"บิ๊กตู่" เปิดเสวนาบริหารจัดการน้ำ สั่งทุกหน่วยรับมือฤดูฝนปีนี้ คาดเจอพายุ 1-2 ลูก สทนช.ยันทุกจังหวัดเตรียมแผนไว้แล้ว ชี้ทุกแหล่งน้ำต้องมีเจ้าภาพ สัปดาห์หน้าลุยตรวจพื้นที่ท่วมซ้ำซาก 28 แห่ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดการเสวนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และมอบนโยบายแก่ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงกลาโหม, สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
โดยนายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายได้มาร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ทั้งวันนี้และวันข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง โดยใช้กฎหมายเป็นหลัก สิ่งใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงหรือต้องใช้วิธีการใหม่ๆ ต้องช่วยกันคิดมา อย่าปล่อยให้ติดที่ใดที่หนึ่ง ต้องบริหารทั้งคน ทั้งงาน และงบประมาณ ไม่เช่นนั้นงบประมาณจะบานปลายไปเรื่อยๆ อย่างที่ผ่านมา จึงฝากให้ทุกหน่วยงานไปสรุปและหาแนวทางร่วมกัน ต้องดูว่าใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เราจะต้องดูแลอย่างไร ซึ่งน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ อนาคตเป็นห่วงว่าถ้าหากโลกเปลี่ยนแปลงมากๆ ไม่มีน้ำ จะเกิดสงครามแย่งน้ำขึ้น อย่างประเทศไทยรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ถ้าฝนไม่ตกจะทำอย่างไร ดังนั้นรัฐบาล ข้าราชการ และประชาชนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา
ทั้งนี้เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติภายหลังปี 2558 มุ่งไปสู่ความมั่นคงทางด้านน้ำ ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลนี้ และตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้น โดยเฉพาะด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ มีแผนแม่บท โครงการต่างๆ สื่อต้องช่วยทำความเข้าใจ เพราะมีบางส่วนไม่อยากให้สร้างเพราะตัวเองได้รับผลกระทบ ถ้าทำไม่ได้จะเสียกันทั้งหมด อย่างไรก็ตามรัชกาลที่ 10 มีรับสั่งหลายครั้ง สิ่งที่รัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ ดูว่าครบหรือยัง พวกเราประชาชนต้องร่วมมือ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศชีวิต
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้การบริหารจัดการน้ำมีการวางกลไกเรื่องของกฎหมาย ตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นหน่วยงานในการบริหารจัดการ สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรามีอยู่ บูรณาการให้มีเอกภาพ พิจารณาแผนงานที่มีผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ของน้ำ พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เราพิจารณาแล้วเสริมให้ได้ในระยะเวลา 5-10 ปี ที่ยังไม่เกิดปัญหา ต้องทำตั้งแต่วันนี้
6 ยุทธศาสตร์จัดการน้ำ
สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี 2558-2569) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีเป้าหมายพัฒนาประปาหมู่บ้าน 7,490 หมู่บ้าน ปรับปรุงประปาหมู่บ้าน 9,093 หมู่บ้าน ชุมชนเมืองมีระบบประปาเพิ่มขึ้น 255 เมือง และขยายเขตประปา 688 แห่ง 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต เพื่อจัดหาน้ำต้นทุน สร้างความมั่นคงในภาคการผลิตเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยมีเป้าหมายพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำได้ไม่น้อยกว่า 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทานไม่น้อยกว่า 8.7 ล้านไร่ รวมทั้งจัดหาน้ำเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายสำคัญในภาคตะวันออกเพื่อรองรับความต้องการของพื้นที่เดิม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในภาคต่างๆ
3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพื่อลดความเสียหายจากอุทกภัยของชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยมีเป้าหมายปรับปรุงเพิ่มอัตราการไหลของน้ำมากกว่าร้อยละ 10 ในลำน้ำสายหลัก 870 กิโลเมตร ลดความเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำวิกฤติ 10 ลุ่มน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 185 แห่ง 4.การจัดการคุณภาพน้ำ เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป โดยมีเป้าหมายพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 201 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย 47 แห่ง ลดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก มูล ชี ควบคุมความเค็มบริเวณปากแม่น้ำไม่ให้เกินค่ามาตรฐานการเกษตรและการประปา กำจัดวัชพืชและขยะลอยน้ำ
5.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรมเพื่อปรับสมดุลระบบนิเวศ โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกิดป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งและ 6.การบริหารจัดการ ได้ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ จัดตั้งหน่วยงานกลาง จัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งชาติ เป็นต้น รวมทั้งให้มีศูนย์อำนวยการข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤติน้ำของชาติอย่างเป็นรูปธรรม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามประเมินผล เช่น แผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปีนี้ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงดังกล่าว คาดการณ์ว่าค่าเฉลี่ยฝนจะน้อยกว่าปี 60 ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจน่าจะเอาไปพิจารณาคราวหลังต้องคิดเป็น โดยในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้มีโอกาสที่พายุจะเข้าประเทศไทย 1-2 ลูก ทั้งนี้มีการวางแผนเพาะปลูกข้าวทั้งประเทศ 60 ล้านไร่ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อให้ทุกภาคส่วนรวม 88,700 ล้านลูกบาศ์กเมตร โดยหลังสิ้นฤดูฝนต้องมีต้นทุนสำหรับพื้นที่เกษตรในฤดูแล้งปี 61-62 ประมาณ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้มากกว่าปี 60 ประมาณ 10,910 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ได้เห็นชอบหลักการให้ปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ พ.ศ.2550 ให้เชื่อมโยงระดับประเทศสู่ภูมิภาค ผ่านการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งต้องบริหารเร่งด่วน ยึดโยงให้ได้ทั้งหมด ปรับบทบาทคณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการส่วนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2558-2569 ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีอนุกรรมการยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ เป็นประธาน ไปทบทวนแผนยุทธศาสตร์น้ำทั้งประเทศให้เสร็จในเดือน ก.ย.61
เตรียมแผนรับมือพายุ
ด้านนายสมเกียรติ ประจําวงษ์ เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำกว่า 38 หน่วย แต่มีปัญหาคือบางหน่วยทำงานไม่มีประสิทธิภาพและซ้ำซ้อน ซึ่ง สทนช.ตั้งขึ้นมาเพื่อบูรณาการและกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ให้แต่ละหน่วยงานทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ เช่นเมื่อเกิดพายุ สทนช.จะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาตัดสินใจร่วมกันในการบริหารจัดการข่าวสารต่างๆ โดยจะต้องนำมากลั่นกรองก่อนจึงจะเผยแพร่ข่าวสารแก่ประชาชน สำหรับแผนงานในปีนี้ 1.คาดการณ์สถานการณ์น้ำ 2.ป้องกันพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 3.ตรวจสอบอ่างกักเก็บน้ำ 4.กำหนดขั้นตอนการแก้ไขปัญหา และ 5.ประเมินผล
สำหรับแผนการรองรับสถานการณ์น้ำหลากปีนี้นั้น มีประมาณกว่า 10 พื้นที่ที่มีทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งในภาพใหญ่ชี้เป้าไปแล้ว ส่วนในภาพเล็กคือให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชี้เป้า ฉะนั้นการคาดการณ์จะเป็นหน้าที่ของส่วนหน้า คือ กรมอุตุนิยมวิทยา, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสดา) และกรมทรัพยากรธรณี หลังจากนั้นหน่วยงานที่บริหารจัดการที่มีพื้นที่เป็นของตัวเองและอาคารของตัวเอง คือ กรมชลประทาน, กรุงเทพมหานคร (กทม.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จะลงพื้นที่เพื่อกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่า หากเกิดน้ำหลากจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งทุกแหล่งน้ำจะต้องมีเจ้าภาพหลัก
"มีความห่วงใยเรื่องน้ำที่มีมากเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 40-50 แห่ง จึงได้สั่งการไปว่าต้องจัดทำแผนปฏิบัติการให้ชัดเจนว่า ถ้าน้ำเข้ามา ฝนตกจำนวนมากจะมีมาตรการอะไรบ้าง และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งจังหวัดจะต้องรับทราบเรื่องนี้ด้วย" นายสมเกียรติระบุ
อย่างไรก็ตามทุกจังหวัดมีแผนป้องกันดังกล่าวอยู่แล้ว และวางแผนไว้ว่าภายในเดือน มิ.ย.จะสร้างการรับรู้ให้ประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ติดตามว่าแผนที่เราทำตรงตามความต้องการของประชาชนหรือไม่ ส่วนการรับมือพายุฝนในปีนี้นั้น กรมอุตุฯ คาดว่าพายุ 1-2 ลูกจะเข้ามาในช่วงเดือน ส.ค.หรือเดือน ก.ย. ซึ่งเราเฝ้าระวังอยู่และได้มีการพร่องน้ำและทำแก้มลิงบางพื้นที่แล้ว ทั้งนี้สัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอดีตจำนวน 28 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมแผนรองรับและนำเครื่องมือไปติดตั้งประจำจุดไว้แล้ว
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ภายหลังการตั้ง สทนช.ได้มีการแบ่งงานอย่างชัดเจนมากขึ้น คือ 1.พื้นที่ความรับผิดชอบ 2.ลักษณะงานความรับผิดชอบ 3.ทรัพยากรความรับผิดชอบ เช่น เครื่องมือ และ 4.วิธีจัดการปัญหา เป็นการดำเนินงานคล้ายการแก้ไขวิกฤติน้ำในช่วงที่ผ่านมา
นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า จากนี้เมื่อเราได้ข้อมูลว่าจะมีพายุเข้ามา ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสดา) และ สทนช.เป็นต้น นำข้อมูลเบื้องต้นมาวิเคราะห์ก่อนที่จะประกาศว่าเกิดพายุ แต่ยืนยันว่ากรมอุตุฯ ยังมีหน้าที่เหมือนเดิมในการประกาศหากพายุลูกใหญ่ๆ เข้ามา นอกจากนี้ปัญหาตอนนี้คือ สื่อโซเชียลมีเดียปล่อยข้อมูลเรื่องพายุเข้าให้ประชาชนเตรียมเทียน เตรียมมีด และปืน ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งการทำงานร่วมกันจะป้องกันข้อมูลที่สับสนให้น้อยลงในเรื่องการพยากรณ์อากาศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |