คนยังเชียร์‘ประยุทธ์’ จตุพรนัด24มิ.ย.ลุยไล่


เพิ่มเพื่อน    

นิด้าโพลเผยคะแนนนิยม "บิ๊กตู่" ยังนำ ประชาชนเชียร์เหมาะนั่งนายกฯ แต่เรตติ้งลดลง พรรครัฐบาล คะแนนตามหลังฝ่ายค้าน เพื่อไทย-ก้าวไกล คนนิยมมากกว่าพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ "จตุพร-ไทยไม่ทนฯ" ลั่นกลองรบ 24 มิ.ย. นัดหมายมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ไล่ประยุทธ์ ย้ำไม่บุกเข้าไป 
    เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2564 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2564” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-16 มิถุนายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,515 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง 
    โดยจากการสำรวจ เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.65 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 2 ร้อยละ 19.32 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนจริงจังกับการทำงาน ทำงานตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์ สุจริต แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนทุกเพศทุกวัยได้อย่างทั่วถึง อยากให้ทำงานอย่างต่อไปจนครบวาระในการดำรงตำแหน่ง และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว,  อันดับ 3 ร้อยละ 13.64 ระบุว่าเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพราะอยากให้ผู้หญิงขึ้นมาบริหารประเทศบ้าง มีประสบการณ์การทำงาน บริหารงานที่ผ่านมาได้ดี มีผลงานที่โดดเด่น เป็นคนตรงไปตรงมา และชื่นชอบเป็นการส่วนตัว, อันดับ 4 ร้อยละ 8.71 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากพรรคเสรีรวมไทย เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา,  
อันดับ 5 ร้อยละ 5.45 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล เพราะอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ  
    นิด้าโพลเปิดเผยอีกว่า ส่วนอันดับ 6 ร้อยละ 3.62 ระบุว่าเป็นนายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคกล้า เพราะเป็นคนไฟแรง มีวิสัยทัศน์ที่ดี, อันดับ 7 ร้อยละ 2.35 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย เพราะมีผลงานในการทำงานที่ดี โดดเด่น, อันดับ 8 ร้อยละ 2.15 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ,  อันดับ 9 ร้อยละ 2.11 ระบุว่าเป็นนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพราะมีทัศนคติที่ดี มีมุมมองด้านเศรษฐกิจที่ดี, อันดับ 10 ร้อยละ 1.47 ระบุว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์เพราะมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีประสบการณ์ในการทำงานมาก ชื่นชอบแนวคิดการทำงาน เป็นต้น 
    ผลสำรวจนิด้าโพลระบุว่า ผลสำรวจครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/64 เดือนมีนาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และไม่ตอบ/ไม่สนใจ มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
    ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 32.68 ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย, อันดับ 2 ร้อยละ 19.48 ระบุว่าพรรคเพื่อไทย, อันดับ 3 ร้อยละ 14.51 ระบุว่าพรรคก้าวไกล, อันดับ 4 ร้อยละ 10.70 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 5 ร้อยละ 9.54 ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าพรรคเสรีรวมไทย,  อันดับ 7 ร้อยละ 2.47 ระบุว่าพรรคไทยสร้างไทย, อันดับ 8  ร้อยละ 2.43 ระบุว่าพรรคภูมิใจไทย, อันดับ 9 ร้อยละ 1.71 ระบุว่าพรรคกล้า 
    "เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/64 เดือนมีนาคม 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคภูมิใจไทย มีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคกล้า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น" ผลสำรวจนิด้าโพลระบุไว้
    วันเดียวกันนี้ ที่สถานีตำรวจชนะสงคราม นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย พร้อมพวก เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ กรณีห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และฝ่าฝืนข้อกำหนดฉบับที่ 15 พ.ศ.2563 ที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีกลุ่มไทยไม่ทนฯ จัดเวทีอภิปรายสาธารณะในวันที่ 4-7 เมษายน ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม
    นายอดุลย์กล่าวว่า รู้สึกสนุกดี เพราะไม่เคยโดนหมายเรียก อยู่มา 50 ปีแล้ว วันนี้ก็พาคณะมาทั้งหมด
         นายจตุพรกล่าวว่า ได้รับการแจ้งจากพนักงานสอบสวนให้มารายงานตัว ในความเป็นจริงทีมทนายความได้นัดหมายในวันที่ 29 กรกฎาคม แต่เนื่องจากมีบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครสั่งการให้มีการเร่งรัดคดีให้ มารายงานตัวก่อนการชุมนุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน ที่ทางกลุ่มเคยบอกว่าต้องการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะผู้มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงในชั้นพนักงานสอบสวน หลายกรณีเกิดขึ้นตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่างๆ คดีนี้พวกตนทุกคนไม่มีอะไรจะไหวหวั่น เคยต้องโทษคดีประหารชีวิตแล้ว 
    นายจตุพรกล่าวต่อไปว่า กลุ่มคณะสามัคคีประชาชนฯ จะทำกิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 16.00 น. โดยจะไปทำเนียบรัฐบาล แม้จะต้องมีตู้คอนเทนเนอร์เต็มไปหมด ให้ประชาชนรอฟังจุดทำเนียบรัฐบาลคนขี้ขลาดตาขาวมักจะลงมือก่อนคือจะ ตั้งตู้คอนเทนเนอร์รอบไม่ให้เข้าไป ฉะนั้นจุดนัดพบอาจไม่ใช่ทำเนียบรัฐบาล แต่เป้าหมายคือทำเนียบรัฐบาล หากรัฐบาลฉลาด ไม่โง่ ไม่บ้าอำนาจ ต้องปล่อยให้ประชาชนไปที่ทำเนียบรัฐบาล จะไม่บุกเข้าไปข้างในทำเนียบรัฐบาลโดยเด็ดขาด จะไปด้วยมิตรไมตรี จะพูดด้วยท่วงทำนองมธุรสวาจา จะได้อธิบายว่าทำไมต้องมาขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น หากความรุนแรงเกิดขึ้นคือเกิดได้อย่างเดียวมาจากทางรัฐ จะใช้แนวทางสันติวิธีเจรจากันทุกขั้นตอน เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน ความเห็นแตกต่างกันไม่จำเป็นต้องฆ่ากัน  
         สำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดจำนวน 23 คน ประกอบด้วย 1.นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ 2.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 3.นายการุณ ใสงาม  4.นายวีระ สมความคิด 5.นายยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก) 6.นางพะเยาว์ อัคฮาด 7. นายณัทพัช อัคฮาด 8.นายวสันต์ สิทธิเขตต์ 9.นายเมธา มาสขาว 10.นายศักดิ์ณรงค์ มงคล 11.นายสุวิช สุมานนท์ 12.นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง 13.นายพงศ์พิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 14.นายไทกร พลสุวรรณ 15.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 16.นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ 17.น.ส.วรรณพร ฉิมบรรจง 18.พ.ท.หญิงกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี 19.นายเศวต ทินกูล 20.ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี 21.นายธนเดช ศรีสงคราม 22.นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา 23.นายจอมพล รุ่งเรืองชูเลิศ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำและสมาชิกกลุ่มไทยไม่ทนฯ ที่เดินทางมาครั้งนี้ เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม มีด้วยกัน 14 คน โดยพบว่าทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งกระบวนการต่างๆ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น 
    จากนั้น นายจตุพรให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ไม่ได้มีความวิตกกังวลอะไรแต่อย่างใด เนื่องจากมาแสดงตนอย่างสุจริตตรงไปตรงมา และเห็นว่าไม่ควรถูกดำเนินคดี ให้ว่าตามข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ จะให้ถ้อยคำเพิ่มเติม สอบพยาน ก่อนที่ทางพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ 
    นายสมชาย หอมลออ ทนายความ กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดร่วมกันมั่วสุมชุมนุมแพร่ระบาดเชื้อโรคตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรนำมาใช้กับการชุมนุมหรือการตรวจสอบรัฐบาล เนื่องจากรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิแสดงความคิดเห็นของประชาชน นอกจากนี้การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือเป็นการใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ผิดเจตนารมณ์ของการใช้กฎหมาย กรณีดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานพนักงานสอบสวน เชื่อว่าทางพนักงานอัยการน่าจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาล มีความเชื่อมั่นว่าศาลยกฟ้องในที่สุด. 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"