AI เป็นคำฮิตติดเทรนด์ในยุคนี้ หน่วยงานจำนวนมากทั้งรัฐและเอกชนต่างก็อยากนำ AI มาใช้งาน เพราะเชื่อว่า AI เป็นอะไรที่นำสมัย สามารถพัฒนาองค์กรไปชนิดหน้ามือหลังมือ แต่แท้จริงแล้วความเข้าใจนี้เป็นเพียงส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำเท่านั้น !!
ส่วนที่สำคัญยิ่งยวด คือ ข้อมูลที่นำมาสร้าง AI ที่ต้องเข้าใจคัดเลือกให้ถูกและดูแลมาตั้งแต่กระบวนการสร้างเนื้อข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้น จะเป็น garbage-in-garbage-out คือ ข้อมูลผิดมาสอน AI ก็ได้ AI แบบซื่อบื้อออกมา
นอกจากเรื่องข้อมูลที่ดี ตั้งแต่ขั้นการได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพแล้ว ยังต้องเข้าใจว่า AI ถูกสอนให้ฉลาด (ที่สุด) ตามกรอบของข้อมูลที่ใช้สอนมัน ณ เวลานั้น !! แปลว่าวันหนึ่งหากบริบทเปลี่ยน ประสิทธิภาพการตัดสินใจของ AI ยอมเปลี่ยนไป เช่น นำข้อมูล GPS ของตำแหน่งรถเมล์มาใช้ทำนายเวลาเข้าป้าย ซึ่งข้อมูล GPS นั้นเก็บมาจากบริบทจราจร (ก่อนโควิด) พอหลังโควิดทุกอย่างย่อมผิดเพี้ยนไป หรือ เก็บข้อมูลมาจากโครงข่ายถนน ณ วันนี้ ผ่านไป 3 ปี มีทางด่วน มีถนนสายใหม่ มีรถไฟฟ้า ห้างร้านกิจกรรมต่าง ๆ ตามข้างทางเปลี่ยนไป เช่นนี้ AI ที่ฉลาดในสถานการณ์อดีตย่อมไม่ฉลาดอีกต่อไป การบริหารข้อมูลตรงนี้เป็นความท้าทายในการออกแบบอย่างมาก ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานจริง อาศัยเพียงทฤษฏีหรือหลักวิชาการย่อมไม่เพียงพอ
แม้มีหลายประเด็นเป็นสิ่งท้าทายในการนำ AI มาใช้ แต่รัฐบาลก็มิได้ท้อถอย กล่าวคือ มีการนำแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์เข้าไปเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ (เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2564) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แนวปฎิบัตินี้เน้นสร้างความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของ AI เช่นนี้นับเป็นเรื่องดีเพราะจะได้มีกรอบตั้งต้นในการนำมาใช้งาน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าแนวปฎิบัติมากๆ คือ การนำ AI ไปใช้งานอย่างพอดี อย่างเข้าใจ เช่น การคัดเลือกผู้มีสิทธิรับความช่วยเหลือหรือสวัสดิการจากรัฐ เคยมีผู้กล่าวว่าต้องใช้ AI มาทำการคัดเลือก อันที่จริงตรงนี้ไม่จำเป็นเลย เพราะแค่ผูกสูตรใส่เงื่อนไขธรรมดาก็คิดได้แล้ว ความท้าทายไม่ใช่การใช้ AI แต่เป็นการได้มาซึ่งข้อมูลในมิติต่าง ๆ (เกี่ยวกับผู้ขอรับสิทธิ์) ที่มักมีอยู่แต่กลับไม่ได้มา ได้มาแต่ไม่ทันสมัย ทันสมัยแต่ไม่เป็นความจริง หรือ อาจถึงขั้นไม่มีข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่พร้อมใช้อยู่เลย
ตัวอย่างซึ่งจำเป็นต้องใช้ AI คือ การยืนยันตัวบุคคลแบบออนไลน์ ทุกวันนี้เวลาประชาชนไปติดต่อราชการจะต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนไปด้วยเสมอ หรือไม่ก็ต้องถ่ายสำเนาและเซ็นต์รับรองว่าสำเนานั้นเป็นของจริงยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ (และเก็บเอกสารไว้เป็นหลักฐาน) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบโดยดูว่าหน้าในบัตรและหน้าคนที่มาติดต่อนั้นตรงกัน ส่วนการยืนยันตัวบุคคลแบบออนไลน์ เช่น เราใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่บ้านเปิดกล้องโชว์หน้า ถ่ายภาพนิ่งหรือวิดีโอส่งไป ฝั่งปลายทางก็จะใช้ AI ตรวจสอบหน้าบนบัตรกับหน้าในวิดีโอว่าตรงกันหรือไม่ พร้อมด้วยอาจให้กรอกข้อมูลจำเพาะเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น เลขรหัสเลเซอร์หลังบัตร เพื่อประกอบการพิจารณา เช่นนี้ ถือเป็นการนำ AI มาช่วยลดเวลาการเดินทางและบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้บ้างแล้ว เช่น แอ๊พเป๋าตังค์
การใช้ AI ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็มี เช่น
ตัวอย่างที่อื้อฉาวกันในต่างประเทศแล้วเช่น Facebook-Cambridge Analytica “scandal” ซึ่งเป็นกรณีข้อมูลคนอเมริกันกว่า 87 ล้านคน (ที่ใช้ Facebook) ถูกนำไปป้อนให้กับ AI เพื่อใช้ปลุกปั่นสร้างทัศนคติทางการเมืองให้เป็นไปในแนวทางที่ผู้กระทำต้องการ [3] อย่างไรก็ตาม ต่อมามีข่าวว่า คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Trade Commission) ได้เรียกปรับเงิน Facebook ที่กระทำผิดจรรยาบรรณครั้งนี้ ถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ [4]
แล้วนโยบายสาธารณะเรื่อง AI ควรเน้นอะไร ?
ตามที่กล่าวแล้ว การใช้ AI ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าจริงเป็นเรื่องท้าทายและบางครั้งสุ่มเสี่ยง จึงควร สร้างสิ่งแวดล้อม (สมัยนี้เรียกกะบะทราย Sandbox) ให้คนมาทดลองทำลองเล่น และที่สำคัญคือต้องมีข้อมูลให้เล่น ซึ่งอาจจะใช้วิธีรับบริจาคก็ได้
ตัวอย่างการรณรงค์ บริจาคข้อมูลที่เก๋ไก๋ทันสมัย เช่น โครงการ Mozilla Common Voice [1] ที่รับบริจาคเสียงของคนทั่วโลกเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสอน AI ให้เข้าใจได้ว่ามนุษย์พูดว่าอะไร โครงการดังกล่าวดูแลโดยมูลนิธิชื่อ Mozilla โดยจัดทำเว็บไซต์สำหรับให้ผู้คนเข้ามาทำการอ่านข้อความต่าง ๆ ตามที่กำหนดบนหน้าจอแล้วบันทึกเสียงของตนส่งเข้าไปเก็บในระบบ หลังจากนั้นข้อมูลทั้งหมดก็ถูกรวบรวมตรวจสอบความถูกต้องโดยอาสาสมัครอีกกลุ่ม ก่อนจะนำมาเปิดให้เป็นของสาธารณะใครก็สามารถดาวน์โหลดไปใช้กับงาของตนได้ ซึ่งปัจจุบัน (19 มิถุนายน 2564) มีคนไทยที่บริจาคเสียงภาษาไทยแล้วกว่า 7,200 คน รวมเป็นเวลาเสียงพูดกว่า 115 ชั่วโมง ตรงนี้เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ ก็ยังนับว่าห่างไกลกันมาก เพราะมีผู้บริจาคถึงกว่า 72,000 คน รวมเป็นเวลาเสียงพูดกว่า 1,900 ชั่วโมง
ประเทศจะเดินหน้าได้เร็วเมื่อกำลังคนที่ขับเคลื่อนประเทศไม่ต้องเสียเวลาแก้ปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ต้องลดต้นทุนเวลาที่ใช้รวบรวมข้อมูล ต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์แรงๆ ให้ใช้ลอง AI ต้องเอาตัวจริงงานจริงพร้อมเจ็บจริงมาโชว์จริง และที่สำคัญคือสร้างกลไก ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรุ่งเรือง ที่เกิดการปฎิบัติจริง สร้างวัฒนธรรมที่นับถือคนทำงานและไม่มัวนั่งวิจารณ์หรือเล่นวาทะกรรม คงพอเห็นภาพ ว่านโยบายสาธารณะที่ถูกที่ควรน่าจะเป็นอย่างไร
มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม
ผู้บริหารข้อมูลระดับสูง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
[email protected]; 0991042104
[1] https://commonvoice.mozilla.org/th
[2] https://www.mozilla.org/en-US/
[3] Chan, Rosalie. "The Cambridge Analytica whistleblower explains how the firm used Facebook data to sway elections". Business Insider. Retrieved May 7, 2020.
[4] "Facebook to be fined $5bn for Cambridge Analytica privacy violations – reports | Facebook | The Guardian". amp.theguardian.com. July 12, 2019. Retrieved July 13, 2019.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |