เทรนด์ “อาหารเพื่อสุขภาพ” กำลังมาแรง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่หลายคนออกนอกบ้านน้อยลง การหันมาทำอาหารกินเองที่บ้านจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น การให้ความสนใจ ใส่ใจเกี่ยวกับรายละเอียดของวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารจึงกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามมา
จริงๆ เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพมีหลากหลาย อาทิ อาหารพร้อมปรุง (Meal Kits) ที่เอาใจคนอยากทำอาหาร แต่ไม่อยากตุนวัตถุดิบ ซึ่ง Meal Kits นี้ เป็นการจัดเซตอาหารพร้อมปรุงมาให้แบบเบ็ดเสร็จ ทั้งวัตถุดิบและเครื่องปรุง มีการคำนวณปริมาณมาให้เรียบร้อย เรียกว่าทั้งสะดวกและดีต่อสุขภาพไปในตัว และอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสิร์ฟแบบ Zero Food Waste ที่หันมาให้ความใส่ใจกับการใช้วัตถุดิบให้คุ้มค่ามากขึ้นเพื่อลดขยะที่เกิดจากอาหารนั่นเอง
อีกเทรนด์อาหารที่กำลังมาแรงใน พ.ศ.นี้ ต้องยกให้ Plant-Based Food หรืออาหารที่ทำมาจากพืช เป็นอาหารที่ปรุงมาจากพืช แต่ยังสามารถให้สารอาหารอย่างโปรตีนได้ไม่น้อยกว่าการกินเนื้อสัตว์ เป็นอาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ซึ่งใช้วัตถุดิบที่ทำจากพืชที่ให้โปรตีนสูง อย่าง ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ แต่พัฒนารสชาติ กลิ่น และสีสันให้เหมือนผลิตภัณฑ์จากสัตว์
โดย ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ Plant-Besed Food ว่า เป็นทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหาร รองรับเทรนด์อาหารโลกจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น และกระแสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ที่ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ ขณะเดียวกันก็ยังตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี (Food Tech) ที่เติบโตอย่างมาก อีกทั้งผลจากการระบาดของโควิด-19 รวมทั้งปัญหา Food Security ก็ทำให้ Plant-Based Food มีความจำเป็นมากขึ้น
Krungthai COMPASS ระบุว่า มูลค่าตลาด Plant-Based Food ในประเทศไทย อาจจะแตะระดับ 4.5 หมื่นล้านบาท ได้ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% โดย Plant-Based Food กลุ่มที่น่าจับตามองในไทยส่วนใหญ่ยังสอดคล้องกับเทรนด์ในต่างประเทศ ได้แก่ Plant-Based Meal และ Plant-Based Egg โดย Krungthai COMPASS มองว่าผู้ผลิตอาหารที่มี Potential ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหาร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ รวมทั้งธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน
“Plant-Based Food กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่รู้จักกันในแวดวงจำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติ หรือเฉพาะกลุ่มอาหารสำหรับช่วงเทศกาลกินเจ แต่ตั้งแต่ปี 2562 ดูเหมือนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาด Plant-Based Meat โลก เมื่อ บริษัท Beyond Meat และบริษัท Impossible Foods ได้รับเสียงฮือฮาจากการเปิดตัวเนื้อวัวที่ทำจากพืชที่มีรสชาติ สีสันและเนื้อสัมผัสเหมือนกับเนื้อวัวอย่างมาก”
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ตลาด Plant-Based Food จะเติบโตได้อย่างรวดเร็วและการขยายตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Plant-Based Food จะเป็นโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหารรองรับเทรนด์ในอนาคตที่การบริโภคเนื้อสัตว์อาจโดน Disrupt จากพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ขณะที่แนวโน้มการทำตลาด Plant-Based Food ของธุรกิจ Food Service หลายแห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคจะเป็น Growth Engine ให้ตลาดนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น
และจากการที่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของตลาด Plant-Based Food ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรธุรกิจ ดังนั้นการทำตลาดของผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับช่องทางการขยายและฐานลูกค้าที่รองรับชัดเจน ขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ตลาด Plant-Based ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ Plant-Based Products ตอบโจทย์ทั้งเรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงผู้ประกอบการที่ต้องการก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Plant-Based Food ควรทำความรู้จักกับ Enablers ที่สำคัญ ได้แก่ 1.Ingredient Makers และ 2.หน่วยงานวิจัยภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา เพื่อให้สามารถวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดได้ง่ายขึ้น.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |