อาเซียนแตก...ไทยงดออกเสียง มติสหประชาชาติประเด็นเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

สาเหตุที่อาเซียนยังดูเหมือนจะเฉื่อยๆ แฉะๆ กับความพยายามที่จะแก้วิกฤติเมียนมา ก็เพราะไม่มีจุดยืนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องนี้

            แม้จะมี "ฉันทามติร่วม 5 ข้อ" จากการประชุมสุดยอดพิเศษของผู้นำทั้ง 10 ประเทศ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่กรุงจาการ์ตา แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

            เพราะอาเซียนกลุ่มหนึ่งต้องการจะกดดันมิน อ่อง หล่ายเชิงรุก

            แต่อีกกลุ่มหนึ่ง (รวมถึงไทย) ต้องการจะใช้การทูตแบบนิ่มนวลและไม่โฉ่งฉ่าง

            เพราะไม่อยากจะดันให้ทหารเมียนมาติดกำแพง ซึ่งจะยิ่งทำให้การแก้ปัญหายากเย็นยิ่งขึ้น

            จากการลงมติในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เห็นชัดแล้วว่าอาเซียน 10 ประเทศแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

            ไทยจับมือลาว, กัมพูชา และบรูไน “งดออกเสียง” มติสหประชาชาติให้ “กองทัพเมียนมาคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชน” และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก “ป้องกันไม่ให้อาวุธยุทโธปกรณ์ไหลเข้าเมียนมา”

            เป็นการลงมติแนวเดียวกับจีนและรัสเซีย

            ส่วนอีก 6 ประเทศอาเซียนยกมือให้ร่างมติเดียวกันนี้

            ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, เมียนมา และฟิลิปปินส์

            ซึ่งไปทางเดียวกับสหรัฐฯ และยุโรปส่วนใหญ่

            มตินี้ผ่านความเห็นชอบของ 119 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ

            ประเทศที่งดออกเสียงมี 36

            อีก 37 ประเทศไม่เข้าประชุม

            ประเทศเดียวที่ยกมือค้านคือเบลารุส

            มตินี้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยตัวอองซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มินห์ กับคนอื่นๆ ที่ถูกจับและตั้งข้อหาอย่างไร้ความชอบธรรม

            ทูตเมียนมาประจำยูเอ็น Kyaw Moe Tun ที่พูดแทนรัฐบาลพลเรือนเงาของเมียนมาบอกนักข่าวว่า

            “มตินี้ต่ำกว่าความคาดหวังของเรา เพราะไม่ได้มีข้อความที่ระบุให้มีการห้ามส่งอาวุธเข้าเมียนมา (arms embargo)”

            ร่างเดิมที่เสนอมีการกำหนดให้ห้ามส่งอาวุธทุกรูปแบบเข้าเมียนมา เพื่อระงับการใช้กำลังปราบปรามประชาชนของกองทัพ

            แต่มีการแก้ไขทบทวนถ้อยคำให้เบาลงหลังจากมีการถกกันนอกรอบหลายครั้ง

            ทูตเมียนมาบอกว่า ผิดหวังที่สหประชาชาติใช้เวลา 3 เดือนกว่าที่จะผ่านมติที่มีเนื้อหาถูกลดทอนความเข้มข้นลงอย่างมาก

            แต่ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลคู่ขนานก็ยังยกมือให้ “เพื่อไว้อย่างน้อยก็ยังสามารถสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารได้ระดับหนึ่ง ในอันที่จะหยุดการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม”

            จีนบอกว่าที่งดออกเสียงเพราะไม่เห็นด้วยกับมติสหประชาชาติ ที่มุ่งจดจ้องเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง

            รัสเซียก็ไม่ออกเสียง ด้วยเหตุที่ว่ามตินี้ไม่ช่วยแก้ไขวิกฤติของเมียนมาแต่อย่างใด

            ร่างมตินี้เดิมถูกเสนอโดยประเทศ Liechtenstein แต่การลงมติถูกเลื่อนออกมาเมื่อมีเสียงค้านจากบางประเทศ

            อาเซียนหลายประเทศขอให้ตัดข้อความเรื่อง arms embargo  ออกไป

            เป็นที่มาของการเขียนใหม่เป็น “prevent the flow of arms” ซึ่งมีความหมายที่อ่อนลงไปอย่างเห็นได้ชัด

            แม้ว่าหลายคนผิดหวังกับเนื้อหาที่ถูกเขียนเสียใหม่ให้เบาบางลงไปจากร่างเดิม แต่นักวิเคราะห์บางคนก็เชื่อว่า มติที่ผ่านเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสหประชาชาตินี้จะส่งสัญญาณถึงคณะรัฐประหารเมียนมาว่า ประชาคมโลกไม่ยอมรับการยึดอำนาจครั้งนี้

            มตินี้ยังเรียกร้องให้อาเซียนเดินหน้าแสวงหาทางออกให้เมียนมาบนพื้นฐานของ “ฉันทามติ 5 ข้อ” จากการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 25 เมษายนปีนี้ ที่กรุงจาการ์ตา

            แต่ในความเป็นจริงยังเดินหน้าไปช้ามาก

            แม้เรื่องที่จะตั้ง “ทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจกรรมเมียนมา” ก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้

            เพราะมีความเห็นต่างกันว่า ทูตพิเศษที่ว่านี้ควรจะเป็นคนเดียวหรือเป็นคณะ

            และมีขอบเขตแห่งภารกิจเพียงใด

            ล่าสุดที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่ประเทศจีนก็ยังไม่สามารถจะตกผลึกว่าจะหาทางออกที่เป็นรูปธรรมได้อย่างไร

            ผลการลงมติประเด็นเมียนมาที่สหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็สะท้อนถึงความยุ่งยากสลับซับซ้อนของวิกฤติเมียนมาเป็นอย่างดี.

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"