ถกแก้ รธน.วันแรก ส.ว.ปะทะ ส.ส.เดือด! ฝ่ายค้านจี้บรรจุร่างแก้ ม.256 แต่ “ชวน” ยันต้องยึดคำวินิจฉัยศาล รธน. “ไพบูลย์” รับปาก ส.ว.แก้ ม.144, 185 ในชั้น กมธ.กลับไปยึดหลักการเดิม แต่ยกเว้น ส.ส.-ส.ว.ติดต่อหน่วยงานราชการเพื่อช่วยเหลือ ปชช.ได้ “ส.ว.วันชัย“ อัด ส.ส.เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้ ส.ว. “ส.ส.พปชร.” โวยเสียดสีรัฐสภาจี้ให้ลาออก “คารม” โต้อย่าทำตัวเป็นผู้วิเศษ “กิตติศักดิ์” ฉะ “โรม” ส.ส.ปัดเศษ เจอ “วิโรจน์” สวนกลับให้เกียรติ “ไพบูลย์” ด้วย “สุรชัย” ซัด ส.ส.หยุดเอาสิทธิเสรีภาพ ปชช.บังหน้ามัดมือชก ส.ว. ขณะที่นายกฯ ค้านแก้ ม.144, 185 ชี้เป็นหัวใจป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
ที่รัฐสภา ถนนเกียกกาย วันที่ 23 มิถุนายน มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอจำนวน 13 ฉบับเป็นวันแรก
ก่อนการประชุม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้จะเรียงลำดับโดยเริ่มที่ร่างของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 1 ร่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) 4 ร่าง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 2 ร่าง และพรรค ปชป. 6 ร่าง เมื่อเสนอร่างครบเสร็จแล้วจะอภิปรายร่วมกัน เชื่อว่าแต่ละฝ่ายจะทำให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถ้าเป็นไปตามข้อตกลงจะลงมติในเวลา 16.00 น.ของวันที่ 24 มิถุนายน และสามารถเสนอชื่อกรรมาธิการ 45 คนได้ก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 24 มิถุนายน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรค พปชร.ว่า ยืนยันจะไม่แก้มาตรา 144, 185 เรื่องนี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค ในฐานะผู้เสนอร่างให้สัมภาษณ์ไปแล้ว จะมีการปรับร่างที่ยื่นไปแล้วของพรรค พปชร. ทั้งนี้แต่ละพรรคยื่นข้อเสนอมาเพื่อแก้ไข ก็ต้องไปคุยกันในสภา ซึ่งแกนนำพรรคร่วมได้คุยกัน พูดกันทุกเรื่องรวมทั้งประเด็นบัตรเลือกตั้งด้วย
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวถึงจุดยืนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับว่า ภายหลังจากที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะผู้เสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้พูดคุยกับ ส.ว. ก็ได้ยอมถอยในส่วนของมาตรา 144 และมาตรา 185 โดยการพิจารณาวาระ 2 ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะเสนอให้ กมธ.แก้ไขกลับไปใช้ตามหลักการเดิมของรัฐธรรมนูญ 2560 ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและขอขอบคุณนายไพบูลย์ หากไม่เป็นไปตามที่พูดคุยกันจะยอมให้ ส.ว.ล้มในวาระ 3 ทำให้ในขณะนี้ ส.ว.คลายความกังวล เพราะมีความชัดเจนว่า ส.ว.จะได้ไม่เป็นแพะรับบาป
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ไว้ใจไม่ได้ เนื่องจากในชั้นกรรมาธิการแปรญัตติ อาจมีการอ้างได้ว่าไม่สามารถแก้ไขให้ผิดไปจากหลักการที่ได้รับรองในวาระที่ 1 แล้ว ทางที่ดีต้องไม่รับหลักการข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่วาระแรก หรือถ้าไม่ยอมถอนร่างข้อเสนอออกไปก็ขอให้ตัดถ้อยคำในหลักการและเนื้อหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับมาตรา 144 และ 185 ออกไป มิเช่นนั้นก็ขอให้ ส.ส.และ ส.ว.โหวตให้ข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐตกไป
ต่อมาเวลา 09.50 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอ จำนวน 13 ฉบับ โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ขอหารือถึงการไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และเพิ่มหมวด 15/1 ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของฝ่ายค้านเป็นระเบียบวาระการประชุมว่า เหตุผลที่จะต้องบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะรัฐสภาต้องมีสารตั้งต้น ลองนึกภาพว่าถ้าผลการทำประชามติออกมาว่าให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาจะดำเนินการอย่างไร เราจะดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ ดังนั้นการจะตีความว่าการมีหมวด 15/1 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นการตีความเกินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ประธานรัฐสภาได้ทบทวน
'ชวน' ยึดคำวินิจฉัยศาล รธน.
ด้านนายชวนชี้แจงว่า หลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวที่เสนอในครั้งนี้เป็นของเดิมกับครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เหมือนกันหมด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยและให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นการแก้ไขหลักการและเหตุผลสำคัญ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการทำประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน ดังนั้นเราจึงต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อตนดูแล้วก็เห็นว่าบรรจุไม่ได้ เพราะถ้าบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ เท่ากับตนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลที่มีความผูกพันทุกองค์กร และแน่นอนว่าตนจะต้องทำผิดศาลรัฐธรรมนูญแน่ ขอให้เชื่อว่าตนตัดสินโดยยึดความถูกต้องเป็นหลัก
จากนั้นที่ประชุมเริ่มพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยในลำดับแรกให้แต่ละพรรคลุกขึ้นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของตนเอง นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรค พปชร.ตอนหนึ่งว่า มี 5 ประเด็น 13 มาตรา ได้แก่ 1.การแก้ไขมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45 เพื่อเพิ่มการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน 2.การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้แก่ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคใดที่ส่ง ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 คนให้มีสิทธิ์ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ พรรคใดจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่า 1% ป้องกันปัญหาการเป็น ส.ส.ปัดเศษ
3.การแก้ไขมาตรา 144 ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส., ส.ว.และ กมธ.ที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม แต่เมื่อมี ส.ว.ทักท้วงว่าการแก้ไขดังกล่าวทำให้หลักการตรวจสอบงบประมาณที่รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้อย่างเข้มข้นสูญเสียไป ตนก็เห็นด้วยและรับปากว่า หากรับหลักการแก้ไขวาระที่หนึ่งแล้ว การพิจารณาในชั้น กมธ. ตนและพรรคพลังประชารัฐจะเสนอแก้ไขมาตรา 144 ให้คงหลักการเข้มข้นของรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้ตามเดิม ให้สบายใจได้ แต่ขอหารือว่าควรพิจารณาถึงเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่ได้รับผลกระทบจากมาตรานี้ จะหาวิธีผ่อนคลายอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณไม่กล้ามาเป็น กมธ.งบประมาณ เพราะกลัวเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงตามมาตรา 144
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า 4.การแก้ไขมาตรา 185 เรื่องการยกเลิกการห้าม ส.ส.-ส.ว.เข้าไปแทรกแซง ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการ ที่ ส.ว.เป็นห่วงเช่นกันว่า จะทำลายหลักการการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของข้าราชการนั้น ก็รับปากว่าหากรับหลักการวาระที่หนึ่ง จะไปผลักดันในชั้น กมธ.ให้คงหลักการป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานข้าราชการไว้ตามเดิม แต่ขอเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้นโดยยกเว้นกรณี ส.ส.-ส.ว.ไปติดต่อหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ไม่ให้ถือเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานหน่วยราชการ และ 5.ให้ยกเลิกมาตรา 270 ขอเปลี่ยนแปลงอำนาจวุฒิสภาในการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ มาเป็นให้อำนาจ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ
จากนั้นเวลา 11.15 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ร่างว่า เริ่มจากร่างที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรค 5 ของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 45 และมาตรา 47 เพิ่มสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญเป็นมาตรา 49/1 และเพิ่มอำนาจของคณะกรรมาธิการที่จะเรียกเอกสารหรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ร่างที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 มาตรา 85 มาตรา 91 และมาตรา 92 และยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94 ร่างที่ 3 (1) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และ (2) ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกฯ และร่างที่ 4 แก้ไขเพิ่มเติม (1) หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ โดยยกเลิกมาตรา 65 เกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (2) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 152 และมาตรา 162 โดยตัดคำว่ายุทธศาสตร์ชาติออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 (3) ยกเลิกมาตรา 270 มาตรา 271 และมาตรา 275 เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเลิกมาตรา 65 และเป็นการยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาบางเรื่อง และ (4) ยกเลิกมาตรา 279
'ภท.-ปชป.' ยันปิดสวิตช์ ส.ว.
จากนั้นเวลา 12.00 น. นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แก้ไขมาตรา 55 โดยเพิ่มมาตรา 55/1 ให้ประชาชนมีรายได้พื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างทั่วถึง โดยประชาชนไม่ต้องเรียกร้อง แต่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐจัดให้ประชาชนมีรายได้ทั่วหน้า ให้เงินสดแก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง
หลักประกันถ้วนหน้ารักษาทุกโรค สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมี ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่เหมาะสม จึงเห็นสมควรให้แก้มาตรา 65 กำหนดยุทธศาสตร์ชาติสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สาม เสนอเหมือนกับพรรคประชาธิปัตย์ คือมาตรา 159 ที่มาของนายกฯ และยกเลิกมาตรา 272 การให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ
จากนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้ 1.แก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา ว่าด้วยสิทธิในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิที่ดินทำกิน, สิทธิผู้บริโภค และสิทธิชุมชน, 2.มาตราว่าด้วยการกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น 3.เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการ ป.ป.ช. โดยเสนอแก้ 2 มาตรา คือมาตรา 236 และมาตรา 237 4.เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5.เรื่องระบบเลือกตั้งควรมีบัตร 2 ใบ เพื่อเลือกแยกคนและแยกพรรคได้ และ 6.ประเด็นการแก้ไขมาตรา 272 เรื่องการเลือกนายกฯ เห็นว่า ส.ว.ไม่ควรมีอำนาจไปถึงการเลือกนายกฯ แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเช่นเดียวกับ ส.ส.ได้ ดังนั้นการแก้มาตรา 272 จึงเป็นเพียงการย่นระยะเวลาในบทเฉพาะกาล 5 ปี เพื่อกลับสู่หลักการประชาธิปไตยถูกต้องและเร็วขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการปลดล็อกเงื่อนไขข้อจำกัดและข้อขัดแย้งทางการเมืองได้อีกระดับ
จากนั้นเวลา 12.55 น. นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.ได้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรกว่า จากการพิจารณาทุกร่างรัฐธรรมนูญพอสรุปได้ว่า ถ้ามีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจะทำให้พรรคเล็กหายไป พรรคใหญ่จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชน มีอิทธิพลล้วงลูกและก้าวก่าย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณและข้าราชการประจำ ส่วนการปิดสวิทช์ ส.ว.นั้น ตนสนับสนุนให้ตัดอำนาจ ส.ว.ในเรื่องนี้ แต่พรรคการเมืองที่เสนอมาตนก็อยากใช้คำพูดว่ากินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ทำทีเรียกร้องประชาธิปไตย เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ ส.ว. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในส่วนระบบเลือกตั้งต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและเป็นเจ้าของพรรค มีส่วนร่วมในการคัดคนลงเลือกตั้ง เสียงของประชาชนมีคุณค่าไม่ทิ้งน้ำ แต่ที่เสนอแก้มานี้พรรคเล็กพรรคน้อยจะหายไป พรรคใหญ่ๆ ทุนหนาจะผงาด นายทุนพรรคจะครอบงำ พรรคคนมีเงินมีอำนาจจะมีบทบาท ธุรกิจการเมืองกำลังจะกลับมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายวันชัยอภิปรายอยู่นั้น นายวิโรจน์ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ประท้วงนายวันชัยเพราะอภิปรายเสียดสีสมาชิกรัฐสภา และเรียกร้องให้นายวันชัยลาออกจากตำแหน่ง ส.ว. เพราะนายวันชัยกำลังเป็นรอยด่างของระบอบประชาธิปไตย
จากนั้นนายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงซ้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้ประเทศดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนอื่นเลวทั้งหมด อย่าเป็นผู้ใหญ่แต่อายุ แต่ต้องฝึกความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเองด้วย ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ขอให้นายวันชัยพูดตรงประเด็นในเนื้อหาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้านนายวันชัยยืนยันไม่ได้ว่าใคร และที่ผ่านมาเมื่อมีการพูดถึง ส.ว.จะโจมตี ส.ว.อย่างรุนแรง จากนั้นได้อภิปรายต่อถึงการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และทันทีที่นายวันชัยอภิปรายเสร็จสิ้น นายคารมยังคงลุกขึ้นประท้วงว่าขอให้ประธานกำชับ ถ้าทำตัวเป็นผู้วิเศษ ประธานต้องควบคุม ขณะที่นายวันชัยโต้ว่าไม่ทราบว่านายคารมมีอะไรเป็นพิเศษกับตนหรือไม่ และขอให้นายคารมหาพรรคอยู่ให้ได้ก็แล้วกัน
'ส.ว.-ส.ส.' โต้กันเดือด
ต่อมาเวลา 13.45 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อดห่วงไม่ได้ว่าจะถอยหลังไปสู่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่มีหลักการใหม่ช่วยพัฒนาระบบการเมืองประเทศให้เป็นสถาบันการเมืองของประชาชน ส่วนการตัดมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ นั้น ตนไม่ขัดข้อง เพราะ ส.ว.เป็นแค่อำนาจปลายทางในการเห็นชอบนายกฯ แต่ต้นทางอยู่ที่ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อ ประเด็นทั้งหมดที่เสนอเข้ามาเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชนเชื่อว่า ส.ว.เห็นด้วย แต่อย่าเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นตัวประกันไปผูกรวมเรื่องอื่น ส.ว.หนักใจในการให้ความเห็นชอบที่มัดมือชก เอาสิทธิเสรีภาพบังหน้า เอาประโยชน์ ส.ส.มาผูกรวมกัน นี่คือความจำเป็นต้องมีสองสภาคอยกลั่นกรอง นี่คือคำตอบว่ามี ส.ว.ไว้ทำไม
จากนั้นนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า ถ้าจะมีประเด็นที่สำคัญต้องแก้ไขเร่งด่วนที่สุด พรรคก้าวไกลเห็นว่าต้องแก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ เราต้องยอมรับความจริงว่า ส.ว.ชุดนี้คือกลไกการสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ การที่ผู้ใดจะมีความชอบธรรมในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงสุดในการพัฒนาบ้านเมือง ผู้ที่จะเลือกนายกฯ ต้องได้รับมอบอำนาจจากประชาชน ซึ่ง ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้มีความชอบธรรมนั้น
ระหว่างนั้นนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วงนายรังสิมันต์ว่า ส.ว.ได้อำนาจเลือกนายกฯ มาจากประชาชน 16 ล้านเสียงสนับสนุน แต่นายรังสิมันต์ได้คะแนนแบบปัดเศษมาจึงได้เป็น ส.ส. จากนั้นนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นโต้ตอบ โดยถามว่านายกิตติศักดิ์ประท้วงเรื่องอะไร ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานการประชุมห้ามไม่ให้ทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันอีก จากนั้นนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นายกิตติศักดิ์กล่าวถึง ส.ส.ปัดเศษ เท่ากับว่ากำลังพูดถึงนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ตนขอความกรุณาให้เกียรตินายไพบูลย์ด้วย จากนั้นนายพรเพชรได้ขอให้นายรังสิมันต์อย่าเสียดสี ส.ว.อีกและเชิญให้อภิปรายต่อ
ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว จากนั้นเกิดปัญหาที่ทุกพรรคการเมืองบอกว่าสลับซับซ้อน ไม่ยุติธรรม หากยังใช้ระบบนี้ต่อไปอาจจะมีปัญหาได้ จึงได้เสนอแก้ไขมา ส่วนตัวสนับสนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และควรใช้วิธีการคำนวณแบบระบบเยอรมัน แต่สิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมานั้น เป็นการคำนวณ ส.ส.เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 หมดเลย หากมีการแก้ไขในอนาคตอันใกล้ อาจทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทยที่ได้ ส.ส.มากถึง 377 เสียง ทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา สามารถยกร่างแก้ไขกฎหมายได้ตามอำเภอใจ แต่เมื่อไม่มีทางเลือก ส่วนตัวจะสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญญัตติที่ 1-3-13 ไปก่อน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 144 และ 185 เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวได้วางหลักการสำคัญห้ามมิให้ ส.ส.และ ส.ว.เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนในรายการของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่สามารถลดหรือตัดทอนรายจ่ายได้เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญ 2560 นายกรัฐมนตรียังเห็นว่า การจัดทำข้อเสนอโครงการในแต่ละจังหวัด ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นผ่านกระบวนในส่วนต่างๆ ได้ ในส่วนของมาตรา 185 นายกฯ เห็นว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |