ทำไมไทยจึง “งดออกเสียง” ในมติว่าด้วยการระงับการขายอาวุธให้เมียนมาในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา?
คำตอบทางการจากกระทรวงต่างประเทศคือ ไทยต้องการจะ “เร่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ทุกฝ่ายหันมาเจรจากัน”
แต่ในทางปฏิบัติจะได้ผลตามเจตนาของไทยหรือไม่นั้นยังเป็นเครื่องหมายคำถาม
โดยเฉพาะเมื่ออีก 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนลงมติเห็นด้วยกับร่างมตินี้
ขณะที่ไทยเป็น 1 ใน 4 สมาชิกอาเซียนที่ตัดสินใจ “งดออกเสียง”
ทำให้เห็นว่าอาเซียนไม่ได้มีจุดยืนที่มีความเป็นปึกแผ่นที่ควรจะเป็น
นั่นจะยิ่งทำให้อำนาจต่อรองของอาเซียนลดน้อยถอยลงหรือไม่
ไทยเรากลายเป็นเสียงส่วนน้อยในที่ประชุมเพราะเราเป็น 1 ใน 36 ประเทศที่งดออกเสียงขณะที่เสียงส่วนใหญ่ 119 เห็นชอบ
คุณธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศถูกตั้งคำถามประเด็นนี้
เขาตอบว่า
ไทยได้คำนึงถึงปัจจัยหลายประการที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา
ซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคงของไทยด้วย
คุณธานีอธิบายไทยมีความสัมพันธ์กับเมียนมาที่ใกล้ชิดและมีหลายมิติมากกว่าชาติอาเซียนอื่น
เช่น ไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,400 กิโลเมตร
และประชาชนคนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนเมียนมาในหลายๆ ระดับมาเป็นเวลาช้านาน
โฆษกกระทรวงต่างประเทศบอกด้วยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงและการสู้รบในเมียนมามีผลด้านความมั่นคงโดยตรงต่อไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป
“ประเทศไทยจึงต้องกระทําอย่างรอบคอบอย่างยิ่ง และต้องคํานึงผลที่จะตามมาในทุกๆ ด้าน” คุณธานีบอกนักข่าว
อีกด้านหนึ่ง คุณธานีบอกว่าไทยจะต้องคํานึงถึงความซับซ้อนทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของเมียนมา
และต้องพิจารณาถึงสถานการณ์จริงๆ ในเมียนมาทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์วันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้
ในแนวคิดของกระทรวงต่างประเทศไทยนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อขบวนการสันติภาพในเมียนมาที่แท้จริงนั้นคือ การที่ทุกฝ่ายต่างมีความขัดแย้งทางการเมืองอันนําไปสู่ความเจ็บแค้น และไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันสูงมาก และต่างฝ่ายต่างก็หันไปใช้อาวุธและความรุนแรงในการแก้ปัญหา
กระทรวงต่างประเทศไทยจึงเห็นว่าสิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําเพื่อนําไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริงนั้น จึงมิใช่เพียงแค่กล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด หรือประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกระทําการใดๆ ที่เป็นการสนับสนุนให้ความขัดแย้งบานปลายไปเรื่อยๆ อันจะรังแต่จะเพิ่มความเกลียดชังและความโกรธแค้นของทุกฝ่ายให้มากขึ้น จนทําให้ความขัดแย้งในปัจจุบันไม่สามารถระงับดับลงได้โดยสันติวิธีได้อีกต่อไป
“แทนที่จะกระทําการประณามแต่อย่างเดียว โดยไม่คํานึงถึงผลเสียหลายประการที่จะตามมานานัปการนั้น สิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําคือ หาวิถีทางสันติสุขที่จะสยบการสู้รบให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยเร่งเรื่องการหาวิธีการหรือกระบวนการที่จะฟื้นฟูและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกๆ ฝ่ายในเมียนมาให้กลับคืนมาให้ได้ในระดับหนึ่ง และเร่งสร้างสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับทุกๆ ฝ่ายที่กําลังขัดแย้งกันอยู่ในเมียนมาในขณะนี้ให้หันหน้ากลับมาเจราจากันได้ เพราะทุกฝ่ายสามารถยอมรับและเห็นพ้องกันได้
คุณธานีย้ำว่า การใช้ความรุนแรงไม่ได้นําไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ และการสู้รบจะไม่นํามาซึ่งชัยชนะของฝ่ายตนหรือฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะนํามาก็แต่ความพ่ายแพ้หายนะของประชาชนเมียนมา ซึ่งจะต้องประสบความลําบากยากแค้นแสนสาหัสอันเนื่องมาจากการสู้รบที่ยืดเยื้อ ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาเลย
“ดังนั้น ประชาคมโลกจึงไม่ควรกระทําการใดๆ ที่เสมือนโยนเชื้อไฟเพิ่มเข้าไปในกองเพลิง” คุณธานีย้ำ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ข้อมติที่ผ่านเสียงข้างมากในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาตินั้นมิได้สะท้อนถึงเจตนารมณ์และความพยายามของอาเซียน ซึ่งกําลังดําเนินอยู่แล้วในการแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมาซึ่งเป็นประเทศสมาชิกหนึ่งของอาเซียน
โดยที่ในการประชุมผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ก็ได้มีฉันทามติเรื่องขั้นตอนและองค์ประกอบ 5 ประการ อันจะนําไปสู่สันติสุขในเมียนมาได้ และกําลังดําเนินการอยู่แล้ว โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าทุกฝ่ายของความขัดแย้งในเมียนมาเท่านั้นที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในเมียนมาเอง
คุณธานีบอกว่า ไทยเชื่อว่าไม่มีผู้ใดสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แต่ประชาคมโลกสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างบรรยากาศหรือสภาวะที่เอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งในเมียนมาหันหน้ามาเจรจากันได้ และมิให้กลับไปใช้กำลังต่อสู้ประหัตประหารกันมากขึ้น และสร้างอนาคตที่เมียนมาจะไม่ต้องกลับไปมีความขัดแย้งอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีก
คุณธานีย้ำว่าสิ่งที่ไทยห่วงกังวลและให้ความสําคัญที่สุดคือ ประชาชนชาวเมียนมาที่ได้รับเคราะห์จากการสู้รบจากความขัดแย้งทางการเมืองของหลายฝ่ายในเมียนมามาเป็นเวลาช้านานแล้ว และความลําบากยากเข็ญนั้นกําลังทวีความรุนแรงขึ้นตลอดเวลา พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุข สามารถทํามาหาเลี้ยงชีพ มีกินมีใช้เยี่ยงประชาชนในประเทศอื่นๆ รอบข้าง
“ไทยไม่เห็นว่าร่างมติดังกล่าวเป็นแนวทางที่แท้จริงที่จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนที่ชาวเมียนมาแสวงหาแต่อย่างใด” โฆษกกระทรวงต่างประเทศบอก
บทบาทของไทยในเรื่องนี้เป็นอย่างไร?
คุณธานีบอกว่าไทยได้ดําเนินการเพื่อนําไปสู่สันติภาพในเมียนมาอยู่แล้วในหลายๆ ทาง ทั้งที่ร่วมกับอาเซียน ทั้งในภาคทวิภาคี และพหุภาคี
“ไทยไม่เคยนิ่งนอนใจหรือดูดายในเรื่องความไม่สงบในเมียนมา และการดําเนินการเหล่านั้นมิได้มีเจตนาแอบแฝงใดๆ นอกจากจะทําสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ อันจะทําให้ทุกฝ่ายเข้ามาสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ เพราะนั่นคือวิธีเดียวเท่านั้นที่จะยุติความไม่สงบในเมียนมาได้”
แน่นอนว่า คำถามที่ตามมาคือเมื่ออาเซียนไม่มีจุดยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ไทยเราจะมีศักยภาพในเวทีระหว่างประเทศที่จะผลักดันให้เกิดสันติภาพดั่งที่เรามุ่งมั่นตั้งใจหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |