องค์กรประชาชนกว่า 300 เครือข่ายนัดชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบฯ จี้นายกฯ ใช้อำนาจแบน "พาราควอต" พร้อมหามาตรการชดเชยเหยื่อที่ได้รับสารพิษ นักวิชาการ มธ.จี้ภาครัฐควบคุมการใช้ 3 วัตถุอันตรายอย่างเคร่งครัด หวั่นกรณี "ปุ๋ยปลอม" ซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐส่ง จนท.ลงตรวจสอบเข้มทุกพื้นที่
หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไปได้ โดยให้มีการจำกัดการใช้ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชน 369 องค์กร ประกาศว่าจะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่หน้าทำเนียบฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ เพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจทบทวนให้มีการแบนสารทั้ง 3 ชนิดใน 2 ปี ตามมติของ 5 กระทรวงหลักนำโดยกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ในวันที่ 5 มิ.ย. เวลา 07.00 น. จะมีการนัดรวมพลกันที่วัดเบญจมบพิตรฯ เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ โดยมีกว่า 300 เครือข่ายเข้าร่วมประมาณ 500-700 คน จะเดินทางถึงทำเนียบฯ ในเวลา 09.00 น. ซึ่งในหนังสือมีข้อเสนอทั้งหมด 3 เรื่อง คือ 1.เสนอให้นายกฯ ใช้อำนาจทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยให้มีการแบนสารพาราควอตและสารอีก 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต 2.เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยแพร่ข้อมูลสารทดแทน เพื่อเพิ่มทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้แก่เกษตรกรที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ และเพื่อไม่ให้บริษัทผู้ผลิตใช้เป็นข้ออ้าง
และ 3.เรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการทางการคลัง ในการชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากการได้รับสารพิษเหล่านี้ โดยการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทผู้ผลิตที่มีกำไรมหาศาล ไม่ต้องแบกภาระจากเงินภาษีของประชาชนเองในการชดเชยความเสียหาย นอกจากนี้ยังได้มีข้อเสนอให้มีการตรวจสอบกรรมการวัตถุอันตรายจำนวน 3 รายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานกับสำนักนายกฯ ว่าใครจะเป็นผู้มารับมอบหนังสือ
นอกจากนี้ในเวลา 14.00 น. หลังจากจบการประชุม ครม.ได้นัดหมายเข้าพบ รมว.เกษตรและสหกรณ์เพื่อเรียกร้องใน 3 เรื่อง คือ 1.ขอให้สนับสนุนการทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย 2.ให้มีการเสนอทางเลือกของการใช้วิธีการอื่นทดแทนมากกว่านี้ และ 3.เสนอมาตรการเยียวยาหรือสนับสนุนหากมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครูชนะ เสวิกุลได้แต่งเพลง "หยุดพาราควอต" เพื่อใช้ร้องในการเคลื่อนขบวน มีเนื้อร้องดังนี้ "พรรณไม้งามน้ำใสไหลเย็น เด็กน้อยเป็นเคยอยู่สดใส แต่พาราควอตทำชีวิตมีภัย มันแทรกซึมในอาหารที่เรากิน พรรณไม้งามน้ำใสไหลเย็น เด็กน้อยเป็นต้องอยู่สดใส หยุดการปนพิษในดินไทย ให้ธรรมชาติดีไว้....เพื่อลูกหลานเรา"
ด้าน ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชและการจัดการเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกควรให้ความตระหนักและพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างปัญหาสุขภาพผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และความสะดวกรวดเร็วในการกำจัดวัชพืช จากกรณีที่มีมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต แต่ให้จำกัดการใช้แทน ซึ่งสารเคมีดังกล่าวเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในแวดวงเกษตรกรไทยและนิยมใช้ในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงมากและเห็นผลเร็ว แต่ขณะเดียวกันกลับส่งผลเสียขั้นรุนแรงทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวเป็นการถาวรมากว่า 10 ปีแล้ว โดยให้ใช้สารชนิดอื่นทดแทน เนื่องจากคุณภาพชีวิตของประชากรและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
"จากการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พบว่าเกษตรกรในหลายพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งควรใช้ในปริมาณที่ฉลากแนะนำ โดยบางรายใช้ปริมาณเกินกว่าที่ฉลากกำหนดและส่งผลตามมา โดยหนึ่งในกรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือ การตรวจพบสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดของเกษตรกรจังหวัดยโสธร จำนวน 81 ราย จากทั้งหมด 82 ราย ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ากำหนดกรอบหรือวางข้อบังคับการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน อาทิ กำหนดให้เกษตรกรที่มีความประสงค์ใช้สารอันตรายต้องมีใบอนุญาต เพื่อสามารถจำกัดกลุ่มผู้ใช้ และสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารอันตราย ทั้งอัตราการใช้ ความถี่ของการใช้ การแต่งกายขณะใช้สารเคมี และวิธีการจัดการในกรณีได้รับพิษจากสารเคมี รวมทั้งมีการควบคุมการใช้งานสารอันตรายตามขนาดพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดคณะติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าตรวจสอบและชี้วัดถึงอันตรายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบแบบรัดกุม"
ผศ.ดร.ดุสิตกล่าวด้วยว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีการนำเข้าสารอันตรายอย่างพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต กว่า 44,501 ตัน, 3,700 ตัน และ 59,872 ตัน ตามลำดับ ซึ่งสามารถสะท้อนได้ชัดเจนว่าทั้งเกษตรกรไทยและภาครัฐยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีอันตราย
ผศ.ดร.บัณฑิต อนุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในภาคการเกษตร กล่าวว่ายังมีกรณีการใช้ปุ๋ยปลอมในการกำจัดศัตรูพืช วัชพืชในแปลงเกษตร ที่ยังไม่ได้รับการเพ่งเล็งหรือตรวจสอบจากภาครัฐเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบสารพิษจากกรมวิชาการเกษตร ที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ โดยมีกรณีศึกษาซึ่งพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ อ.สามชุก สุพรรณบุรี มีการใช้สารเคมีหลายชนิดมากกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานที่ฉลากกำหนด เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยที่ซื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีชนิดอื่นในการฉีดพ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่นที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างในเลือดกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ปริมาณสารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในนาข้าวและผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร อ.สามชุก สุพรรณบุรี
"ซึ่งกรณีดังกล่าวหากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างครบวงจร จะสามารถเยียวยาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยไม่ให้ถูกหลอกลวงจากการใช้ปุ๋ยปลอม และประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.กล่าวว่า จากกรณีการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร สะท้อนถึงปัญหาด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ที่ภาคการศึกษาสามารถเป็นหนึ่งในตัวแปรในการพัฒนาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ผ่านการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนการปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม และภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศ โดยคณะได้เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ เพื่อปั้นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเกษตรที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านการจัดการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ควบคู่ไปกับการมีผลผลิตเกรดพรีเมียมในอนาคต อาทิ "นวัตกรรมย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว" (ไบโอออร์กา-พลัส) ชีวภัณฑ์บำรุงดินโดยไม่ทิ้งสารพิษตกค้าง "แอปออร์แกนิก" (Organic Ledger) แอปพลิเคชันตรวจสอบคุณภาพผลผลิตย้อนหลังนับตั้งแต่เริ่มปลูก เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด 1 ครั้ง ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถช่วยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมวางแผนแก้ไขได้อย่างชาญฉลาด โดยการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning: PBL) ด้วยการลงพื้นที่จริงเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ไปสู่การหาข้อสรุปร่วมกันอย่างชัดเจน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |