พปชร.เชื่อร่างรธน.ฉลุย! องค์กรต้านโกงยี้ฉบับรบ.


เพิ่มเพื่อน    

 ที่ปรึกษาชวนแจงร่างแก้ไข รธน.ของฝ่ายค้านยังไม่ตกไป เพียงแต่บรรจุไม่ได้เหตุอาจขัดคำวินิจฉัยศาล รธน. "พปชร." ติวเข้ม ส.ส.ก่อนถกญัตติแก้ รธน.รายมาตรา "ไพบูลย์" มั่นใจร่าง พปชร.ผ่านฉลุย ยันทุกประเด็นไม่สร้างความขัดแย้ง "พท." โอด ม.256 ถูกตีตกหมดโอกาสแก้ รธน.ทั้งฉบับ พร้อมจี้ถามความชัดเจนจากประธานรัฐสภาอีกครั้ง "ก้าวไกล" เตรียมเสนอญัตติด่วนให้ ครม.ถาม ปชช.เห็นชอบให้มี ส.ส.ร.หรือไม่ "ส.ว.วันชัย" ซัดแก้ รธน. 13 ร่างมุ่งเอาชนะคะคานกันทางการเมืองมากกว่าเพื่อประเทศชาติประชาชน
    เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายค้าน จะทำให้ร่างตกไปหรือไม่ว่า ตามข้อบังคับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกจาก 2  กรณี คือ 1.ไม่ผ่านวาระที่ 1 และ 2.ไม่ผ่านวาระที่ 3 เพราะฉะนั้นร่างของฝ่ายค้านจึงยังไม่ตกไปตามข้อบังคับ เพียงแต่บรรจุไม่ได้ เหตุผลคือเพราะอาจขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
    "ดังนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านจะยังคงอยู่เช่นนี้ หากมีเหตุการณ์หรือเงื่อนไขครบถ้วนขึ้นมาก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้อีก ทั้งนี้มองว่าการที่นายชวนมีวินิจฉัยเช่นนี้ฝ่ายค้านได้กำไร เพราะร่างสามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ในอนาคต และหากนำร่างแก้ไขฉบับที่ฝ่ายค้านยื่นมานี้เข้าไปในสภาด้วยเงื่อนไข สถานการณ์และกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าร่างนี้จะไม่ผ่านอย่างแน่นอน" นพ.สุกิจกล่าว
    ดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-24 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวาระแรกขั้นรับหลักการ  พร้อมยืนยันแนวทางของพรรค พปชร.ยึดตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรค พปชร.ที่ได้เสนอไปรวม 5 ประเด็น 13 มาตรา   ยืนยันว่าพรรคพร้อมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ซึ่งพร้อมนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณา เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์นี้
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวันที่  23-24 มิ.ย.ว่า เท่าที่ฟังข่าวเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะแก้ไขรายมาตรา 5 ประเด็น 13 มาตราของพรรค พปชร.  โดยเราเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. และยึดหลักว่าจะต้องไม่เป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้ง  หรือเป็นประเด็นที่ทำให้จะต้องไปทำประชามติ เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากและต้องใช้เวลาด้วย ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นที่เราเสนอไม่ได้สร้างความขัดแย้งเลย ดังนั้นน่าจะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะผ่านหลักการในวาระที่ 1
    เมื่อถามถึงกรณีที่ไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในญัตติร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทย นายไพบูลย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสภาคงพิจารณาแล้วเห็นว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสภาก็เคยมีความเห็นเสนอประธานรัฐสภาเมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงมติวาระ 3 ว่าเป็นร่างที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เมื่อเห็นร่างของพรรคเพื่อไทยซึ่งเหมือนเดิมหมด ดังนั้นจึงบรรจุระเบียบวาระการประชุมไม่ได้ ส่วนตัวเคยแสดงความเห็นไว้ก่อนหน้าแล้วว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมันยาก เป็นไปไม่ได้ ควรจะกลับมาที่รายมาตรา อีกทั้งรายมาตราก็ไม่ได้แก้ได้ครั้งเดียว 
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า ตนได้นัดหมายประชุม ส.ส. ของพรรคในวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย. เวลา 13.30 น.เพื่อเตรียมความพร้อมในการประชุมสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา ในส่วนของ ปชป.เราเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไป 6 ร่าง เชื่อมั่นว่าถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปได้ จะเป็นคุณูปการพื้นฐานอันสำคัญที่จะต่อยอดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปได้ในที่สุด"
    นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีการไม่บรรจุวาะการขอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 23 มิย.ว่า การที่สภาไม่บรรจุวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ทำให้โอกาสแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับแทบจะไม่มี ถ้าแก้มาตรา 256 ไม่ได้ เรื่องสำคัญอย่างมาตรา 272 เรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ จะไม่มีโอกาสปิดสวิตช์ ส.ว.ได้เลย เพราะการไปยื่นแก้รายมาตราเรื่องมาตรา 272 นั้นไม่มีโอกาสผ่านได้ ในสมัยประชุมแต่ละครั้งจะยื่นขอแก้ รธน.ได้ครั้งเดียว เมื่อพรรคเพื่อไทยยื่นไปแล้วไม่ถูกบรรจุเข้าวาระ ในวันที่ 21 มิ.ย.พรรคเพื่อไทยจะประชุมหารือเรื่องดังกล่าว เพื่อสอบถามแนวทางความชัดเจนจากประธานรัฐสภาอีกครั้ง จะทำทุกวิธีให้มีการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่าง รธน.ใหม่ให้ได้
    นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคขอย้ำจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยื่นแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของ รธน.ปี 60 ระหว่างนี้หากเกิดการยุบสภาและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนมี รธน.ฉบับใหม่  จึงเห็นว่าต้องแก้ไขกติกาให้เป็นประชาธิปไตยในบางประเด็นไปก่อนด้วย คือการตัดอำนาจ ส.ว.ไปก่อน แล้วให้ ส.ส.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในตัวนายกฯ และแก้ระบบเลือกตั้งเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบที่เคยใช้มาแล้วใน รธน.40 และ 50  
     "การเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนั้น เนื่องจากมองว่าสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้มากที่สุด ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิ์ส่งผู้สมัคร ส.ส.ในทุกระบบอย่างเท่าเทียมกัน  กติกานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใด อีกทั้งนี้เคยใช้มานานแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดเพื่อตัวเอง แต่เป็นการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องกติกาการเข้าสู่อำนาจ และได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้ประชาชน" นายนพดลกล่าว
    นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงถึงการประชุมร่วมรัฐสภาจะไม่มีการบรรจุระเบียบวาระในญัตติร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ของพรรคเพื่อไทยว่า ไม่เห็นด้วย แม้พรรคไม่ได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีความเห็นต่างในการปิดกั้นไม่ให้มีการแก้หมวด 1  หมวด 2 แต่เห็นว่ารัฐสภาควรมีอำนาจพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 
    นายพิจารณ์กล่าวว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่มีการระบุว่ารัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มี ส.ส.ร.ได้ จึงเห็นว่าการบรรจุหรือไม่บรรจุวาระหรือญัตตินี้เข้าไปก็เป็นหลักการเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อตอนวาระที่ 3 ในสมัยประชุมที่แล้ว จึงไม่เหมาะสมที่ประธานรัฐสภาจะด่วนตีความไปเสียเองว่า ร่างดังกล่าวไม่สามารถบรรจุในระเบียบวาระการประชุมได้ จึงเรียกร้องและยืนยันว่าสมาชิกรัฐสภาจะต้องร่วมกันผลักดันและเร่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … ที่จะมีขึ้นวันอังคารที่ 22 มิ.ย.นี้ และเมื่อพิจารณาเสร็จผ่านวาระ 3 พรรค ก.ก.จะเสนอญัตติด่วนต่อรัฐสภาให้มีการพิจารณามติให้คณะรัฐมนตรีจัดทำประชามติถามประชาชน ว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน รธน.ฉบับปี 60
    นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่  โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ควรจะมาร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลักก่อน ไม่ใช่เพื่อพรรคตนเป็นหลัก ต้องให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และป้องกันการซื้อเสียงได้ การเสนอการแก้ไขรายมาตราของพรรคใหญ่ๆ ในขณะนี้ เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ของพรรคตน เพื่อให้พรรคใหญ่ๆ ได้เปรียบพรรคเล็กๆ เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะสรุปผลมาในรูปแบบไหน พรรคพลังธรรมใหม่ก็พร้อมจะสู้ทุกรูปแบบ"
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว วิพากษ์วิจารณ์บทบาทพรรคการเมืองต่างๆ ประเด็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า "เท่าที่ดูร่างแก้ไข รธน.ของพรรคการเมืองต่างๆ รวม 13 ร่าง เห็นได้ว่าเป็นการแก้ไข รธน.เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักการเมืองในเรื่องการแย่งชิงอำนาจในการเลือกตั้งและล้วงลูกในการพิจารณางบประมาณ ทั้งการแทรกแซง ก้าวก่ายข้าราชการประจำมากกว่าที่จะเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แม้จะมีการแก้ไขเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ้าง ก็สักแต่ว่าร่างขึ้นมาเพื่อตบตาเท่านั้นแหละ จะแก้หรือไม่แก้ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับประชาชน บอกได้เลยว่าการแก้ครั้งนี้เพื่อต้องการเอาชนะคะคานกันทางการเมืองในการเลือกตั้ง 
    ส่วนประเด็นเรื่องตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ นั้น แม้ผมจะยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุนเต็มที่ ไม่เปลี่ยนแปลงยอมปิดสวิตช์ตัวเอง แต่ดูบรรยากาศและการดำเนินการของพรรคแกนนำ ทำเสมือนรู้แล้วว่าคงไม่ผ่าน แต่ก็ทำๆ ไปอย่างนั้นแหละ ก็เสนอมาประหนึ่งว่าต้องการให้เป็นประชาธิปไตยปิดบังและหลอกตัวเองเท่านั้น หาได้มีใครจริงจังที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ไม่ยอมสยบกับอำนาจและหวังจะอยู่กับอำนาจหลอกตัวเองและหลอกประชาชนแท้ที่จริง"
    ขณะเดียวกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ โดยระบุว่า ตามที่พรรค พปชร.ได้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตัดบทลงโทษ ส.ส., ส.ว.และกรรมาธิการที่แทรกแซงการจัดทำงบประมาณประจำปี ตามมาตรา 144 และตัดข้อห้ามมิให้ ส.ส.และ ส.ว.แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ ตามมาตรา 185 นั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเห็นว่า การแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศล้มเหลว เพราะการตัดบทลงโทษดังกล่าวเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถสอดแทรก ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่เป็นฝ่ายบริหารได้โดยง่าย 
    "ที่ผ่านมางบประมาณแผ่นดินได้ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม มีการคดโกงเกิดขึ้นอย่างมากมายจากการสอดแทรกใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นขอ  นอกจากจะเปิดทางให้เกิดการคดโกงแล้วยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่"
    แถลงการณ์ระบุอีกว่า "การต่อสู้เอาชนะคอร์รัปชันต้องชัดเจนทั้งหลักการและวิธีการ การมีมาตรการที่ครอบคลุมปฏิบัติได้จริงจังจึงจะพิสูจน์ความเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงและวาระแห่งชาติในการต่อต้านคอร์รัปชันได้ การลดทอนให้เหลือเพียงหลักการลอยๆ ไม่มีแนวปฏิบัติปราศจากบทลงโทษ แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจเด็ดขาดในการปราบปรามคอร์รัปชัน ทำให้คนโกงย่ามใจ คนไทยทั้งชาติอยู่ในสภาวะของการจำยอมกับการโกงของผู้มีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง  ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอคัดค้านการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราดังกล่าวอย่างถึงที่สุด".
      


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"