นักเรียนยุคโควิด’ จะมีคุณภาพอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

 

   เปิดเทอมมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา นักเรียนจำนวนมากทั่วประเทศยังไม่อาจจะไปโรงเรียนได้ ต้องเรียนออนไลน์

                เกิดคำถามถ้าโควิดไม่หายไปง่ายๆ คุณภาพการเรียนการสอนของไทยจะเป็นอย่างไร

                ผมได้ยินพ่อแม่ผู้ปกครองบ่นเรื่องภาระหนักที่ต้องรับเมื่อลูกๆ ต้องเรียนออนไลน์

                ไม่เฉพาะแต่ค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้วิถีชีวิตของพ่อแม่และลูกผิดเพี้ยนไปจากเดิมมานานกว่าปีแล้ว

                ที่สำคัญคือ “คุณภาพ” ของครูและนักเรียนจะลดลงหรือไม่

                หรือเราจะมี “นักเรียนยุคโควิด” ที่จะมีคุณภาพและมาตรฐานไปอีกอย่างหนึ่ง

                “นิวนอร์มอล” ของระบบการศึกษาของไทยจะดีขึ้น, ปานกลางหรือแย่ลงอย่างไร ยังไม่มีใครสามารถจะประเมินได้ในช่วงนี้

                คุณอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยืนยันกับนักข่าวว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทำให้ต้องจัดการเรียนการสอนในหลายพื้นที่เป็นรูปแบบออนไลน์ (Online) และ On Air

                เพราะ สพฐ.มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ครูและทุกภาคส่วน

                จึงต้องหลีกเลี่ยงการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน (On Site)

                แล้วคุณภาพการเรียนการสอนจะตกลงหรือไม่

                คุณอัมพรยืนยันว่าคุณภาพจะไม่ตก เพราะถ้านักเรียนมีข้อสงสัย หรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในการเรียนออนไลน์ แต่ละโรงเรียนก็มีช่องทางให้นักเรียนได้สื่อสารกับครู หรือสามารถเรียนซ่อมเสริมเพิ่มเติมเนื้อหาได้ เมื่อนักเรียนกลับมาเรียนที่ห้องเรียน

                แต่ก็ยอมรับว่าคุณภาพการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ไม่เท่าการจัดการเรียนในห้องเรียนอยู่แล้ว

                มาตรการชั่วคราวนี้ สพฐ.บอกว่าพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้การจัดการเรียนการสอนในทุกรูปแบบมีประสิทธิภาพมากที่สุด

                ยกตัวอย่างการเรียนในรูปแบบ On Air จะมีการฉายซ้ำถึง 3 รอบ

                นักเรียนสามารถเรียนหรือรับชมซ้ำได้

                การเรียนรูปแบบออนไลน์ก็ไม่ได้ให้เรียนกับครูตามชั่วโมงที่กำหนดเท่านั้น แต่ยังมีการทำคลิปวิดีโอเสริมให้ด้วย

                สื่อการเรียนต่างๆ ให้นักเรียนสามารถค้นคว้าด้วยตัวเองได้ด้วย

                ท่านบอกว่าท้ายที่สุดก็จะอยู่ที่ตัวนักเรียนเองว่าจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการศึกษาเรียนรู้มากน้อยขนาดไหน

                ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็น

                เพราะเมื่อประสบการณ์อย่างนี้เป็นเรื่องใหม่ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้คุณภาพการศึกษาไม่ถูกกระทบอย่างถาวร

                คุณอัมพรบอกว่า

                "ตอนนี้ สพฐ.ไม่ห่วงเลย หากไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On site ได้ทั้งปี เพราะได้เตรียมรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน มีการนับเวลาเรียนให้ และ สพฐ.ยังมีแนวคิดเพิ่มเติมในส่วนของการเรียนการสอนที่จะต้องมีการลงมือปฏิบัติจะทำในรูปแบบ Online ออกมาอย่างไร โดยอาจจะมีคลิปวิดีโอตัวอย่างจากโรงเรียน และให้นักเรียนทำตาม ทั้งในเรื่องการเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทดลองวิทยาศาสตร์ หรือการเรียนวิชาพลศึกษา รวมถึงมีการวัดและประเมินผลด้วยวิธีอื่นให้ด้วย เช่น การสอบรูปแบบ Online ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งจะใช้ตัวชี้วัดเดิม แต่จะต้องเปลี่ยนวิธีการ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน"

                ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับวัคซีนพอที่จะให้ความมั่นใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือยัง?

                คุณอัมพรแจ้งว่า ขณะนี้ครูที่ได้ลงชื่อแจ้งความประสงค์ขอรับการฉีดวัคซีนไว้ ได้รับการจัดสรรและฉีดเข็มแรกเป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว

                จากนี้ก็จะมีการดำเนินการฉีดเข็มที่ 2 ต่อไปตามวันและเวลาที่ทางเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

                ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจัดสรรให้

                โควิดกำลังทดสอบความสามารถของระบบการศึกษาไทยว่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีแผนรองรับมาก่อนมากน้อยเพียงใด

                ที่ไม่เคยต้องทำหรือลังเลที่จะทำทั้งครู, นักเรียนและผู้ปกครองวันนี้ไม่มีทางเลือก

                ไม่ใช่เพราะนโยบายจากรัฐ หากแต่เป็นเพราะไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นนี่แหละ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"