‘ประธานชวน’ทุบโต๊ะยันเขี่ยญัตติฝ่ายค้านยึดความถูกต้อง


เพิ่มเพื่อน    

23 มิ.ย.2564 - ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอ จำนวน 13 ฉบับ โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) หารือถึงการไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และเพิ่มหมวด 15/1 ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝ่ายค้านเป็นระเบียบวาระการประชุม ว่าตามที่คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เพราะมีการเพิ่มหมวด 15/1 ถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงตีความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม จนไม่สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ซึ่งพรรค พท.เห็นว่าต้องมีความชัดเจนในข้อวินิจฉัยมากกว่านี้ และได้ทำเป็นหนังสือให้ประธานรัฐสภาทบทวน

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า เหตุผลที่ต้องบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะรัฐสภาต้องมีสารตั้งต้น  ลองนึกภาพว่าถ้าผลการทำประชามติออกมาว่าให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  รัฐสภาจะดำเนินการอย่างไร เราจะดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับ ดังนั้น การจะตีความว่าการมีหมวด 15/1 เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นการตีความเกินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และปิดกั้นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ อยากให้ประธานรัฐสภาได้ทบทวนบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเชื่ออย่างยิ่งว่าเมื่อบรรจุไปแล้วสมาชิกรัฐสภาจะทำหน้าที่วินิจฉัยเอง และแน่นอนว่าจะมีมติไม่เห็นชอบ แต่ถือว่าสมาชิกได้ทำหน้าที่วินิจฉัยแล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของประธานรัฐสภาวินิจฉัยเองตั้งแต่ต้น  

นายชวน ชี้แจงว่า กระบวนการในการพิจารณากฎหมายนั้น เมื่อมีการเสนอจะมีฝ่ายข้าราชการตรวจสอบอยู่แล้ว ยกเว้นเรื่องใดที่เป็นเรื่องสำคัญจะมีคณะที่ปรึกษาพิจารณาอีกครั้งว่าจะพิจารณาอย่างไร เช่นเดียวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ว่าบรรจุไม่ได้ จากนั้นจึงเสนอมายังตนเองเป็นคนสุดท้าย ว่า หมวด 15/1 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนก็ใช้ความรอบคอบมาก เพราะรู้ว่าถ้าผิดพลาดเกิดผลเสียหาย อย่างไรก็ตาม หลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวที่เสนอในครั้งนี้เป็นของเดิมกับครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เหมือนกันหมด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยและให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นการแก้ไขหลักการและเหตุผลสำคัญ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการทำประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อน ดังนั้น เราจึงต้องยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อดูแล้วก็เห็นว่าบรรจุไม่ได้  เพราะถ้าบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเท่ากับไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล  

“ถ้าเกิดผมบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 เท่ากับผมไม่ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความผูกพันทุกองค์กร และแน่นอนว่าผมจะต้องทำผิดศาลรัฐธรรมนูญแน่ ขอให้เชื่อว่าผมตัดสินโดยยึดความถูกต้องเป็นหลัก” ประธานรัฐสภา กล่าว  

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท.กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่มีใครคิดแต่ต้นว่าประธานจะวินิจฉัยโดยมีอคติ แต่เชื่อแต่ต้นว่ายึดข้อปฏิบัติต่างหาก แต่เราเชื่อว่าประธานอาจวินิจฉัยผิดโดยบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ เมื่อวินิจฉัยว่าไม่บรรจุร่างแก้ไข มาตรา 256 สถานะของร่างแก้ไขนี้เป็นอย่างไร ถือว่าตก หรือไม่ตกอย่างไร และถ้าไม่ตกจะเดินอย่างไรต่อไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านเห็นว่าการยื่นร่างแก้ไขมาตรานี้ เพราะหวังจะให้เป็นต้นเรื่องในการทำประชามติ

นายชวน ชี้แจงกลับว่า ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการว่ากระบวนการลงประชาติต้องทำอย่างไร พบว่า เมื่อ พ.ร.บ.ประชามติ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีกระบวนการเปิดช่องไว้ และมีข้อสังเกต กมธ.ว่าเปิดประชุมรัฐสภาไม่ได้ ก็ต้องหาทางหารือต่อไป อย่างไรก็ตาม เราต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"