เตียงโควิดวิกฤติ! เหลือรับผู้ป่วยโคม่าแค่20รายติดเชื้อกระฉูด4พัน


เพิ่มเพื่อน    

โควิด-19 แรงไม่เลิก “ศบค.” แจงผู้ป่วยใหม่พุ่งกระฉูดไปที่ 4,059 ราย เสียชีวิต 35 ราย หมอทวีศิลป์ชี้คลัสเตอร์ใหม่โผล่พรึ่บทั้งใน กทม.-ต่างจังหวัด “นพ.สมศักดิ์” เผยเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดง-สีเหลืองเข้าขั้นวิกฤติ  หลังผู้ติดเชื้อเกินพันมานานกว่า 2 เดือน อึ้ง! เหลือแค่ 20  เตียงสำหรับผู้ป่วยโคม่า “บิ๊กตู่” สั่งทุกจังหวัดยกระดับเตียงด่วน “หมอยง” รับไทยกำลังเจอสายพันธุ์อินเดียโจมตีแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ ผวา! ทำป่วนเรื่องวัคซีน
เมื่อวันอังคารที่ 22 มิถุนายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,059 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,963 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,257 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 1,706 ราย  มาจากเรือนจำ 75 ราย และเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ลักลอบเข้าทางช่องธรรมชาติ 15 ราย มาจากกัมพูชา 14 ราย มาเลเซีย 1 ราย  ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 225,365 ราย หายป่วยเพิ่มเติม  2,047 ราย หายป่วยสะสม 187,836 ราย อยู่ระหว่างรักษา  35,836 ราย อาการหนัก 1,479 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ  410 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 35 ราย เป็นชาย  25 ราย หญิง 10 ราย อยู่ใน กทม. 15 ราย สมุทรสาคร 6  ราย สมุทรปราการ 5 ราย ฉะเชิงเทรา 2 ราย ชลบุรี,  นนทบุรี, นครศรีธรรมราช, พระนครศรีอยุธยา, ภูเก็ต,  สุพรรณบุรี และอุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,693 ราย 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดของวันที่ 22 มิ.ย. ได้แก่ กทม. 1,154 ราย,  สมุทรปราการ 696 ราย, ชลบุรี 335 ราย, สงขลา 293 ราย,  สมุทรสาคร 250 ราย, ปทุมธานี 211 ราย, นนทบุรี 169  ราย, นครปฐม 162 ราย, ปัตตานี 81 ราย และระยอง 63  ราย ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีจำนวนมากส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และปริมณฑลเกินครึ่ง ถือเป็นพื้นที่ไข่แดงที่ต้องบริหารจัดการเต็มที่ และหากดูตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่คลัสเตอร์จะพบว่าเป็นตัวเลขสามหลักจำนวนมาก ขณะที่คลัสเตอร์ใหม่ในจังหวัดต่างๆ ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ ที่โรงงานรองเท้า อ.บางพลี 326 ราย และโรงงานแปรรูปอาหาร อ.เมืองสมุทรปราการ 7 ราย, จ.สงขลา ที่โรงงานอาหารทะเลกระป๋อง อ.สทิงพระ 262 ราย, จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.กระทุ่มแบน 6 ราย, จ.นครปฐม ที่โรงงานหมู 4  แห่ง ใน 4 ตำบลของ อ.เมืองนครปฐม พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมกัน 90 ราย, จ.ระยอง ที่แคมป์คนงานก่อสร้าง อ.เมืองระยอง 51 ราย, จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ศูนย์วิทยุกู้ภัย อ.พระนครศรีอยุธยา 14 ราย และ จ.ปราจีนบุรี ที่โรงงานหินเทียม  อ.ศรีมหาโพธิ 8 ราย ส่วน กทม.พบ 3 คลัสเตอร์ใหม่ที่สถานดูแลผู้สูงอายุ บางเขน 12 ราย, ร้านผลิตขายส่งขนมกุยช่าย  ซอยเทิดไท 21 เขตธนบุรี 23 ราย และแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตบางกอกใหญ่ 47 ราย 
    ด้านนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย.มีผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 75 ราย รักษาหาย 465 เสียชีวิต 2 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 5,574  ราย โดยสถานการณ์ในวันนี้ยังคงมีเรือนจำและทัณฑสถานที่เป็นเรือนจำสีขาว ไม่พบการระบาดจำนวน 127 แห่ง และเรือนจำสีแดงที่พบการระบาดคงที่ 13 แห่ง 
เตียงสีแดง-เหลืองวิกฤติ
ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ป่วยใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 2  เดือน ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มสีแดงคือกลุ่มที่มีอาการหนัก จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการปานกลางหรือมีปัจจัยเสี่ยง จำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติม ทำให้มีความต้องการเตียงในกลุ่มนี้สูงขึ้น ซึ่งข้อมูลจากวันที่ 21 มิ.ย.พบว่า ในขณะนี้จำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้ป่วยโควิดสีแดงมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 409 ราย  เหลือเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดสีแดงเพียง 20 เตียงเท่านั้น ซึ่งต้องเก็บไว้รองรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉินหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ผู้ป่วยโควิดสีเหลืองมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 3,937 ราย และเหลือเตียงรองรับประมาณ 300 รายเท่านั้น 
“จากสถานการณ์จำนวนเตียงเหลือน้อยในขณะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการประสานงานผ่านระบบจัดหาเตียง 1668 ล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากต้องบริหารเตียงที่เหลืออยู่ก่อนจึงรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ ทำให้สถานการณ์เตียงโรคโควิด-19 ในเขต กทม. ณ ขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก แต่ขอยืนยันว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมมือทำงานอย่างบูรณาการเพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุด” นพ.สมศักดิ์ระบุ
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ  กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อจำนวนเตียงและปัญหาการรับส่งผู้ป่วยว่า นายกฯ มีข้อสั่งการเพิ่มเติมในที่ประชุมวันนี้เรื่องเตียงรองรับผู้ป่วย ถ้าเป็นไปได้อยากให้แต่ละจังหวัดปรับเพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเขียว ขอให้ปรับรับผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลืองได้ หรือ รพ.สนามที่รับผู้ป่วยสีเหลือง ขอให้ปรับรับผู้ป่วยในเกณฑ์สีแดงด้วยเช่นเดียวกัน และหน่วยงานต่างๆ หากจำเป็นต้องเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องเอกซเรย์ต่างๆ ขอให้เร่งแจ้งความประสงค์มา นายกฯ พร้อมพิจารณาให้เป็นการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รพ.รองรับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษาในทุกสี
สายพันธุ์อินเดียจ่อก้นไทย
    ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ได้เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสในไทย โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน โดยผลการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือน เม.ย.-20 มิ.ย.พบ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 5,641 ตัวอย่าง สายพันธุ์เดลตา  (อินเดีย) 666 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 38  ตัวอย่าง ข้อมูลล่าสุดพบว่าสายพันธุ์เดลตามีการพบเพิ่มในเขตสุขภาพที่ 4 จากเดิม 40 ราย เป็น 65 ราย รวม 105  ราย ส่วนเขต 13 จากเดิม 404 ราย เพิ่มอีก 89 ราย รวมเป็น 493 ราย สายพันธุ์เบตาขณะนี้ยังพบในภาคใต้ 38 ราย  โดยพบในเขตสุขภาพที่ 11 จำนวน 2 ราย และเขตสุขภาพที่  12 จากเดิม 28 ราย เพิ่มอีก 5 ราย รวม 33 ราย
    “จากการติดตามเด็กนักเรียนใน จ.ยะลา เบื้องต้นพบมีทั้งสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เบตา ซึ่งขณะนี้หน่วยงานสาธารณสุขกำลังติดตามหาต้นตอว่าติดมาจากที่ไหน และกำลังเร่งติดตามว่าเชื้อมีการกระจายไปจังหวัดอื่นๆ หรือไม่  ส่วนผลการตรวจเด็กนักเรียนที่จังหวัดสมุทรปราการและตราดที่กลับมาจากยะลา ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด ซึ่งขณะนี้เด็กอยู่ระหว่างกักตัวเฝ้าระวังต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว
    ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย  แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษประมาณ 1.4 เท่า จึงไม่แปลกที่สายพันธุ์เดลตาจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว  และในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สายพันธุ์เดลตาจะเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทั่วโลก และในอนาคตก็อาจมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น โดยวัฏจักรแล้วจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน  ส่วนวัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันพัฒนามาจากสายพันธุ์ดั้งเดิมคือสายพันธุ์อู่ฮั่น ทั้งนี้่เมื่อสายพันธุ์เปลี่ยนไป ประสิทธิภาพของวัคซีนก็เปลี่ยนไป และเชื่อว่าในอนาคตทุกบริษัทก็จะผลิตวัคซีนให้ทันสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการที่เราต้องคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของไวรัสไว้ล่วงหน้า เพราะกระบวนการเปลี่ยนแปลงในสายการผลิตต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน 
“สายพันธุ์อัลฟาลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตมาก่อนไม่มาก และคงใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดี ซึ่งในขณะนี้ไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดสายพันธุ์เดลตาเข้ามาแทนที่ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คงต้องช่วยกันควบคุมป้องกันให้เกิดสายพันธุ์เดลตาระบาดในไทยช้าที่สุด และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการให้วัคซีนควบคุมโรคในอนาคตให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดตามทรัพยากรที่เรามีอยู่” ศ.นพ.ยงระบุ
เตียงเมืองปากน้ำก็น่าห่วง
    สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างจังหวัด นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า จ.สมุทรปราการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่  696  ราย และเสียชีวิต 5 ราย  
    นพ.นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า คลัสเตอร์ใหญ่วันนี้เป็นโรงงานซัมมิทฟุตแวร์ ย่าน อ.บางพลี พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 300 คน  และโรงงาน พี.เอส.ฟู้ดโปรดักส์ ซอยวิทยุการบิน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 50 คน และคลัสเตอร์เก่าที่แพร่กระจายติดเชื้อเพิ่ม
     ส่วนสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในจังหวัดนั้น รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสังกัดอื่นๆ เหลือ 38   เตียง รพ.สนามเหลือ 166  เตียง รพ.เอกชนเหลือ 7 เตียง  และ Hospitel เหลือ 5 เตียง     
    นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ในชลบุรียังไม่ดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 335 ราย สะสม 6,628 ราย รักษาอยู่ 1,624 ราย  หายป่วย 4,967 ราย เสียชีวิตสะสม 37 ราย ซึ่งมาจากการตรวจเชิงรุก โดยพบคลัสเตอร์ตลาดใหม่ อ.เมืองชลบุรีถึง  233 ราย, คลัสเตอร์ตลาดสัตหีบ 20 ราย, แคมป์แรงงานต่างด้าว บริษัท แสตนดาร์ด เพอร์ฟอร์แม้นซ์ จํากัด อ.ศรีราชา 5 ราย และแคมป์แรงงานต่างด้าว บริษัท JWS  อำเภอศรีราชา 1 ราย 
    ส่วนที่ จ.พิษณุโลก โรงเรียนนานาชาติเคมบริดจ์ คอลเลจ ไทยแลนด์ ได้มีหนังสือถึงผู้ปกครองนักเรียนแจ้งปิดการเรียนการสอนเร่งด่วน หลังจากครอบครัวผู้ปกครองนักเรียนใน รร.มีผู้ติดเชื้อโควิดจาก กทม.มา ทำให้โรงเรียนธีรธาดาที่มีพื้นที่ติดต่อกันก็ประกาศปิดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นด้วย
    ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานียังมีแนวโน้มเพิ่มสูง และเชื่อมโยงมาจากหลายสถานที่หลายแห่งทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด ที่สำคัญยังพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาด้วย โดยมาจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา  ทำให้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาอีกหรือไม่
     นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา เผยว่า จ.สงขลาพบผู้ป่วยรายใหม่ 293 ราย ส่วนใหญ่มาจากบริษัทสงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) 263 ราย 
    ส่วน จ.ยะลา ที่พบคลัสเตอร์จากโรงเรียนตะห์ฟีซุลกุรอานมัรกัสนั้น ได้มีการค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติม รวมทั้งวางมาตรการปิดชุมชนกลุ่มเสี่ยงสูงทั้ง 3 ชุมชน เพื่อไม่ให้คนในชุมชนและคนนอกชุมชนเดินทางเข้า-ออกเป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.ถึงวันที่ 3 ก.ค.
    ขณะเดียวกัน กลุ่มพนักงาน ลูกจ้างสถานบริการและสถานบันเทิงผับบาร์จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 30 คน ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ขอให้พิจารณามาตรการเยียวยาคำสั่งปิดสถานบริการและสถานบันเทิงผับบาร์จังหวัด เพราะจังหวัดมีกำหนดการจะเปิดเมืองตันแบบ Phuket Sandbox ในวันที่ 1 ก.ค.  โดยเรียกร้อง 2  ข้อ คือ 1.ขอให้พิจารณามาตรการเพื่อเยียวยา และ 2.ขอให้พิจารณาคำสั่งปิดสถานบริการสถานบันเทิงผับบาร์ และผ่อนปรนให้เปิดสถานบริการและสถานบันเทิงตามเวลาปกติ  ซึ่งว่าที่ ร.ต.วิกรม จากที่ รอง ผวจ.ซึ่งมารับหนังสือระบุว่า  ได้ประเมินเรื่องดังกล่าวทุกระยะ และเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ได้ออกคำสั่งผ่อนปรนแล้วให้จำหน่ายสุราในร้านได้จนถึงเวลา 23.00 น. แต่หลังจากนี้จะประเมินเป็นระยะโดยให้เปิดสถานบริการประเภทต่างๆ จนเข้าสู่ปกติ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"