“ประยุทธ์” เมินตอบ “กำนัน” ตั้งพรรค ส่วน “ประวิตร” ชี้เป็นเรื่องที่ดี อภิสิทธิ์ยังกั๊กจับมือ ลั่นต้องขอดูอุดมการณ์ก่อน ส่งกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ว.ถึงมือนายกฯ แล้ว กกต.ย้ำห่วงไพรมารี พีระศักดิ์แย้มข่าวร้ายหย่อนบัตรท้องถิ่นอาจช้ากว่าเลือกตั้งใหญ่!
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นในกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โดยเมื่อถูกถามได้เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าด้วยสีหน้าที่บึ้งตึงในทันที
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า แล้วแต่เขาว่าเขาจะคิดอย่างไร แต่ส่วนตัวเห็นว่านายสุเทพมาตั้งพรรคการเมืองก็ดี มาร่วมมือกันหลายส่วน พร้อมปฏิเสธไม่เห็นภาพนายสุเทพหลั่งน้ำตา
ส่วนกรณีนายสุเทพบอกว่า ต้องยอมตระบัดสัตย์เพราะมาทำงานเพื่อประชาชน พล.อ.ประวิตรระบุว่า เขาคิดอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แล้วแต่เขา เมื่อซักต่อว่าสะท้อนใจหรือไม่ที่คนระดับนายสุเทพต้องมาหลั่งน้ำตาเพื่อมาทำงานทางการเมือง รองนายกฯ กล่าวว่าไม่ตอบ ไปซับอะไรเขา ก็เขาร้องไห้ เราจะไปรู้ได้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องซับน้ำตาให้นายสุเทพหรือไม่ เพราะเคยเป็นกองหนุนของรัฐบาลมาตั้งแต่สมัยเป็น กปปส. ลงเรือลำเดียวกันมาตั้งแต่ปี 2557 พล.อ.ประวิตรกล่าวด้วยเสียงดังว่า "อะไรวะ ไม่มีไร ตอนหลังก็ไม่ได้มาทำอะไรร่วมกันแล้ว คสช.ก็ไปทำงานของ คสช.เอง"
ส่วนที่มองกันว่านายสุเทพตั้ง รปช.ขึ้นมามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่ทราบ ต้องไปถามเขา ถามตนเองไม่ได้ ส่วนจะถือเป็นเรื่องที่ดีใช่หรือไม่ คุณคิดอย่างไรก็แบบนั้นนั่นแหละ
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบเรื่องนี้ว่าไม่มอง ทำไมต้องมอง ส่วนจะดีหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องของตนเอง
เมื่อถามว่าคนที่มีตำแหน่งในรัฐบาลสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไปเป็นได้ แม้แต่ข้าราชการก็ไปเป็นสมาชิกพรรคได้ แต่ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรค เว้นแต่รัฐมนตรีที่สามารถเป็นได้เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ตำแหน่งในรัฐบาล แต่เมื่อยุบสภาเขาก็ไปเลือกตั้ง ถ้าลาออกก็คงกลับไปเลือกตั้งไม่ทัน ส่วนที่มีกระแสข่าวคนในรัฐบาลนี้ไปร่วมพรรคดังกล่าว ไม่ทราบ หากมีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนเรื่องความเหมาะสมก็แล้วแต่ทัศนะของใครอย่างไร
ถามอีกว่าช่วงใกล้เลือกตั้งรัฐบาลจะกลายเป็นรัฐบาลรักษาการหรือไม่ นายวิษณุยืนยันว่าไม่ใช่ รัฐบาลและ คสช.จะอยู่ต่อไปจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่ถวายสัตย์ ส่วนจะมีใครอยู่เกินหรือไม่นั้น คนที่ได้เป็นอะไรต่อเขาอาจอยู่เกินได้ภายใต้โฉมหน้ารัฐบาลใหม่
ลั่นต้องส่องอุดมการณ์ก่อน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงอุดมการณ์ของ รปช.ไม่แตกต่างจาก ปชป.ว่า จุดยืนพรรคในการปฏิรูปชัดเจน และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากหลายคนของ รปช. และ 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำใน 3-4 ข้อของการปฏิรูป เช่น การกระจายอำนาจ ปัญหาการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าพรรคใหม่ยืนยันหลักการเหล่านี้ ต้องดูท่าทีในการกำหนดนโยบายว่าจะเหมือนหรือแตกต่างจาก ปชป.หรือ คสช.อย่างไร
นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า ปชป.ไม่มีสาขาแน่นอน พรรคไม่มีแนวคิดเรื่องพรรคสาขาหรือนอมินี และเชื่อว่านายสุเทพไม่ประสงค์เป็นสาขาของใคร และเป็นเรื่องปกติที่ทุกพรรคการเมืองต้องแย่งฐานเสียงกันเอง โดยเฉพาะพรรคที่มีแนวความคิดคล้ายกัน ส่วนจะทำงานร่วมกันหรือไม่นั้นต้องดูว่าแนวคิด นโยบายคล้ายกันหรือไม่ ถ้าคล้ายก็ร่วมงานกันไม่ยาก ต้องรอดูและให้เวลาเขาทำงานก่อน และประเด็นสำคัญคือต้องดูว่าไปสนับสนุนบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ตอบชัดเจนคงยากต้องดูต่อไป เพราะยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่าง เช่น กระบวนการการเลือกตั้ง ท่าทีที่แสดงต่อสาธารณะ เป็นต้น
ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้า ปชป.ภาคตะวันออก กล่าวถึงกรณีนายธวัชชัย อนามพงษ์ อดีต ส.ส.จันทบุรี ปชป.ไปร่วมงานเปิดตัว รปช.และประกาศร่วมงานการเมืองกับนายสุเทพ ว่ามีผลกระทบกับพรรคบ้าง แต่คงไม่กระทบอะไรมากนัก และคิดว่าพอหาคนมาลงแทนได้ เพราะฐานเสียง จ.จันทบุรีประชาชนมีความมั่นคงและไว้ใจ ปชป.มาตลอด เราต่อสู้มาตั้งแต่มีคู่ต่อสู้เช่นนายประวัฒน์ อุตโมท อดีต ส.ส.ชาติพัฒนาที่ถือว่าเข้มแข็งที่สุดมาแล้ว แต่คนจันทบุรีก็ไว้ใจเลือกคนของพรรคมาตลอด
“คุณธวัชชัยก่อนมาอยู่กับเรา ท่านก็ย้ายมาหลายพรรคแล้ว แต่หากท่านตัดสินใจไปจากพรรค เพราะเหตุผลทางอุดมการณ์ที่ตรงกับ รปช. โดยไม่มีเหตุผลเรื่องผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของท่าน” นายสาธิตกล่าว
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การตั้งพรรค รปช.ถือเป็นการเปิดตัวแนวร่วมใหม่ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอีกพรรค ซึ่งการตั้งพรรคลงแข่งขันกันตามกติกาประชาธิปไตยย่อมดีกว่าการชัตดาวน์ประเทศ ก่อจลาจลขัดขวางกันเลือกตั้ง ที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อล้มรัฐบาลไปสู่การรัฐประหาร ส่วนจะเป็นพรรคที่สานต่อแนวทางของ กปปส.หรือไม่ ดูจากสมาชิกที่รวมตัวกัน กปปส.ก็มากันเพียบ
“การตั้งพรรคควรเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ประชาชนก็แปลกใจที่นายสุเทพร้องไห้อีกแล้ว เหมือนเป็นทางถนัดของนายสุเทพที่ให้น้ำตานำทาง ทำให้อดนึกถึงนักการเมืองบางคนที่ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จในสภาไม่ได้หรือไม่” นายอนุสรณ์กล่าวและว่า หากผลการเลือกตั้งออกมาพรรคใดแพ้ก็ต้องยอมรับและทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ควรใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายล้มโต๊ะชัตดาวน์ประเทศให้เสียหายอีก
กม.ลูกถึงมือประยุทธ์แล้ว
สำหรับความเคลื่อนไหวกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุกล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า ร่างดังกล่าวยังมาไม่ถึงรัฐบาล เพราะศาลยังไม่ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นต้องใช้เวลา แต่สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เชื่อว่าจะส่งให้นายกฯ ลงนามเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายได้ในวันที่ 4 มิ.ย.
“อย่าไปขีดเส้นตายแบบนั้นเลย เดี๋ยวพวกคุณก็เอาไปพาดหัวว่า เอาละโว้ย ลงนามแล้วโว้ย เจ้าหน้าที่เขาแจ้งผมมาว่าได้ตรวจสอบเสร็จเมื่อวันหยุดที่ผ่านมา และเสนอนายกฯ วันนี้ (4 มิ.ย.) และนายกฯ ก็คงไม่ได้ตรวจอะไรอีก 7 วันหรอก ไม่ต้องกลัว” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุยังกล่าวถึงการกำหนดเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าไม่ต้องใช้กฎหมายพิเศษ ทำได้ตามปกติ แต่ตอนนี้ที่ลังเลคือจะเป็น กกต.ชุดเก่าหรือใหม่ที่จะมาทำหน้าที่ ส่วนจะคืบหน้าอย่างไรแล้วไม่ทราบ และไม่มีหน้าที่ต้องมารายงาน
ขณะที่นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.กล่าวถึงการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยแล้วคงมีผลกระทบโดยเฉพาะพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่รู่ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา กกต.และ สนช.ได้ส่งความเห็นถึงศาลแล้ว และก่อนหน้านี้ กกต.ยังเคยทำหนังสือถึง คสช.หลายฉบับเพื่อให้ผ่อนปรนเรื่องที่อาจเป็นปัญหา อาทิ เรื่องทุนประเดิม เรื่องการเก็บค่าบำรุงพรรค แต่ไม่ได้บอกว่าคำสั่งดังกล่าวผิดหรือไม่ผิด
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า หากคำวินิจฉัยของศาลไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 กระบวนการจัดการเลือกตั้งก็เดินหน้าต่อไป แต่ยังมีความกังวลโดยเฉพาะเรื่องการทำไพรมารีโหวต โดยเข้าใจว่าสามารถทำได้ แต่อยากให้เลื่อนการแบ่งเขตเลือกตั้งให้เร็วขึ้นเพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งมีหลายฝ่ายเสนอความเห็นว่าในการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กกต.นั้น ควรให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน ภายหลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ เพราะจะเป็นผลดีต่อพรรคการเมืองที่จะมีเวลามากขึ้นในการปรับตัว เนื่องจากไม่รู้ว่าพรรคการเมืองต้องใช้เวลาเท่าไหร่ทำไพรมารีโหวต แต่ละพรรคมีความพร้อมแตกต่างกัน
“หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้แล้วจะมีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.กับ กกต. ตามข้อ 8 คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งตอนนั้นอาจมีการปลดล็อกเกิดขึ้น”
เลือกตั้งท้องถิ่นยังยาว
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กรธ.ว่าเป็นต้นคิดให้นำระบบไพรมารีโหวตมาใช้จนเป็นภาระของพรรคการเมืองว่า กรธ.ไม่ได้เป็นคนต้นคิดเรื่องนี้ แต่เป็นการเพิ่มเติมในชั้นของ สนช.ที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน เพื่อหวังให้ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“ยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้อยากเห็นการปฏิรูปที่เป็นการสร้างภาระให้พรรคการเมือง แต่เมื่อมีการกำหนดไว้ในกฎหมายลูกแล้วก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หากไม่ดำเนินการก็จะเกิดปัญหาฟ้องร้องกันได้” นายอุดมกล่าว
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวถึงความคืบหน้าในการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ในขั้นตอนของการปรับแก้เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย ขณะนี้อยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนจึงจะเสร็จ ส่วนจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่นั้นยังกำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่ที่ว่ากฎหมายจะเสร็จก่อนหรือหลัง ถ้าเสร็จเร็วก็เลือกเร็ว อาจเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนก็ได้ แต่ถ้าหากกฎหมายเสร็จช้า จะเลือกตั้ง ส.ส.ก่อนก็ไม่น่ามีปัญหา
วันเดียวกัน พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันที่ 7 มิ.ย.ว่า การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนของทุกครั้งที่มีการชุมนุม โดยเน้นการทำความเข้าใจพูดคุย ซึ่งกองทัพต่อจากนี้ไปก็ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ และดูแลความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ในส่วนเรื่องความมั่นคงนั้นยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบางกรณี.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |