'เอกชน' เสนอนายกฯแก้ปัญหาหนี้เสียเอสเอ็มอี ก่อนเปิดประเทศ 120 วัน


เพิ่มเพื่อน    

สุพันธุ์ มงคลสุธี

23 มิ.ย.64 - เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับนายกรัฐมนตรีว่า ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีเร่งช่วยแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ให้เรียบร้อยก่อน 120 วันที่จะมีการเปิดประเทศ พอถึงเวลาเปิดประเทศจะได้มีเงินไหลเข้ามาทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งการที่นายกฯเรียกประชุมเองก็เป็นหนทางที่สดใส

“ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีตอนนี้ คือการแก้ไขหลักเกณฑ์หนี้เสีย และหลักเกณฑ์ในด้านอื่นจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ เพราะหากเป็นกลไกเดิมถึงอย่างไรก็ขออนุมัติไม่ผ่าน จึงต้องแก้กลไกของธนาคารและลดขั้นตอนต่างๆลง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ไม่ปกติ นอกจากนั้นหารือว่าจะมีวิธีการให้บริษัทใหญ่ไปช่วยบริษัทขนาดเล็กได้อย่างไร รวมถึงให้สามารถนำใบแจ้งหนี้ไปแสดงเพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ในราคาถูกได้วงเงินเยอะ ต่างจากเดิมที่ดอกเบี้ยแพงแต่ได้เงินน้อย จึงต้องประสานทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารให้ไปดูในเรื่องนี้ และยังมีอีกหน่วยงานที่ช่วยได้คือธนาคารของรัฐ เนื่องจากธนาคารปกติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้คือ จะดูจากโอกาสที่จะทำกำไร เช่น ดูจากของที่เขาวางหลักทรัพย์ จะเพิ่มจำนวนหลักทรัพย์ที่เขามีได้หรือไม่”

ขณะที่ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ได้เสนอให้รัฐบาลดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของเอสเอ็มอีที่เพิ่มขึ้นมากหลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยเสนอให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูเอ็นพีแอลเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลได้ตอบรับที่จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปแล้ว 3.5 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เอ็นพีแอลไปแล้ว 240,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้ของผู้ประกอบการที่ใกล้จะเป็นระดับเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียอยู่ที่ประมาณ 440,000 ล้านบาท หากไม่มีกลไกที่เข้ามาดูแล หนี้ส่วนนี้ก็จะกลายเป็นเอ็นพีแอลที่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะหากรวมทั้ง 2 ส่วนนี้จะเท่ากับ 680,000 ล้านบาท เท่ากับ 20% ของสินเชื่อเอสเอ็มอี จะกระทบกับสถาบันการเงินด้วย จึงเป็นเรื่องที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยและให้ทุกฝ่ายแก้ปัญหาไปด้วยกัน

"มีข้อเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือพักต้นพักดอกเบี้ยในส่วนหนี้เดิม ก็จะได้รับการพักต้นพักดอกโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาฟื้นตัวและเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีใหม่ อย่างที่นายกฯได้ประกาศว่า 120 วัน จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ได้กลับมาฟื้นตัว ไม่ตกอยู่ในกับดักทางการเงิน หรือเกิดหนี้นอกระบบในระยะยาว"นายแสงชัยระบุ

นายแสงชัย กล่าวอีกว่า ส่วนของข้อเสนออื่นๆที่นายกรัฐมนตรีรับไปพิจารณา ได้แก่ ให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน รับไปแก้ไขปัญหาที่เอสเอ็มอีเข้าถึงวงเงินกู้ที่กองทุนประกันสังคมจัดวงเงินไว้ให้ 30,000 ล้านบาทไม่ได้ รวมทั้งเสนอให้มีการปรับนิยามของคำว่าเอสเอ็มอี ซึ่งขอให้ใช้ตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และเสนอหลักเกณฑ์การผ่อนปรนการช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลนให้กับผู้ประกอบการนิติบุคคลที่เสียภาษี ภงด. 50 และผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษี ตาม ภงด. 90 โดยจะต้องนำผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าไปช่วยเหลือในลำดับแรกๆ

แสงชัย ธีรกุลวาณิช


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"