทรปราการ 501 ราย สมุทรสาคร 240 ราย สงขลา 185 ราย ชลบุรี 142 ราย ปัตตานี 120 ราย ปทุมธานี 93 ราย ราชบุรี 91 ราย นราธิวาส 89 ราย และนครปฐม 79 ราย ทั้งนี้ กทม.มีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังทั้งหมด 96 แห่ง และมีคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง คือ โรงงานเย็บผ้า ซอยประดู่ 1 เขตบางคอแหลม 5 ราย โรงงานทำจิวเวลรี่ เขตคลองสาน 5 ราย ส่วนในจังหวัดอื่นๆมีคลัสเตอร์ใหม่คือ โรงงานน้ำแข็ง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ 17 ราย บริษัทก่อสร้าง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 167 ราย โรงงานผลิตยางรถยนต์ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 5 ราย และโรงงานอาหารทะเลแปรรูป อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 6 ราย บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อ.หนองแค จ.ปทุมธานี 22 ราย ค่ายทหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี 73 ราย
    "ที่ประชุม ศปก.ศบค.ให้ความห่วงใยเรื่องของผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งกราฟนั้นพุ่งสูงขึ้น ที่แต่เดิมจะอยู่เฉพาะใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งขณะนี้ในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน สอดคล้องกับการระบาดระลอกปลายปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่สมุทรสาครแล้วมาบวกกับ กทม. อ่างทอง ระยอง และชลบุรี จะเห็นว่าความสูงของกราฟไม่เท่ากับการระบาดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาที่ขณะนั้นเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ แต่เราจะเห็นกราฟผู้ที่เดินเข้ามารักษาในโรงพยาบาลช่วงหลังสงกรานต์จะเยอะกว่าการค้นหาเชิงรุกในชุมชน แต่พอมาดูในเดือน มิ.ย.ที่เพิ่มขึ้นมา กราฟตอนนี้มีความน่าห่วงใยว่า ผู้ที่เดินเข้ามารักษาในโรงพยาบาลยังพุ่งขึ้นตลอด ขณะที่การค้นหาเชิงรุกแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ฉะนั้นข้อห่วงใยตรงนี้เราต้องช่วยกันในการจัดการกับโรค ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อไม่ให้เห็นตัวเลขที่พุ่งขึ้นมากกว่านี้ นี่คือสิ่งที่เราส่อแววของการออกข่าวมาว่า ผู้ที่รักษาพยาบาลบอกว่าล้นแล้ว และภาพของคนที่รอเตียงไม่สามารถเข้าไปได้ ที่ประชุมจึงวิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยระดับสีเขียวลดลงหรือกระจายจากโรงพยาบาลไปที่อื่นๆ ซึ่งโรงพยาบาลสนามเราก็ทำเต็มที่และต้องเปิดพื้นที่ดูแลสีแดงให้มากขึ้น ที่ประชุมจึงพูดถึงโมเดลหลายที่ โดยเฉพาะภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกัน เดี๋ยวคงจะได้เห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีข้อเสนอจากทางแพทย์ต้องการให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ อย่างน้อย 7 วัน เพื่อลดการเคลื่อนย้าย ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ โฆษก ศบค.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวด้วยความยินดีในหลายเรื่องที่ต้องนำมาพูดคุยและครุ่นคิด ถกแถลงกันในที่ประชุม เราได้รับทราบแล้วว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่ได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติในปัจจุบันนี้เราก็ดำเนินการอยู่ แต่เป็นลักษณะเฉพาะจุดเฉพาะที่ เกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น เช่น แคมป์คนงาน โรงงาน หลายแห่งหลายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละมาตรการนั้นก็จะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่จะต้องนำมาไตร่ตรองกัน การปิดพื้นที่โรงงานก็อาจทำให้เกิดการกระจายของคนที่ไม่มีงานทำก็จะเดินทางไปต่างจังหวัด ก็จะเพิ่มปัญหาไปอีก ดังนั้นต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างดี
ยกระดับ รพ.แก้เตียงวิกฤติ
    “การปิด กทม.อย่างที่ทราบกันว่าคนกรุงเทพฯ จริงไม่ได้มีมาก แต่จะเป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าปิด กทม.อาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายกลับไปต่างจังหวัด ทำให้เกิดการติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วยก็ได้ ดังนั้นจึงต้องผสมผสาน ที่สำคัญขณะนี้ข้อสรุปคือจะทำลักษณะบับเบิลแอนด์ซีล โดย ผอ.ศปก.ศบค.ได้ให้คำนิยามว่า บับเบิลแอนด์ซีลของแต่ละที่นั้นตรงกันหรือไม่ เพราะเราจะได้เห็นจาก จ.สมุทรสาคร ที่ยอมให้โรงงานเปิดได้ แต่ต้องดูแลเรื่องการนำพาแรงงานมาสู่โรงงานที่เรียกบับเบิลแอนด์ซีลนั้นเขาทำได้เป็นอย่างดี ซึ่งทาง กทม.ก็ต้องดูแลเป็นอย่างดีด้วย แต่เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะ กทม.มีจำนวนคนเยอะกว่า ความซับซ้อนขององค์กร ของสถานที่ก็มีมากกว่า” โฆษก ศบค.กล่าว
    ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาการรองรับผู้ป่วยโควิดว่า สธ.กำลังเร่งดำเนินการเปิดเตียงและห้องไอซียู รพ.หลักให้มากที่สุด โดยจะต้องไปยกระดับ เพิ่มศักยภาพ รพ.สนามให้เป็นแบบ รพ.บุษราคัมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับ รพ.สนาม 4 มุมเมืองให้มีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ยังขาดห้องไอซียู ซึ่งสามารถจัดได้ภายใน 7 วัน ทั้งนี้ จะพิจารณา รพ.ที่รองรับได้ราว 200 เตียง หากหาได้ 5 แห่ง ก็รองรับได้ 1,000 เตียง พอๆ กับศักยภาพ รพ.บุษราคัม ที่รองรับได้ราว 1,200 เตียง เพราะในเดือน ส.ค.ทาง รพ.บุษราคัมจะต้องคืนพื้นที่ให้กับอิมแพ็คอารีนาแล้ว นอกจากนี้อาจจะยกระดับจากศูนย์นิมิบุตร หรืออินดอร์สเตเดี้ยม เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองด้วย 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ตนและ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ประชุมหารือร่วมกับนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สมุทรปราการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการควบคุมโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ว่า สถานการณ์การระบาดใน จ.สมุทรปราการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์ขนมครก โดยสุ่มตรวจพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนที่มีการติดเชื้อ เมื่อพบผู้ติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษาและใช้วัคซีนฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่นั้น โดยกำหนดจำนวนให้เหมาะสมเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในพื้นที่เขตบางแค และคลองเตย กรุงเทพมหานคร
    “เมื่อดำเนินการควบคุมโรคแบบขนมครกเป็นจุดเล็กๆ ในทุกพื้นที่ และกระจายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะควบคุมโรคเป็นพื้นที่ใหญ่ได้ โดยจะนำร่องในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ
ในการควบคุมโรค เนื่องจากการควบคุมโรคจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยมาตรการทางสังคม ความมั่นคง และ
ทางปกครองเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่ด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว” ปลัด สธ.กล่าว
    วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือนโยบายช่วยเหลือ SMEs โดยได้เชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทยและสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมหารือถึงนโยบายและมาตรการช่วยเหลือ SMEs ลดภาระต้นทุน เพิ่มสภาพคล่อง และเสริมรายได้เพิ่ม เพื่อให้ SMEs สามารถประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติโควิด-19 และไปต่อได้ 
จับเข่าเอกชนรับเปิดประเทศ
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ระหว่างการประชุม นายกฯ กล่าวว่า ภาคเอกชนถือเป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาล ในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน SMEs ตามแนวทางและมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะการจูงใจให้ SMEs มาจดทะเบียนกับภาครัฐ เพื่อให้เข้าถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ช่วยเสริมสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนให้ได้รับสินเชื่อ/สินเชื่อ Factoring ดอกเบี้ยต่ำ ร่นระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าแก่ SMEs ที่เป็นผู้ขายให้เร็วขึ้น จับคู่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้กับ SMEs ในการพัฒนาทักษะที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ
    "นายกฯ ได้ขอให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หารือร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเพื่อเพิ่มบทบาทในการสนับสนุน SME ที่สอดรับกับความต้องการของ SME โดยแท้จริงอีกด้วย รวมทั้งสั่งการให้เร่งประชาสัมพันธ์และขยายผลมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน และการเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยจะให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแนวทางที่ได้มีการหารือทันที เพราะ SMEs จำนวนมากกำลังประสบปัญหาในทุกวันนี้ ซึ่งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ตอบรับแนวทางนโยบายการเปิดประเทศ 120 วัน พร้อมสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามแผนเปิดประเทศ และจะใช้ภูเก็ตโมเดลเป็นต้นแบบ" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว 
    ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าแห่งประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนนายกฯ และรัฐบาลในการเปิดประเทศไทย 120 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์คือเงินใหม่ที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ เพราะทุกวันนี้เรากินบุญเก่าใช้เงินเดิมเยียวยา และหามาตรการกระตุ้นเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีพึ่งหวังเงินจากรัฐบาล ดังนั้นสรุปแล้วการท่องเที่ยวจะต้องเปิด เพื่อให้นักธุรกิจนักลงทุนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยด้วย และคนไทยก็จะได้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปหาออเดอร์สินค้าต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ 
    "นายกฯ บอกว่า หาวัคซีนมาฉีดให้กับคนไทยให้ได้ 50 ล้านคน ซึ่งทำให้เรามีความสบายใจ ขณะเดียวกันหน่วยงานด้านสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องหาวิธีไม่ให้เกิดโรคระบาดซ้ำหนักมากขึ้น โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ต้องหาวิธีช่วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขยายตัวยิ่งขึ้น ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันบูรณาการงานทุกภาคส่วน จะปล่อยให้นายกฯ ดำเนินการแก้ไขคนเดียวไม่ได้" นายสนั่นกล่าว
    ถามว่ามีแพทย์เสนอให้ล็อกดาวน์ กทม. 7 วัน ตรงนี้หอการค้าไทยมีความกังวลใดหรือไม่ ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เราต้องมาตั้งคำถามกันก่อนว่าทำไมเราถึงต้องเปิดประเทศ อีกทั้งโควิด-19 ก็ต้องอยู่กับเราตลอดไป เราจึงต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่กับโควิด-19 และปรับตัวให้เปิดประเทศได้ หากเรามัวแต่กลัวอย่างเดียว ขณะที่คนอื่นเขาเปิดไปแล้วเราก็จะเสียโอกาส ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียงอย่างเดียวก็จะทำให้คนไทยเรามีความปลอดภัย เช่น บางประเทศที่วัคซีนเข้าถึงเศรษฐกิจของเขาก็กลับคืนมาเร็วมาก และใครที่จะเข้าประเทศ เราก็มีมาตรการป้องกันที่รัดกุม ฉะนั้นยืนยันว่า 120 วันนี้ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะถือเป็นหน้าที่ 
    ส่วน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้เสนอให้นายกฯ เร่งช่วยแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เรียบร้อยก่อน 120 วันที่จะมีการเปิดประเทศ พอถึงเวลาเปิดประเทศจะได้มีเงินไหลเข้ามาทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งการที่นายกฯ เรียกประชุมเองก็เป็นหนทางที่สดใส เพราะปัญหาหลักของเอสเอ็มอีตอนนี้คือการแก้ไขหลักเกณฑ์หนี้เสีย และหลักเกณฑ์ในด้านอื่นจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะหากเป็นกลไกเดิมถึงอย่างไรก็ขออนุมัติไม่ผ่าน จึงต้องแก้กลไกของธนาคารและลดขั้นตอนต่างๆ ลง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"