อิหร่านเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อวันศุกร์ "อิบราฮิม ไรซี" ประธานศาลสูงสุดและนักการศาสนาหัวอนุรักษนิยมสุดขั้วที่โดนสหรัฐคว่ำบาตรจากการปราบปรามฝ่ายค้าน มีแนวโน้มสูงจะชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี หลังจากคู่แข่งสำคัญโดนตัดสิทธิ์ระนาวเหลือผู้สมัครแค่ 4 คน
อิบราฮิม ไรซี ตัวเก็งที่จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน หย่อนบัตรเลือกตั้งที่มัสยิดแห่งหนึ่งทางใต้ของกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 (Photo by Meghdad Madadi ATPImages/Getty Images)
ประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งจะเป็นคนที่ 8 ของอิหร่าน จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ต่อจากประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ผู้นำสายกลางซึ่งดำรงตำแหน่งครบ 2 เทอม โรฮานีนำอิหร่านทำความตกลงนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2558 ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะนำสหรัฐถอนตัวแล้วรื้อฟื้นการคว่ำบาตรอิหร่านเมื่อปี 2561 นักวิเคราะห์หลายคนมองการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชามติต่อการรับมือวิกฤติต่างๆ ของพวกผู้นำท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์
รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน กล่าวว่า ท่ามกลางการคาดเดาว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิครั้งนี้จะต่ำเป็นประวัติการณ์ อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดวัย 81 ปีที่มาลงคะแนนเป็นคนแรก กล่าวปลุกเร้าให้ชาวอิหร่านออกมาใช้สิทธิให้มาก "ทุกคะแนนสำคัญ มาลงคะแนนและเลือกประธานาธิบดีของพวกคุณ"
การลงคะแนนเริ่มเวลา 07.00 น. และปิดหีบเวลาเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 60 ล้านคนจากประชากรมากกว่า 80 ล้านคน แต่ช่วงครึ่งวันแรก จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิบางตา และมีสัญญาณว่าอาจมีคนใช้สิทธิน้อยกว่าการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียง 43% และจะเป็นสถิติต่ำที่สุดนับแต่ปฏิวัติอิสลามปี 2521
ชาวอิหร่านขาดความกระตือรือร้นกับการเลือกประธานาธิบดีครั้งนี้หลังจากการผู้สมัครที่พอมีภาษีดีหลายคนโดนตัดสิทธิ์เพื่อเอื้อต่อฝ่ายอนุรักษนิยมสุดขั้ว ผู้สมัครเกือบ 600 คนต้องผ่านการอนุมัติจากสภาผู้พิทักษ์ที่ประกอบด้วยนักการศาสนาและตุลาการรวม 12 คน แต่ผู้สมัครคนสำคัญหลายคนโดนตัดสิทธิ์ รวมถึงอดีตประธานสภาล่าง อาลี ลาริจานี และอดีตประธานาธิบดีมะห์มูด อะห์มาดีเนญาด สุดท้ายเหลือผู้สมัครมีสิทธิเพียง 7 คน แต่เพียง 2 วันก่อนวันเลือกตั้ง ผู้สมัครถูกตัดออกอีก 3 คน จึงเหลือเพียง 4 คน
กลุ่มฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านรัฐบางคนในต่างแดนเรียกร้องชาวอิหร่านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ที่พวกเขาระบุว่า ปูทางไว้สำหรับชัยชนะของไรซี ประธานศาลสูงสุดวัย 60 ปี เพื่อให้อิหร่านอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอนุรักษนิยมสุดขั้ว
คาดว่าผลคะแนนจะประกาศได้ช่วงเที่ยงวันเสาร์ของอิหร่าน หากไม่มีผู้ชนะเด็ดขาด จะต้องมีการเลือกตั้งชี้ขาดใน 1 สัปดาห์ต่อมา แต่หากไรซีชนะอย่างที่คาดการณ์กัน เขาจะเป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนแรกในยุคสมัยใหม่ที่โดนคว่ำบาตรตั้งแต่ยังไม่รับตำแหน่ง และคาดว่าจะยังเป็นเช่นนั้นต่อไปด้วย
นักการศาสนาชีอะห์หัวเคร่งรายนี้ได้รับการแต่งตั้งจากคาเมนีให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลยุติธรรมของอิหร่านเมื่อปี 2562 ไม่กี่เดือนหลังรับตำแหน่ง รัฐบาลสหรัฐประกาศคว่ำบาตรเขาด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการประหารนักโทษการเมืองฝ่ายซ้ายจำนวนมากเมื่อปี 2531 เมื่อครั้งยังเป็นรองอัยการสูงสุดแห่งศาลปฏิวัติในกรุงเตหะราน และมีส่วนร่วมกับปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเมื่อปี 2552 ไรซีปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเหล่านี้
เจ้าหน้าที่ทางการอิหร่านกล่าวกันว่า หากไรซีชนะ ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อความพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์และการผ่อนคลายการคว่ำบาตรน้ำมันและการเงินของอิหร่าน เนื่องจากบรรดานักการศาสนาในคณะปกครองของอิหร่านนั้นตระหนักดีว่าอนาคตทางการเมืองของพวกเขาขึ้นอยู่กับการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |