22 มิ.ย.64- เพจพรรคก้าวไกล - Move Forward Party เผยแพร่แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าสรุปจบในโพสต์เดียว! ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ เปิดช่องให้ ส.ส. - ส.ว. แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ และการจัดสรรงบประมาณอย่างไร?
วิวาทะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังร้อนแรงกันอยู่ในเวลานี้ มีหนึ่งเรื่องที่ดูเหมือนจะถูกพูดถึงน้อย คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และ 185 ของพรรคพลังประชารัฐ
ในโพสต์นี้ พรรคก้าวไกลจะชวนทุกท่านไปดูกัน ว่าร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 144 และ มาตรา 185 ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคพลังประชารัฐ จะทำให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปแทรกแซงงบประมาณได้ง่ายขึ้นอย่างไร
-------------------------
มาตรา 144 ยังคงห้าม ส.ส. และ ส.ว. แปรญัตติเพิ่มงบประมาณ แต่ตัดกลไกตรวจสอบ และบทลงโทษทิ้ง ]
ต้องเท้าความกันก่อนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 144 มีทั้งหมด 6 วรรค
วรรคแรก ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี, ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (หรือที่เรียกว่า "งบกลางปี"), และ ร่าง พ.ร.บ. โอนงบประมาณ
ห้าม" ส.ส. แปรญัตติเพิ่มงบ
อนุญาตให้ตัดงบได้เท่านั้น
วรรคที่สอง ย้ำเพิ่มเติมจากวรรคแรกว่าห้าม ส.ส. - ส.ว. และ กมธ. งบประมาณ "แปรญัตติ" หรือ "กระทำการด้วยประการใดๆ" ให้มีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
วรรคนี้แหละ ที่เป็นปัญหาทำให้ ส.ส. ทำงานยาก ว่าตกลงอะไรคือ "กระทำการด้วยประการใดๆ ให้มีส่วนในการใช้งบประมาณไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม" การอภิปรายเพิ่มงบสวัสดิการประชาชนผิดไหม? เห็นว่างบประมาณกระทรวงศึกษาน้อยไปอยากให้เพิ่มได้ไหม? หรือ แม้แต่เห็นถนนในเขตขาดการดูแล อภิปรายขอให้หน่วยงานเอาโครงการมาแก้ปัญหาทำได้ไหม??? ‼️
ซึ่งการที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนนี้เอง ที่ให้อำนาจดุลยพินิจอย่างล้นฟ้า ไม่ชอบหน้าใครก็มาดักคอเขาว่าอย่าตัดงบนะ ระวังผิดกฎหมาย
และวรรคที่สาม คือวรรคที่ให้อำนาจล้นฟ้ากับองค์กรที่ใหญ่คับประเทศอย่าง "ศาลรัฐธรรมนูญ" เพราะให้อำนาจ ส.ส. - ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา สามารถเข้าชื่อกันร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้
ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 เพิ่มโทษของคนที่กระทำความผิดเอาไว้ว่า ถ้า ส.ส. - ส.ว. คนไหนทำผิดให้พ้นสมาชิกภาพและตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี กันเลยทีเดียว ส่วนถ้าคณะรัฐมนตรีทำผิด ให้หลุดจากตำแหน่งยกคณะ (ก็น่าคิดว่าที่ขึ้นป้ายขอบคุณท่านรัฐมนตรีคนนั้นคนนี้ที่ผลักดันโครงการต่างๆ ในหลายจังหวัดนี่ศาลรัฐธรรมนูญหายไปไหน ไม่เห็นทำงานเร็วเหมือนเวลายุบพรรคบ้าง)
ที่เหลือจะว่าด้วยการตรวจสอบ...
วรรคที่สี่ ให้ข้าราชการที่รู้เห็นต้องบันทึกข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษร
วรรคที่ห้า ว่าด้วยการเรียกเงินคืน
วรรคที่หก ว่าด้วยการที่ ป.ป.ช. ได้รับแจ้งแล้วต้องสืบสวนในทางลับแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
แล้วร่างไพบูลย์แก้อะไรในมาตรานี้? สิ่งที่ร่างของพรรคพลังประชารัฐทำ คือการนำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 มาใช้ ซึ่งสาระสำคัญก็คือ...
ยกเลิกบทกำหนดโทษนักการเมือง ที่ให้พ้นจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี
ยกเลิกวรรค 4-6 ที่ว่าด้วยการตรวจสอบทั้งหมด
เพิ่มข้อความขึ้นมาอีก 1 วรรค ให้รัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, องค์กรอิสระ สามารถขอแปรงบเพิ่มได้ (ความจริงมาตรานี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มีเขียนไว้แล้วใน ม.141 แต่ตอนยื่นร่าง คุณไพบูลย์ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญหรืออย่างไรไม่ทราบ)
ยังๆๆ ไม่จบ นอกจากจะแก้มาตรา 144 แล้ว อีกมาตราที่สำคัญไม่แพ้กัน และต้องดูกันเป็นแพ็คเกจ คือมาตรา 185
-------------------------
แก้มาตรา 185 : ต่อไปนี้ ไม่ห้าม ส.ส. - ส.ว. แทรกแซงข้าราชการ งบประมาณ และโครงการของรัฐแล้วนะ ??? ]
รัฐธรรมนูญ มาตรา 185 อยู่ในหมวด 9 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนเอาไว้ว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการเพื่อผลประโยชน์ของตน ผู้อื่น พรรคการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในเรื่องต่อไปนี้
(1) แทรกแซงการปฏิบัติราชการ หรือทำงานในหน้าที่ของข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(2) ทำให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณหรือเห็นชอบโครงการของหน่วยงานรัฐ ยกเว้นรัฐสภา
(3) แทรกแซงการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน ให้ออกจากราชการของข้าราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, พนักงาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สิ่งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐจะแก้ ก็คือการตัดข้อห้ามใน (1) และ (2) ที่ห้ามแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ และทำให้ตนมีส่วนในการใช้งบประมาณ คงไว้เฉพาะ (3) เรื่องห้ามแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย
อันนี้สอดคล้องกับที่แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ที่ยกเลิกบทกำหนดโทษของ ส.ส. และ ส.ว. ที่เข้าไปยุ่งกับงบประมาณประเทศ
-------------------------
การแก้รัฐธรรมนูญใน 2 มาตราเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยการกำหนดโทษของการเข้าไปแทรกแซงงบประมาณจึงแสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นการแก้เพื่อตนเองและพรรคพวก ไม่ใช่แก้เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชน
ย้ำอีกครั้ง!
อย่าหลงประเด็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้เพื่อให้ ส.ส. สามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณได้ หรือให้ ส.ส. ผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ได้
ความจริงแล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ยังคงบทบัญญัติห้าม ส.ส. และ ส.ว. เข้าไปมีส่วนในการใช้งบประมาณ
ส่วนที่รัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐแก้ คือ การยกเลิกส่วนของกลไกการตรวจสอบและบทกำหนดโทษ******
แน่นอนว่าบทบาทของ ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ควรต่อสู้เชิงประเด็นและผลักดันกฎหมายในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ หรือควรมีบทบาทในการต่อรองทรัพยากรเข้าสู่พื้นที่ ยังเป็นข้อถกเถียง
สิ่งที่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐทำ ไม่ใช่การทำให้บทบาทในการต่อรองทรัพยากรเข้าสู่พื้นที่ทำได้อย่างเป็นระบบ เปิดเผย โปร่งใส แต่เป็นการทำลายกลไกการตรวจสอบ และทำให้การการส่งอิทธิพลต่อโครงการและงบประมาณของ ส.ส. ยังคงไม่ถูกกฎหมาย อยู่ในพื้นที่สีเทา แต่ไม่มีการตรวจสอบ และเอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่น
และคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ย่อมต้องเป็น ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายรัฐบาลที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และมีการมองกันว่าการแก้รัฐธรรมนูญ 2 มาตรานี้ เป็นไปเพื่อ "หาเงินเลือกตั้ง" สำหรับ ส.ส. บางกลุ่ม
เราคงต้องจับตากันว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่บอกกับประชาชนว่าต่อต้านระบอบ คสช. อย่างเต็มที่ และ ส.ว. ที่ชอบอ้างนักอ้างหนาว่าเข้ามาเพื่อปราบโกง พอเจอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการ "โกง" อย่างเปิดหน้าขนาดนี้ สุดท้ายจะลงมติว่าอย่างไร
‼️ อย่าลืมนะ ‼️ ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 และ 20% ของ ส.ส. ฝ่ายค้านด้วย...
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |