ชวนผู้มีอันจะกิน! รับสิทธิ์ยิ่งใช้ยิ่งได้ ตร.เตือนมิจฉาชีพ


เพิ่มเพื่อน    

 “ธนกร” เชิญชวนผู้มีอันจะกินเข้าร่วมโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” บอก “บิ๊กตู่” ออกแบบมาตรการสนองประชาชนทุกกลุ่ม “ตำรวจ” เตือนระวังมิจฉาชีพใช้ช่องโครงการรัฐหลอกลวงชาวบ้าน 
เมื่อวันอาทิตย์ นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  (ศบศ.) เปิดเผยว่า โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นอีกโครงการหนึ่งที่รัฐบาลออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อ โดยกำหนดไม่เกิน 4 ล้านคน โดยประชาชนที่เข้าร่วมต้องเติมเงินของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นการบรรเทาค่าครองชีพพื้นฐานในชีวิตประจำวัน 
“ทุกโครงการที่รัฐบาลออกมาจะถูกออกแบบมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ให้กลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม” 
     นายธนกรกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวจะเปิดให้ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนวันแรกในวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 ตั้งแต่เวลา 06.00- 22.00 น. ของทุกวันเป็นต้นไป จนกว่าจะครบ 4 ล้านสิทธิ์ โดยคุณสมบัติของ ประชาชนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นประชาชนสัญชาติไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือได้รับสิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 ทั้งนี้ ผู้ที่เคยรับสิทธิ์โครงการของรัฐ อาทิ ชิมช้อปใช้, เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง,  เราชนะ, ม.33 เรารักกัน สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หรือผ่าน G-Wallet บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการข้างต้น สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com เมื่อประชาชนลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะได้รับ SMS แจ้งสิทธิ์ภายใน 3 วัน โดยก่อนการใช้สิทธิ์ครั้งแรก  ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการจะต้องยืนยันตัวตนเพื่อใช้ G-Wallet บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ด้วยบัตรประจำตัวประชาชน โดยผู้ที่ไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน สามารถยืนยันตัวตนได้ที่สาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือตู้เอทีเอ็มสีเทาของธนาคารกรุงไทย  หรือผู้ที่มีแอปพลิเคชัน KrungthaiNext สามารถยืนยันตัวตนผ่าน KrungthaiNext ได้ 
     นายธนกรกล่าวอีกว่า เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว จะสามารถใช้จ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ แต่ไม่รวมถึงสลากกินแบ่งฯ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์,  ยาสูบ, บัตรกำนัล, บัตรเงินสด และสินค้าหรือบริการที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า เพื่อรับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเวาเชอร์) กับร้านค้าที่ติดตั้งแอปพลิเคชันถุงเงินที่เข้าร่วมโครงการ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. 2564 ในเวลา 06.00-23.00 น. โดยวงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ์อีเวาเชอร์ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน ซึ่งยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิ์ต้องไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ์อีเวาเชอร์สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1- 40,000 บาทแรก ได้รับอีเวาเชอร์ 10%ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001-60,000 บาท ได้รับอีเวาเชอร์ 15% ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสิทธิ์อีเวาเชอร์จะคืนเป็นวงเงินเข้าใน G-Wallet ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และสามารถใช้จ่ายด้วยอีเวาเชอร์ที่ร้านที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.-31 ธ.ค.2564 โดยไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้  
วันเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่มีหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุน แนะนำการลงทะเบียน เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ฯลฯ ว่าในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จึงมีหลายหน่วยงานพยายามคิดโปรโมชั่น รวมถึงให้ส่วนลดต่างๆ ให้สอดรับกับโครงการของภาครัฐ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีเหล่ามิจฉาชีพที่อาศัยช่องว่างจากความต้องการของพี่น้องประชาชนนี้ในการกระทำความผิด ซึ่งในบางกรณีอาจมีการสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือการส่ง SMS ทางโทรศัพท์มือถือ หรือลิงก์ต่างๆ ที่มีลักษณะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขบัตรเครดิต หรือให้ใส่รหัส OTP เป็นต้น เมื่อได้ใส่ข้อมูลลักษณะดังกล่าวไปแล้ว เหล่ามิจฉาชีพก็อาจจะนำข้อมูลที่ได้ไปหาประโยชน์ในทางมิชอบ และทำให้ได้รับความเสียหายในอนาคต
“การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตามพระราชบัญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยดูจาก พฤติการณ์แต่ละกรณีมาประกอบ”
พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวต่อว่า ขอฝากเตือนภัยและประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อดังนี้ อย่าหลงเชื่อข้อมูลการโพสต์ หรือลิงก์ที่แนบมาพร้อมกับอีเมลที่ไม่แน่ใจแหล่งที่มา ห้ามเปิดลิงก์ดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ ผ่านระบบออนไลน์ ให้กับผู้อื่นหากยังไม่ได้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน หากพบเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ หรืออีเมลที่น่าสงสัย ให้ติดต่อสอบถามกับหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องให้แน่ใจเสียก่อน, ในกรณีหลงเชื่อไปแล้ว ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร สถาบันทางการเงิน เป็นต้น นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"