23 มิ.ย. 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้วิเคราะห์ธุรกิจดาวเด่น พบว่า ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ ยังครองแชมป์เบอร์ 1 โดยมีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการจัดตั้งธุรกิจใหม่และผลประกอบการสิ้นปี ส่งผลให้เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจ เพราะความต้องการรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น และล่าสุดมีแนวโน้มความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้ จากข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ ตั้งแต่ปี 2561-64 พบว่า ปี 2561 มีการจัดตั้งธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย ทุนจดทะเบียน 124.50 ล้านบาท ปี 2562 จัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย ทุนจดทะเบียน 820.80 ล้านบาท แต่ในช่วงปี 2563-64 ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อัตราการจดทะเบียนจัดตั้งมีความผันผวนและชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ โดยในปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งจำนวน 17 ราย ทุนจดทะเบียน 83.21 ล้านบาท และ 5 เดือน ปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจ จำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียน 36.50 ล้านบาท
ส่วนมูลค่าการลงทุนในธุรกิจ พบว่า นักลงทุนไทย มีการลงทุนมูลค่า 101,471.45 ล้านบาท ร้อยละ 56.33 ที่เหลือเป็นนักลงทุนต่างชาติ คือ ญี่ปุ่น 70,587.18 ล้านบาท ร้อยละ 39.19 สิงคโปร์ 4,290.14 ล้านบาท ร้อยละ 2.38 มาเลเซีย 1,001.02 ล้านบาท ร้อยละ 0.55 และอื่นๆ 2,784.63 ล้านบาท ร้อยละ 1.55
สำหรับรายได้ของธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2560-62 พบว่า ปี 2560 มีรายได้จำนวน 86,560.40 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้จำนวน 86,080.98 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ 96,622.14 ล้านบาท ส่วนปี 2563 อยู่ระหว่างการวิเคราะห์และประมวลผล โดยรายได้ส่วนใหญ่ของธุรกิจมาจากกลุ่มนิติบุคคลขนาดกลาง (M) โดยในปี 2562 กลุ่มนิติบุคคลขนาดกลาง (M) มีรายได้จำนวน 67,910.25 ล้านบาท ครองสัดส่วนของรายได้ร้อยละ 70 รองลงมา คือ กลุ่มนิติบุคคลขนาดเล็ก (S) ที่มีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 18 ที่เหลือเป็นของกลุ่มนิติบุคคลขนาดใหญ่ (L) ร้อยละ 12
นายทศพล กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ที่มีบริษัทในเครือของบริษัทยานยนต์ และบริษัทในเครือของธนาคารเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจ มีความท้าทายที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้แข่งขันรายใหม่ เช่น บริษัทสินเชื่อ หรือสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ของตลาดยานยนต์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของยานยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค และยังมีเทคโนโลยีการให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ที่เป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคในการเข้าถึงสินเชื่อประเภทต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
“จากปัจจัยดังกล่าว เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ที่จะนำเข้าเทคโนโลยีมาแข่งขันทั้งในด้านของการออกสินเชื่อสำหรับการซื้อยานยนต์ภายในประเทศ ที่ผู้คนต้องการจะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และสินเชื่อประเภททะเบียนยานยนต์ ที่ประชาชนต้องการกระแสเงินสดในการดำรงชีพและการหมุนเวียนทางธุรกิจ”
ทั้งนี้ นโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ส่งผลให้เดือนพ.ค.2564 มีจำนวนการจดทะเบียนใหม่ของยานยนต์ไฟฟ้า 15,506 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.55
ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 มีธุรกิจสินเชื่อจากยานยนต์ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 418 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าการลงทุน 180,134.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.92 ของเงินลงทุนทั้งหมดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 353 ราย (ร้อยละ 84.45) มูลค่าเงินลงทุน 127,367.97 ล้านบาท โดยธุรกิจนี้ส่วนใหญ่มีมูลค่าทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 268 ราย (ร้อยละ 64.11) ธุรกิจส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 144 ราย ร้อยละ 34.45 มีทุนจดทะเบียน 174,159.40 ล้านบาท ร้อยละ 96.68 รองลงมาภาคเหนือ 93 ราย ร้อยละ 22.25 ภาคกลาง 55 ราย ร้อยละ 13.16 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 49 ร้อยละ 11.72 ภาคตะวันออก 37 ราย ร้อยละ 8.85 ภาคตะวันตก 21 ราย ร้อยละ 5.02 และภาคใต้ 19 ราย ร้อยละ 4.55
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |