หลังโควิด จัดทริปเที่ยวตามรอย“หนัง-ละคร”ที่ลำปาง


เพิ่มเพื่อน    

บ้านป่องนัก จ.ลำปาง

 

 

 

     จังหวัดลำปางได้ชื่อว่า เป็น“เมืองรอง” แต่เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีสถานที่สำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่น้อยหน้าพื้นที่อื่นใด ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ เพราะนครลปางไม่ได้เลืองชื่อแค่ชามตราไก่ และรถม้าอย่างที่หลายคนเข้าใจ

       หากเป็นแฟนเพจ ททท.สำนักงานลำปาง เมื่อเร็วๆนี้ ได้เห็นโพสต์นำเสนอโลเคชั่นอันสวยงาม ซึ่งบรรดาผู้จัดละคร รวมไปถึงทีมถ่ายโฆษณาชื่อดังต่างพากันมาปักหมุดใช้พื้นที่ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของวิถีวัฒนธรรม  ประเพณี เพื่อสร้างการรับรู้และแรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น ช่วยกระตุ้นการเดินทางในประเทศ  ส่วนจะมีที่ไหนบ้างลองตามไปดูกัน

     วัดศรีรองเมือง ใช้ถ่ายทำละครเรื่อง รากนครา (ช่อง3) นับเป็นหนึ่งในวัดพม่าที่สวยงามของจังหวัดลำปาง วิหารศรีรองเมืองเป็นอาคาร 2 ชั้น มีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ส่วนที่เป็นชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนบนทำด้วยไม้พระพุทธรูปประธานประดิษฐานอยู่ที่เรือนยอดตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของอาคาร ภายในประดับตกแต่งด้วยลายไม้แกะสลักและปูนปั้นลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกสีสวยงาม วิหารไม้แบบไทใหญ่ของวัดศรีรองเมืองขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร เมื่อปี 2524

หอศิลป์ลำปาง 

 

        หอศิลป์ลำปาง ใช้ถ่ายทำละครเรื่อง สองนรี (ช่อง7) แหล่งเรียนรู้แห่งนี้เป็นเรือนไทยทรงล้านนาประยุกต์อายุ 32 ปี  สร้างโดยการนำงานไม้ที่รื้อถอนจากอาคารเดิมที่มีอายุเกือบ 1 ศตวรรษ อนุรักษ์เชิงสงวนรักษาใหม่ โดยมูลนิธินิยม ปัทมะเสวี ซึ่งยังคงรักษากลิ่นอายความเก่าแก่และเอกลักษณ์ไว้อย่างครบถ้วน คว้ารางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนา โดยกรรมาธิการสถาปนิกสยามล้านนา เปิดเป็นหอศิลป์ลำปาง มูลนิธินิยม ปัทมะเสวี ในเดือนมกราคม 2553

      วัดปงสนุก ใช้ถ่ายทำละครดังเรื่อง เพลิงพรางเทียน (ช่อง3) วัดนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองเขลางค์รุ่นที่ 2 ประกอบด้วยวัดแฝด 2 วัดคู่กัน ได้แก่ วัดปงสนุกด้านเหนือ กับ วัดปงสนุกด้านใต้ และเนินสูงเป็นที่ตั้งของเจดีย์มณฑปปราสาทและพุทธไสยาสน์ สำหรับมณฑปวัดปงสนุกมีลักษณะเป็นหลังคาซ้อน 3 ชั้น ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา พม่า จีน ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นฝีมือช่างชาวเชียงแสน เลียนแบบ หอคำเมืองเซียงเกี๋ยง (เชียงเจิ๋ง) ในสิบสองปันนา ประเทศจีน

    บ้านป่องนัก ใช้ถ่ายทำละครเรื่อง หนึ่งในทรวง (ช่อง3) บ้านป่องนัก หรือ พิพิธภัณฑ์มณฑลทหารบกที่ 32 เป็นบ้านในค่ายสุรศักดิ์มนตรี ตั้งอยู่ใน ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2468 โดยกรมยุทธการทหารบก และควบคุมการก่อสร้างโดย พันโท พระมหาณรงค์เรืองเดช ผู้บังคับกองทัพที่ 1 กรมทหารราบที่ 17 เป็นบ้านที่มีหน้าต่างมากถึง 469 บาน หน้าต่างในภาษาคำเมือง เรียกว่า “ป่อง” บ้านหลังนี้จึงถูกเรียกว่า บ้านป่องนัก ที่นี่เคยใช้เป็นพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งเสด็จฯ มณฑลพายัพ เดือนม.ค.ปี2469 ต่อมาเดือน มี.ค. ปี 2501 ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคเหนือได้จัดให้เป็นพลับพลาที่ประทับอีกครั้ง

     สะพานรัษฎาภิเศก ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์คอมมาดี้เรื่อง สตรีเหล็ก 1 เป็นสะพานคอนกรีตอายุร้อยกว่าปีคู่นครลำปาง สร้างขึ้นครั้งแรกในรูปแบบสะพานไม้ สมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตย์ ผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 สะพานยาว 120 เมตร ชื่อ “รัษฎาภิเศก” มีที่มาจากการสร้างสะพานเพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนาม “รัษฎาภิเศก” ให้กับสะพาน และได้เปลี่ยนรูปแบบสู่สะพานไม้เสริมเหล็กและสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กในปี 2460

      สถานีรถไฟนครลำปาง ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง สตรีเหล็ก 2  มีเส้นทางห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ 842  กิโลเมตร สร้างขึ้นราวปี 2458 เปิดใช้งานเมื่อครั้งรถไฟหลวงขบวนแรกเดินถึงจังหวัดลำปางในวันที่ 1 เม.ย. ปี 2459 รองรับขบวนรถรถร่วมพิษณุโลก-ลำปาง และ อุตรดิตถ์-ลำปาง ก่อนมีรถด่วนสายเหนือตรงจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาทำขบวนเมื่อ 1 พ.ย. 2465 โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟนครลำปางเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีปีก 2 ข้าง เชื่อมกับโถงกลาง รูปแบบสถาปัตยกรรมโคโลเนียล มีการใช้โค้งและการประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุและปูนปั้น

 วัดพุทธบาทสุทธาวาส

 

       วัดพุทธบาทสุทธาวาส ใช้ถ่ายทำหนังเรื่อง หลวงพี่แจ๊ส 4G วัดเจดีย์ลอยฟ้าหนึ่งเดียวในลำปาง มีชื่อเรียกอีกหลายนาม เดิมคือ วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง และ วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยพระบาท อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ไฮไลท์ที่น่าสนใจมีเจดีย์บนยอดเขาคล้ายลอยอยู่บนท้องฟ้า และมีรอยพระบาทพระพุทธเจ้าจารึกบนแผ่นหินขนาดใหญ่เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านมายาวนาน

      วัดพระธาตุดอยพระฌาน ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำโฆษณาสินค้า วัดนี้ยู่บนยอดเขาอันเงียบสงบที่เรียกว่า “ดอยพระฌาน” เห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามของ อ.แม่ทะ ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวสามารถเห็นทะเลหมอดยามเช้า ประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี พุทธศาสนิกชนชาวป่าตัน อ.แม่ทะ และตำบลใกล้เคียงจะเดินขึ้นดอยไปสักการะพระธาตุดอยพระฌานถือเป็นประเพณีสำคัญ มีการจัดบั้งไฟบูชาพระธาตุและการแข่งขันบั้งไฟจนถึงปัจจุบัน

       กาดเก๊าจาว ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง กอด เป็นตลาดของชาวลำปางใกล้สถานีรถไฟนครลำปาง มีประวัติยาวนานกว่าร้อยปี เริ่มปี 2453 พ่อค้าแม่ค้าใช้บริเวณลานระหว่างป่าต้นขะจาวและวัดนาก่วมเหนือสำหรับขายสินค้า ให้กับคนงานก่อสร้างทางรถไฟในยุคสมัยนั้น จึงเรียกตลาดว่า “กาดเก๊าจาว” แม้เวลาจะล่วงเลย แต่วิถีชีวิตของพ่อค้าแม่ค้ายังคงเหมือนเก่า จนกระทั่งมีการสร้างตลาดขึ้นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโครงสร้างไม้มุงหลังคาด้วยใบตองตึง จึงเรียกว่า “กาดตองตึง” ต่อมาเกิดไฟไหม้ เปลี่ยนมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์บนห้องแถวไม้สองชั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งนี้ ตลาดเก๊าจาวมีชื่อจริงว่า ตลาดรัตน์ ตั้งชื่อตามหลวงเสรีเริงฤทธิ์รัตนยนต์ ผู้ว่าราชการรถไฟ บรรยากาศที่มีตึกเก่า แสดงถึงความงามทางสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

       ปิดท้ายที่ วัดไหล่หินหลวง ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท วัดสำคัญเก่าแก่ของลำปางอายุหลายร้อยปี จากหลักฐาน ปี พ.ศ.2181 เป็นอารามเล็กๆ มีพระภิกษุสามเณรมาอาศัยบวชเรียน ในตำนานการสร้างวัดกล่าวอ้างถึง “พระมหาป่า” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสที่ถือธุดงควัตรเป็นหลักปฏิบัติสืบทอดศาสนา มี“พระมหาป่าเกสรปัญโญ” (ครูบาศีลธรรมเจ้า) ชาวบ้านศรัทธา  ทั้งนี้ ผู้สร้างหนังสุริโยไทใช้บริเวณหน้าวัดไหล่หินเป็นฉากที่พระมหาเทวีจิรประภาแห่งเมืองเชียงใหม่ต้อนรับทัพของพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา

      นครลำปางมีของดีมากมาย  หลังโควิดถ้ามีโอกาสออกเที่ยวไปเยือนลำปาง อย่าลืมเช็คอินสถานที่ดังกล่าว จะได้สัมผัสความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"