ครม.ถกภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังไม่เลื่อนจาก 1 ก.ค. นายกฯ-ท่องเที่ยวยันต้องเดินหน้าเรื่องสุขภาพ-เศรษฐกิจไปคู่กัน เรียก "อนุทิน"-ปลัด สธ.เข้าพบที่ตึกไทยฯ ถามความพร้อม รมว.สธ.ย้ำต้องประเมินความเสี่ยงความคุ้ม-ไม่คุ้มทุกอย่าง ศบค.อ้างในพื้นที่ผู้ป่วยรายใหม่หลักหน่วย ลั่นเปิดได้ก็ปิดได้ “หมอยง” ชี้ 120 วันเปิดประเทศได้หรือไม่อยู่ที่คนไทยช่วยกันหยุดโรค หากยังระบาดพันรายต่อวันเปิดได้คงไม่มีใครมา
เมื่อวันอังคาร มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้ใช้เวลาหารือกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติเปิดรับนักท่องเที่ยวนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. หรือภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กันนานเป็นพิเศษ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้แจ้งเรื่องที่มีหลายภาคส่วนไม่เห็นด้วยกับการเปิดในวันที่ 1 ก.ค.มาถามความเห็นของ ครม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และฝ่ายความมั่นคงได้แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ที่ จ.สงขลาและยะลา ที่มีผู้ติดเชื้อเกือบสามร้อยรายต่อวัน จึงอยากให้ทางจังหวัดคิดให้รอบคอบและเบ็ดเสร็จ ถ้าเกิดคลัสเตอร์ขึ้นมาแล้วเอาไม่อยู่จะทำอย่างไร อยากให้ขยายเวลาเปิดจากวันที่ 1 ก.ค.ไปก่อนได้หรือไม่ อย่าไปมัดตัวเองว่าต้องเป็นวันที่ 1 ก.ค.
ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายืนยันว่า ต้องเดินหน้าเปิดให้ได้ตามแพลนที่วางไว้ หากไม่เปิดจะทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่กว่านี้ เพราะเศรษฐกิจในประเทศมาจากภาคท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การหารือเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากมองว่าพื้นที่ จ.ภูเก็ตไม่ใช่พื้นที่ระบาด แต่ต้องประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะถึงวันเปิดประกอบการพิจารณาไปด้วย โดยวันที่ 25 มิ.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ผู้แทน สธ.จะลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง จากนั้นนายกฯ จะเดินทางไปวันที่ 1 ก.ค. ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่าเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจต้องไปคู่กัน อย่างไรต้องเดินหน้าเปิดให้ได้
ต่อมาเวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าพบที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายอนุทินกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เรียกเข้าพบเพื่อให้มารายงานเรื่องวัคซีน การจัดเตรียมความพร้อมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ในวันที่ 1 ก.ค. เพื่อจะได้พูดคุยว่า เมื่อนายกฯ มีนโยบาย 120 วันแล้ว จะต้องนำนโยบายดังกล่าวมาจัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้นายกฯ ได้รับข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจเมื่อถึงเวลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต่อถึงแม้ตัวเลขระบาดจะเพิ่มขึ้น นายอนุทินกล่าวว่า ข้อสั่งการคือคำสั่ง เมื่อนายกฯ สั่งการก็ต้องหาวิถีทาง หากเปิดประเทศแล้วมีคนติดเชื้อก็ต้องดูว่ายามีความพร้อมหรือไม่ เตียงมีความพร้อมหรือไม่ หากจัดเตรียมความพร้อมได้ ก็สามารถที่จะประกอบการตัดสินใจ
ส่วนที่หลายฝ่ายต้องการชะลอการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปก่อน เนื่องจากเกิดคลัสเตอร์หลายจังหวัดในภาคใต้ทั้ง จ.ยะลาและ จ.สงขลา นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ใช่ว่านายกฯ บอกเปิดใน 120 วันแล้วถึงอย่างไรก็ต้องเปิดให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างนั้นไม่ได้ จะต้องประเมินความเสี่ยง ความคุ้ม ความไม่คุ้มทุกอย่าง ต้องทำอย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าจะให้นายกฯ อยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย โดยให้โควิดสูญสิ้นไปจนหมดเสียก่อนแล้วค่อยเริ่มทำอะไรๆ มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนี้เราก็ปิดมา 2-3 เดือนแล้ว ทุกคนก็ทุกข์ใจไม่น้อย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่าการที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแบบนี้จะต้องมีการทบทวนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือไม่ ขอย้ำว่ามีเปิดได้ก็ปิดได้ และขอยืนยันเราเรียนรู้การจัดการกับโรค เกิดที่ไหนก็ปิดที่นั่น ตอนนี้ถ้าดูตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ จ.ภูเก็ตในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเป็นตัวเลขหลักเดียว เช่นเดียวกับที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน ถ้าการติดเชื้อยังเป็นเช่นนี้ก็ยังคงนโยบายอยู่ เงื่อนไขที่จะทำให้มีการปรับนโยบายนั้น ประกอบด้วย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ กระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอมากกว่า 6 ตำบล และมีการระบาดมากกว่า 3 คลัสเตอร์ ระบาดวงกว้าง หรือความเชื่อมโยงไม่ได้ หรืออัตราครองเตียงมากกว่า 80% และการปรับเปลี่ยนจะเป็นใน 4 ระดับคือ ปรับลดกิจกรรม กำหนดเส้นทาง (sealed route) ให้อยู่เฉพาะในโรงแรม Hotel Quarantine และทบทวนยุติภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายการเปิดประเทศใน 120 วัน ว่า ถ้าถามว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศตอนนี้หรือไม่นั้น ตนคงตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคน ถ้าเราช่วยกันจริงๆ แล้วสมมุติว่าเราช่วยกันควบคุมโรคนี้ให้ได้ มีอัตราการติดเชื้อหลักหน่วยหรือหลักสิบรายต่อวัน แล้วไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น หรือเสียชีวิตแค่วันละคน 2 คน หรือ 3 คน ถึงเวลานั้นก็คิดว่าเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศได้ แต่ถ้ายังมีผู้ป่วยหลักพันคน ถึงเปิดประเทศได้ก็เชื่อว่าไม่มีใครมา เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่ช่วยกันควบคุมการระบาดของโรคนี้ให้ได้เร็วที่สุด
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เรื่องการเปิดประเทศนั้น สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ต้องดูสถานการณ์ แต่เราไม่ได้ไปรอดูวันนั้น การเดินหน้าเปิดประเทศใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. คือ 4 เดือนหลังจากนั้น หมายความว่าการฉีดวัคซีนจนถึงวันนั้นจะครอบคลุมประชากรไทยจำนวนมากพอสมควร ในเปอร์เซ็นต์ที่อาจจะกว่าครึ่งของประชากร โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่จัดทำแซนด์บ็อกซ์ มีการให้วัคซีนไปในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นถ้าลดการระบาดได้จริง สายพันธุ์ต่างๆ ก็เข้าไปได้ในสัดส่วนที่น้อยมา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอดูสถานการณ์ เหมือนต่างประเทศที่จะเปิด แต่เมื่อมีสถานการณ์เข้ามา ก็ต้องเลื่อนการเปิดประเทศไป
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ส่งถึงนายกฯ กรณีการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่หลายจังหวัด เช่น จ.ยะลา และในพื้นที่ภาคใต้จะมีการทบทวนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ วันที่ 1 ก.ค.นี้หรือไม่ ว่า จากการประชุม ศบค.เมื่อปลายสัปดาห์ที่พูดถึงสถานการณ์โควิดและนโยบายการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งที่ประชุมมีมติและพูดคุยทั้งเรื่องการพิจารณาหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวภูเก็ตและเกาะต่างๆ ใน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ โดยคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนและความพร้อมด้านสาธารณสุขในพื้นที่เป็นสำคัญ จะมีการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
เมื่อถามว่า กรณีมีการแสดงความห่วงใยอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการรักษาพยาบาล หากทำให้เกิดการระบาดในระลอกที่ 4 และการนำเชื้อกลายพันธุ์ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง นายอนุชาตอบว่า นี่เป็นสิ่งที่นายกฯ รับฟังในความคิดเห็นต่างๆ ที่มีข้อกังวล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างที่นายกฯ เคยให้นโยบายไว้ว่า สิ่งต่างๆ ต้องรักษาสมดุล ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การดูแลสุขภาพ และการดูแลการแพร่ระบาดของโควิด จึงเป็นเหตุผลที่เราเรียกแซนด์บ็อกซ์ เมื่อเรามีเปิดที่ภูเก็ตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ก็จะมีการควบคุมภายในแซนด์บ็อกซ์นั้น ถ้าหากเกิดอะไรขึ้นที่ต้องมีการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็จะดำเนินการในช่วงนั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |