24 มิ.ย. ม็อบไล่รัฐบาลขยับ แค่แมตช์อุ่นเครื่อง-รอสถานการณ์สุกงอม


เพิ่มเพื่อน    

  

24 มิ.ย.2564 ตามปฏิทินการเมืองที่กำหนดไว้ หากไม่มีการขยับออกไปจะเป็นวันที่รัฐสภาจะลงมติ "เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 13 ร่าง ทั้งของพรรคพลังประชารัฐ-พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน วาระแรกขั้นรับหลักการ หลังการประชุมร่วมรัฐสภานัดแรกเมื่อ 23 มิ.ย. ดำเนินไปอย่างร้อนแรงเข้มข้น

            ขณะเดียวกัน วันที่ 24 มิ.ย. ที่เป็นวันครบรอบ 89 ปี ที่คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิ.ย.2475

            ทำให้ 24 มิ.ย.นี้ กลุ่มการเมือง-กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เลยใช้วันพฤหัสบดีนี้เป็นวันเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ เพื่อออกมาทำกิจกรรมการเมือง นัดรวมตัว แสดงออก เพื่อกดดัน-ขับไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ รวมถึงเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

            ไม่ว่าจะเป็น "กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนฯ" ที่นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์-อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ นัดรวมตัวเวลา 16.00 น. ที่แยกผ่านฟ้าฯ จากนั้นจะเคลื่อนแถวไปยังทำเนียบรัฐบาล และ "กลุ่มประชาชนคนไทย" นำโดย นิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา นัดรวมตัวเวลา 14.00 น. ที่แยกอุรุพงษ์ จากนั้นเคลื่อนมวลชนไปยังทำเนียบรัฐบาลฝั่งกรมหลวงชุมพรฯ ถนนพิษณุโลก โดยแนวทางการเคลื่อนไหวของสองกลุ่มข้างต้นมีเหมือนกันคือ เรียกร้องให้บิ๊กตู่ลาออกจากนายกฯ

            ขณะที่กลุ่มแนวร่วม "ม็อบสามนิ้ว" ที่นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมซึ่งมีหัวหอกหลัก "พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน-น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง" ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันพุธที่ 23 มิ.ย. มีการแจ้งนัดหมายการเคลื่อนไหวผ่านเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ภายใต้แคมเปญ "24 มิถุนา ตื่นเช้ามาสานต่อภารกิจคณะราษฎร" โดยมีการแจ้งถึงการทำกิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ไว้ว่า

            "ครบรอบ 89 ปี อภิวัฒน์สยาม ราษฎรในกรุงเทพฯ เตรียมตัวพบกับกิจกรรมรำลึกถึงภารกิจเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร 2475 และมาร่วมแสดงพลังต่อต้านรัฐธรรมนูญเผด็จการได้ตลอดทั้งวัน มาช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้ 24 มิถุนานี้เป็นอีกก้าวที่เราจะเข้าใกล้ประชาธิปไตย

            . 05.30 น. จุดเทียนอ่านประกาศคณะราษฎร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

           10.00 น. ตั้งขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าไปยังรัฐสภา เกียกกาย เพื่อยื่นหนังสือแสดงจุดยืนราษฎร

            17.00 น. ย้ำข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ ณ สกายวอล์ก แยกปทุมวัน"

           อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแนวร่วมม็อบสามนิ้ว-คณะราษฎร 63 ก็มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิมมากนัก เพราะแกนนำส่วนใหญ่มีข้อตกลง "เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว" ที่ได้ทำไว้กับศาล ซึ่งแกนนำถูกยื่นฟ้องตกเป็นจำเลยในคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดี 112 และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ศาลให้ปล่อยตัว แต่สั่ง "ห้ามก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง"

            เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็น "ชนักติดหลัง" แกนนำหลายคนของแนวร่วมม็อบสามนิ้ว ที่ทำให้เมื่อมีการนัดชุมนุมทางการเมืองย่อมขยับได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม เพราะแม้ศาลจะไม่ได้ห้ามการเคลื่อนไหว-การแสดงออกทางการเมือง แต่หากสุดท้ายถ้ามีเหตุการณ์อะไรต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์แทรกซ้อนจนนำไปสู่ความวุ่นวายในการชุมนุม มันก็เสี่ยงที่แกนนำแต่ละคนจะถูกยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวได้

            จุดนี้เลยทำให้แกนนำม็อบแนวร่วมสามนิ้วทั้งในและต่างจังหวัดต้องระวังตัวเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เสี่ยงกับการถอนประกัน จึงไม่แปลกที่หากดูกรอบการเคลื่อนไหวของแนวร่วมม็อบสามนิ้วทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด วันที่ 24 มิ.ย.จะพบว่าวางแนวไว้ในลักษณะไม่ให้เกิดเหตุการเผชิญหน้า พยายามจะทำกิจกรรมแบบจบโดยเร็ว ไม่ยืดเยื้อ

            เพราะก่อนหน้าการเคลื่อนไหวหนึ่งวัน ฝ่ายตำรวจนำโดย "พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล" ก็แถลงข่าวมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยย้ำว่าตำรวจนครบาลจะเน้นรักษาสงบความเรียบร้อยเป็นหลักและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค รวมถึงระบุว่า การชุมนุมหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินคดีทุกราย

                "ส่วนแกนนำบางส่วนที่อยู่ระหว่างการประกันตัวของศาลปล่อยตัวชั่วคราว ที่มีการกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวให้ปฏิบัติตามนั้นด้วย หากพบการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้ศาลพิจารณาต่อไป จะเข้าข่ายหรือไม่อยู่ที่การชุมนุม เพราะเงื่อนไขกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว" ผบช.น.ระบุชัดๆ

            อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหว 24 มิ.ย. หลายฝ่ายแม้แต่กับคนในฝ่ายแนวร่วมที่ออกมาเคลื่อนไหว ก็ยอมรับว่าเป็นแค่แอคชั่นทางการเมืองในจังหวะที่รัฐสภาจะลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และครบรอบ 89 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ละกลุ่มจึงมีการนัดทำกิจกรรมดังกล่าวแบบแม่น้ำหลายสาย ในลักษณะต่างคนต่างเคลื่อน เพราะแต่ละกลุ่มโดยเนื้อแท้ก็มีแนวทางการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้แค่ไม่เหมือนกัน แต่ต่างกันสุดขั้ว เช่น กลุ่มประชาชนคนไทยของนิติธร วางแนวคือ ให้พลเอกประยุทธ์ลาออกเพื่อเปิดทางให้ตั้งรัฐบาลกลาง เอานายกฯ คนนอกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองมาเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจประมาณสองปี เพื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วก็ยุบสภา ซึ่งแนวทางนี้ไปไม่ได้กับม็อบสามนิ้วอยู่แล้ว ที่ไม่เอานายกฯ คนนอก

            เมื่อเป้าหมาย-แนวทางต่างกัน การเคลื่อนไหว 24 มิ.ย. เลยไม่สอดประสาน แวดวงการเมืองเลยประเมินว่า การเคลื่อนไหวรอบนี้ไม่น่าจะมีแนวร่วมมาร่วมกิจกรรมมากเท่าใดนัก

            ที่สำคัญเลยมาเคลื่อนไหวในจังหวะที่ "สถานการณ์ยังไม่สุกงอม" เพราะตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติโควิดหนักหน่วง ตัวเลขคนติดเชื้อโควิดแต่ละวันทะยานแตะระดับสามพันคนขึ้นมาหลายวันแล้ว อีกทั้งยังเจอปัญหาวัคซีนขาดแคลน เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ คนเดือดร้อนไปตามกัน ทำให้แม้ในใจประชาชนจำนวนมากอยากออกมาร่วม "ประท้วง-ขับไล่รัฐบาล" แต่ก็เห็นว่าควรรอให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปก่อน จากนั้นค่อยมาว่ากันทีหลัง

            นัดหมายกิจกรรมการเมือง 24 มิ.ย. จึงเป็นแค่แมตช์อุ่นเครื่อง คนไม่เอารัฐบาล-บิ๊กตู่ของคนบางกลุ่มเพื่อเลี้ยงกระแส และออกมาเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ แต่ของจริง หากคนจะออกมากันมากคงต้องรอให้โควิดคลี่คลายกว่านี้.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"