"บิ๊กตู่" ปลุกทุกหน่วยทำงานเต็มที่ เดินหน้าสู่เป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วันเดือน ต.ค.นี้ "ดร.กนก" ชมนายกฯ กล้าตัดสินใจ แนะบริหารความเสี่ยงต้องพึงระวัง 4 เรื่อง ย้ำสำคัญต้องไม่พูดกลับไปกลับมา "แพทย์ชนบท" บอกหัวใจเปิด ปท.อยู่ที่วัคซีนต้องเพียงพอ "อนุสรณ์" ชี้ไทยยังไม่พร้อมขอให้ชะลอก่อน หวั่นซ้ำรอยชิลี "โพล" ชี้ ปชช.หนุนรัฐบาลเปิดประเทศแต่ต้องควบคู่การคุมโควิดเข้มงวด
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ถึงการเปิดประเทศใน 120 วันว่า ขอกล่าวสิ่งที่ผมพูดไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอีกครั้ง เรื่องตั้งเป้าให้ประเทศไทยควรต้องพร้อมภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคมที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ โดยไม่มีเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยากจนเกินไป หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคนแล้ว
"ผมขอตอกย้ำอีกครั้งให้ทุกหน่วยงานและทุกคนที่เกี่ยวข้องทำงานอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้มีใครตั้งต้นด้วยข้อจำกัดที่คิดว่าเป้าหมายนี้จะทำไม่ได้ วันนี้ประชาชนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทุกวัน ทุกสัปดาห์มีค่าสำหรับเขา ดังนั้นขอให้ร่วมมือกันทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อวิ่งไปให้ถึงเส้นชัยคือเป้าหมาย 120 วันให้ได้ เราต้องทำงานแบบมีเป้าหมายที่จริงจัง ชัดเจน แน่นอนครับว่าอาจจะมีปัจจัยภายนอกที่มารบกวนเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งมอบวัคซีน เรื่องสายพันธุ์ใหม่ๆ หรือเรื่องอื่นๆ แต่เราทุกคนต้องทำให้เต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายของเราให้ได้ครับ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน เป็นการประกาศนโยบายการแก้ปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชัดเจน ที่แสดงภาวะผู้นำของการกำหนดเป้าหมายการบริหารประเทศที่ท้าทายความเสี่ยงต่างๆ นับเป็นความกล้าหาญที่ควรได้รับคำชม
ศ.ดร.กนกกล่าวว่า ความสำเร็จของนโยบายขึ้นกับการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้ได้ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ที่ควรพิจารณา ที่ขอฝากให้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีพิจารณาคือ 1.การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ทำให้วัคซีนที่ฉีดไปแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ หรือคุ้มกันได้ต่ำ จึงทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ที่คิดว่าจะเกิดไม่เกิดขึ้น การติดเชื้อไวรัสกลับมา ขยายจำนวนอีก 2.ประชากรเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะมีความเสี่ยงต่อการเปิดให้มีการเคลื่อนที่ของคนจำนวนมากในประเทศ 3.การเปิดประเทศเพื่อให้เกิดผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำเป็นจะต้องช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มฐานรากมีกำลังและภูมิคุ้มกันทางธุรกิจที่จะกลับมาทำมาค้าขายใหม่ได้ 4.ความต่อเนื่องและเสถียรภาพของนโยบายเปิดประเทศ
ติงวัคซีนไม่พร้อมเสี่ยง
"ทั้ง 4 ข้อนี้คือการช่วยรัฐบาลคิดเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข ถ้าเกิดปัญหาขึ้น การเตรียมมาตรการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทั้ง 4 ประการนี้ คือการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับประชาชนต่อนโยบายเปิดประเทศนี้ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบาย สิ่งที่พึงระวังคือคำพูดผู้นำต้องศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในหมู่ประชาชนไม่กลับไปกลับมา" รองหัวหน้าพรรค ปชป.ระบุ
ขณะที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การประกาศจะเปิดประเทศใน 120 วันจะทำได้จริงหรือไม่ สิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์พูดสร้างความสับสน บอกจะเปิดประเทศใน 120 วัน นับจากวันที่แถลง คือวันที่ 16 มิ.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ บอกให้เริ่มนับจากวันที่ 1 ก.ค. ทำให้สับสนเริ่มนับจากวันใด ที่สำคัญการเปิดประเทศต้องมีวัคซีน
"ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% หรือ 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ขณะนี้เพิ่งฉีดไปได้แค่ 7.3 ล้านคน ไม่สามารถฉีดได้วันละ 5 แสนคนตามที่ตั้งไว้ แสดงว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ ต้องเลื่อนการฉีดออกไป ขณะที่ผู้ติดเชื้อแต่ละวันยังมีเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยวันละกว่า 3,000 คน แม้จะบอกว่ามีวัคซีนอยู่ตามแผนวัคซีน 105.5 ล้านโดส แต่บอกไม่ได้ว่าจะได้ฉีดเมื่อใด ที่ไหน แล้วจะเปิดประเทศได้จริงหรือไม่" ส.ส.มหาสารคาม พรรค พท.กล่าว
ส่วนชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความเรื่อง "ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 14" เปิดประเทศใน 120 วัน มุมมองในทัศนะแพทย์ชนบท ระบุตอนหนึ่งว่า การนับวันถอยหลังเตรียมเปิดประเทศแทน 16 มิ.ย.2564 นายกฯแถลงเป้าหมายของประเทศได้อย่างแหลมคมว่าตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน เราก็ไม่สามารถรอจนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน จากเดิมที่ทุกคนเข้าใจเองโดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศว่าน่าจะเปิดประเทศได้ในช่วงหลังปีใหม่ 2565 เพราะเราฉีดวัคซีนกันครบ 2 เข็มแล้ว ครั้งนี้ทีมงานนายกฯ ขยับเวลาแห่งความหวังให้เร็วขึ้นมาอีก 2 เดือน ด้วยชุดคิดพยุงเศรษฐกิจและเห็นว่าช่วงตุลาคมนั้นตามแผนเดิมของรัฐบาล คนส่วนใหญ่ราว 60% จะได้วัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แล้วบางส่วนก็ได้ 2 เข็มไปบ้างแล้ว
แพทย์ชนบทระบุว่า ข่าววงในสุดๆ บอกว่าการแถลงข่าวของนายกฯ ประยุทธ์ต่อเรื่องการเปิดประเทศ 120 วันในครั้งนี้ กุนซือที่ชงเรื่องมาจากสายเศรษฐกิจในนามของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่มีสภาพัฒน์เป็นเลขาฯ ใหญ่ และที่น่าสนใจคือการตัดสินใจครั้งนี้ของนายกฯ ประยุทธ์ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสายสาธารณสุขเองก็รู้เรื่องพร้อมประชาชน นายกฯ อาจจะคิดว่า ถ้าปรึกษาพวกหมอๆ แล้วคงไม่ได้เปิดประเทศเดือนตุลาคมเป็นแน่แท้ คำถามใหญ่ที่สำคัญคือ 120 วันเปิดประเทศนี่คือเป้า แต่แผนปฏิบัติการไปสู่เป้าหมายนี้คืออะไร มีไหม อย่างไร เรายังไม่เห็นและไม่มีใครเห็น
"หัวใจของการเปิดประเทศจึงอยู่ที่จำนวนวัคซีนที่จะได้ฉีดกันอย่างถ้วนหน้าไหมอยู่ดี ทีมงานรัฐบาลก็รู้ว่าจำนวนวัคซีนคือปัจจัยชี้ขาดแอสตร้าฯ ไทยแลนด์ในเดือน ก.ค.เป็นต้นไปจะส่งได้ 10 ล้านโดสตามที่รัฐบาลระบุไว้จริงไหม ซึ่งคงต้องลุ้นอย่างหนัก ดังนั้นช่วงนี้จึงเห็นความพยายามที่จะนำเข้าวัคซีนเพิ่มขึ้น มีการเจรจาขอซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 28 ล้านโดส เร่งรัดนำเข้าไฟเซอร์เพื่อเด็กนักเรียน เป็นต้น และหากมีการระบาดระลอกใหม่ที่มาจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามา วัคซีนที่เราฉีดไปอาจไม่สามารถสร้างภูมิป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้เต็มที่ ก็จะเกิดพีกการระบาดขึ้นมา ดังนั้นการป้องกันการเข้ามาของเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาตามแนวชายแดนจึงสำคัญมากๆ นายกฯ กำลังสื่อสารเพื่อสร้างความหวัง แต่นั่นอาจไม่ใช่ความจริง ถ้าวัคซีนไม่พอ และมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์" ชมรมแพทย์ชนบทระบุ
หนุนเปิด ปท.คู่คุมโควิด
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวแสดงความห่วงใยการเร่งเปิดประเทศโดยไม่มีมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ดีพอ ว่าอาจทำให้ไทยเผชิญความเสี่ยงการระบาดครั้งใหญ่ด้วยโควิดกลายพันธุ์ และอาจซ้ำรอยความผิดผลาดของประเทศชิลี ต้องกลับมาปิดประเทศและปิดเมืองหลวงอีกรอบหนึ่ง แม้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 75% มีความเสี่ยง และมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้น เพราะประเทศชิลีใช้ซิโนแวคเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำ แม้จะป้องกันการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตได้ก็ตาม
"จากการประเมินความเสี่ยงต่างๆและการกระจายฉีดวัคซีนในไทยแล้ว เห็นว่าควรชะลอการเปิดประเทศไปช่วงต้นเดือน ธ.ค. และเลื่อนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นต้นเดือน ก.ย. หากเร่งเปิดประเทศ เปิดเมืองท่องเที่ยว โดยที่ยังไม่พร้อมในการรับมือการควบคุมการแพร่ระบาดได้มากกว่า 90% ต้องชะลอแผนเปิดเมืองไปก่อน" นายอนุสรณ์กล่าว
วันเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อการเปิดประเทศใน 120 วัน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 91.4 เห็นด้วยต่อการเปิดประเทศ ควบคู่ไปกับการควบคุมโรคการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หลังจากทุกคนได้วัคซีนเข็มแรกอย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.9 เชื่อว่าความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ยังส่งผลดีต่อการควบคุมโควิด-19, ร้อยละ 92.7 ระบุเกิดการแพร่ระบาดที่ไหนให้ปิดเฉพาะพื้นที่นั้น ไม่ใช่ปิดทั้งประเทศ, ร้อยละ 88.7 ระบุความตื่นตัวกระตือรือร้นป้องกันการแพร่ระบาดของภาคประชาชนกันเองในแต่ละพื้นที่ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้ตามที่กำหนด, ร้อยละ 88.2 ระบุความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขไทยส่งผลดีต่อการควบคุมโรค และร้อยละ 86.9 ระบุนโยบายดีและมาตรการที่ชัดเจนของรัฐบาลจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศได้
ที่น่าเป็นห่วงคือ ความกังวลของประชาชนที่พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 96.3 กังวลต่อการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แรงงานต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยปละละเลย, ร้อยละ 92.7 กังวลต่อการมั่วสุม พนัน เสพยาเสพติด แหล่ง แพร่ระบาดโควิด, ร้อยละ 92.6 กังวลต่อ สถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย, ร้อยละ 91.6 กังวลต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ รุนแรงกว่าเดิมเข้าไทยอีก, ร้อยละ 89.5 กังวลว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอ ไม่ถึงเป้าหมายฉีดครบใน 120 วัน, ร้อยละ 83.9 กังวลต่อการรวมตัวกันและชุมนุมทางการเมือง
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.4 ต้องการให้รัฐมีมาตรการเข้มงวดจริงจังแก้โควิดและส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัย การ์ดไม่ตก, ร้อยละ 94.9 ต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงต้นปี พ.ศ.2565 เพียงพอ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และร้อยละ 84.7 ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาเด็กไทยเสียโอกาสทางการศึกษามาช่วงเวลาร่วม 2 ปี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |