‘ส.ว.วันชัย’ฟุ้งร่วมปิดสวิตช์วุฒิสภา


เพิ่มเพื่อน    

ข้าคือผู้ถูกต้อง! "รังสิมันต์"  ไม่สนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซัด "ชวน" สกัดร่างแก้ไข รธน.ตั้ง ส.ส.ร.ตั้งแต่ต้น เท่ากับขวางความต้องการของประชาชน "วันชัย" คึก! ยืนยันจุดยืนเดิมสนับสนุนมาตรการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ 
    เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้ความเห็นกรณีนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ในฐานะคณะที่ปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  ระบุว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายค้าน เป็นร่างที่นําไปสู่การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมิใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ขัดต่อคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ว่านายชวนบอกเช่นนี้ไม่ได้ ต้องให้สภาเป็นผู้พิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หากพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็นร่างที่สามารถทำได้ แล้วนายชวนมาตัดสินทันทีแบบนี้ ตนคิดว่าเป็นการเกินเลยจากอำนาจที่สภามอบให้
    "เรื่องนี้มีหลายมุมมอง พรรคเพื่อไทยคงหวังว่าเมื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว พ.ร.บ.ประชามติคงจะออกมาพอดี ซึ่งก็เป็นประเด็นดีเบตอยู่ด้วยในเรื่องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับสภาว่า จะตัดสินใจอย่างไร ยกตัวอย่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่งเรามีการโหวต หากเป็นอำนาจของประธานรัฐสภาที่จะสามารถสกัดตัวร่างที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น ทำไมตอนนั้นไม่สกัด ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้โหวต เพราะเป็นอำนาจของสภาที่จะต้องไปพิจารณาว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นเป็นอย่างไร ผมยืนยันว่าคุณชวนไม่ควรสกัดร่างนี้ตั้งแต่ต้น"
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปได้อย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์ตอบว่า ถ้าเอาโมเดลแบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านสภา ซึ่งจะมีกำหนดพิจารณาในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ หลังจากนั้นเราสามารถที่จะเสนอไปที่รัฐสภาโดยทำเป็นญัตติเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ หากสภามีมติว่า ควรจะมีการทำประชามติ ก็จะส่งเรื่องไปที่ ครม. เพื่อให้ ครม.จัดทำประชามติต่อไป ทั้งนี้ ต้องมีดุลพินิจจาก ครม.เหมือนกันว่าจะยอมหรือไม่ 
    "เชื่อว่าถ้าสภามีมติเช่นนั้น ครม.คงไม่กล้าขัดขวาง เพราะการขวางพวกเราเท่ากับขวางความต้องการของประชาชน"
    นายรังสิมันต์กล่าวว่า เมื่อทำประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็จะสามารถเสนอให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่ต้องกังวลแล้วว่าจะแก้หมวด 1 หรือหมวด 2 ไม่ได้ ซึ่งในมุมนี้ข้อเสนอของเรา คือ ส.ส.ร.จะมีอำนาจเต็มที่ในการแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทุกหมวดทุกมาตรา แต่ไม่ได้หมายความจะต้องมีใครไปแก้หมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องที่ ส.ส.ร.จะว่ากัน ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน
    ถามว่า เป็นเกมการเมืองหรือเรื่องข้อตัวบทกฎหมาย ส.ส.ก้าวไกลผู้นี้ตอบว่า  นายชวนคงเชื่อว่าทำไม่ได้ แต่สุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นเกมการเมืองหรือไม่นั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะคิด เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายมุ่งแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราโดยไม่สนใจว่าจะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ ทางฝ่ายค้านยืนยันว่าสุดท้ายเราต้องการจะเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่อผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นการสกัดไม่ให้มีการยื่นเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แน่นอนว่าผลไม่เป็นคุณต่อเรา และไม่เป็นคุณต่อประชาชน
คำวินิจฉัยศาล รธน.ไม่ชัดเจน
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายชวนยกเอาคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนมาอ้างเท่านั้น ถ้าอ่านคําวินิจฉัย โดยรวมทั้งหมด ทั้งคําวินิจฉัยในปี 2555 และปี 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ห้ามจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภาสามารถใช้บทบัญญัติว่า ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เพียงแต่ให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ลงประชามติเสียก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
    จริงอยู่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติอํานาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้เฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพราะคงไม่มีผู้ร่างรัฐธรรมนูญคณะใดที่จะเขียนให้จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างขึ้น การเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม บวกกับวิธีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั่นเอง ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้บอกว่าผิดทําไม่ได้ เพียงแต่ให้ไปทําประชามติเสียก่อนการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความไม่ชัดเจน แม้คําวินิจฉัยกลางออกมา ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เห็นได้จากการประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ควรหยิบยกเฉพาะบางส่วน บางตอนของคําวินิจฉัยมากล่าวอ้าง ต้องพิจารณาคําวินิจฉัยโดยรวมทั้งหมด
    นายชูศักดิ์กล่าวว่า การทําประชามติโดยรวมต้องใช้มติรัฐสภาเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรี เพราะการทําประชามติตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทําได้ใน 2 กรณีเท่านั้น คือ ครม.เห็นสมควร กับรัฐสภามีมติตามมาตรา 256 แล้วแจ้ง ครม.ดําเนินการ จึงต้องริเริ่มเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเสียก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) และมาตรา 256 สมมติประชามติผ่าน ให้จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็มิใช่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ได้โดยอัตโนมัติ ในที่สุดก็ต้องมาดําเนินการตามมาตรา 256 โดยเสนอเป็นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การตีความว่าญัตติของฝ่ายค้านขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นเดดล็อก ทําอะไรไม่ได้เลย จะต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปชั่วนิจนิรันดร์
    เขาบอกว่าจะขอดูเหตุผลจากประธานรัฐสภาและจะหารือกันเพื่อหาทางออก   เพราะกรรมการบอกญัตติยังไม่ตกไป ตนเห็นว่าปัญหาสําคัญอยู่ที่คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจนส่วนหนึ่ง แต่อยากจะเรียกร้องทุกฝ่ายว่า รัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาของประเทศ และควรมีรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ เราเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาแล้ว หากอยากจะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศทางเดียวคือจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน
ส.ว.หนุนปิดสวิตช์ ส.ว.
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา  ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ ว่าตนยืนยันจุดยืนเดิมในการสนับสนุนมาตรการปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วน ส.ว.คนอื่นจะคิดอย่างไร สนับสนุนหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
     ความจริงจะมี ส.ว.หรือไม่มี ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ไม่อยากให้ ส.ส.หรือพรรคการเมืองหลงประเด็นต่อมาตรานี้ ซึ่งจะมีมาตรานี้หรือไม่ ส.ส.ก็เป็นใหญ่อยู่แล้ว เพราะตามรัฐธรรมนูญอำนาจของรัฐบาล และใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ ส.ส.และพรรคการเมืองทั้งสิ้น ไม่ได้เกี่ยวกับ ส.ว. แม้จะมีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี ก็จะโหวตตามที่ ส.ส.มีเสียงรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่ง ฉะนั้นถ้า ส.ส.รวมตัวกันได้เกินกึ่งหนึ่ง เช่น 270-300 เสียง ส.ว.ก็จะต้องโหวตให้คนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว เพราะคนจะเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลได้นั้น จะต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะบริหารประเทศได้
        "หาก ส.ว.โหวตคนที่มีเสียงในสภาไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือว่า ส.ว.สวนกระแสประชาชน รัฐบาลก็จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน กฎหมายใดเข้าสภาก็ล้ม จึงไม่อยากให้ ส.ส.และพรรคการเมืองหลงประเด็นและโจมตี ส.ว. และที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เพราะ ส.ว. แต่เพราะพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคเล็กพรรคน้อยที่โหวตท่าน ส.ว.จึงโหวตตาม หาก ส.ส.รวมกันได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ผมเชื่อว่าไม่มี ส.ว.คนใดที่จะขวางมติประชาชนแน่" นายวันชัยกล่าว
    ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมายของพรรค ที่มีนายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมาย เป็นประะธานการประชุมเพื่อจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวรัฐธรรมนูญให้ ส.ส. นำไปอภิปายร่วมกันรัฐสภา และในวันที่ 21 เมษายน เวลา 13.30 น. จะมีการประชุม ส.ส.พรรคเตรียมความพร้อมอีกครั้ง
    เมื่อถามว่า ส.ว.ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมที่ไม่ใช่ร่างของพรรคพลังประชารัฐ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ขอเรียกร้องให้ ส.ว.อย่าตั้งหลักว่า จะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญสักฉบับ หรือไม่เห็นชอบฉบับใดฉบับหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่ได้ฟังรายละเอียดและสาระสำคัญ จึงขอให้ ส.ว.ฟังเสียงประชาชนก่อนว่าได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ส่วนใดบ้าง เมื่อรับรู้ข้อมูลครบถ้วนแล้วเชื่อว่าจะเปลี่ยนใจสมาชิกรัฐสภาได้
    ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาท้าพรรคประชาธิปัตย์ให้คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายราเมศบอกว่า เขาพูดเรื่องอนาคตมากเกินไป เพราะการที่จะให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจ ต้องฟังด้วยเหุตผลและประโยชน์ เมื่อฟังแล้วก็เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ที่จะวิเคราะห์ว่าจะรับร่างฉบับใดบ้าง หากร่างของพรรคพลังประชารัฐออกมาแล้ว อีกพรรคหนึ่งพูดด้วยความสะใจ ทั้งที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนวาระแรกเลยก็ไม่ถูกต้อง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"