กระทรวงสาธารณสุขแจงผู้เสียชีวิต 13 รายไม่เกี่ยวข้องฉีดวัคซีนโควิด ยังอยู่ระหว่างรอผลชันสูตร 55 ราย เผยไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน ข้อมูลปกติเสียชีวิตโดยทั่วไปต่อปี 5 แสนกว่าราย ยกอเมริกาเปรียบเทียบ ประชากร 328 ล้านคน ปกติเสียชีวิตโดยทั่วไป 3.3 ล้านคน
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะสถิติข้อมูลกรณีมีอาการไม่พึงประสงค์ และกรณีความชัดเจนสาเหตุการเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน ว่าการฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ถึงขณะนี้ฉีดไปแล้วทั้งหมด 7 ล้านกว่าโดส ถือเป็นจำนวนที่มากพอสมควร
โดยแยกเป็นวัคซีนซิโนแวค ฉีดสะสมแล้ว 3,214,385 โดส ในจำนวนนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำนวน 993 ราย (20 ต่อการฉีดแสนโดส) และพบว่ามีอาการเวียนศีรษะ 20% คลื่นไส้ 15% ปวดศีรษะ 12% อาเจียน 8% ผื่น 7% ปวดกล้ามเนื้อ 6% ท้องเสีย 5% มีอาการคัน 4% ตรงนี้จะเห็นว่าเป็นลักษณะที่พบเจอได้เหมือนกับวัคซีนตัวอื่นๆ ที่เคยมีการฉีดกันมา
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดสะสมแล้ว 1,943,693 โดส ในจำนวนนี้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน 472 ราย (24 ต่อการฉีดแสนโดส) เมื่อคิดเป็นอัตราแล้วสูงกว่าซิโนแวคเล็กน้อย ถือว่าใกล้เคียงกัน และพบว่ามีอาการที่พบบ่อยคือ อาการไข้ 31% ปวดศีรษะ 27% เวียนศีรษะ 21% คลื่นไส้ 21% อาเจียน 20% ปวดกล้ามเนื้อ 15% อ่อนเพลีย 13% ถ่ายเหลว 7%
ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่พิจารณากันอย่างเต็มที่ในขณะนี้ และมีผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มจังหวัดและเขตสุขภาพที่มีทั่วประเทศ 13 เขต ก็จะมีคณะผู้เชี่ยวชาญที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาร่วมอยู่ด้วย โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมพิจารณาถึงกรณีผู้เสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีน จะมีรายใดที่มีสาเหตุและเกี่ยวโยงเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ข้อมูลส่วนใหญ่เกือบสมบูรณ์ แต่มีบางรายที่อาจจะต้องขอข้อมูลเพิ่ม ถ้าสรุปตรงนี้เพิ่มเติมมาจะนำมารายงานในสัปดาห์ถัดไป
จากการรวบรวมรายงานมีผู้เสียชีวิต 68 ราย โดยได้รับการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญสำเร็จแล้วสรุปแล้ว 13 ราย โดยไม่มีรายใดที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยแจกแจงได้ว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 8 ราย มีอาการเป็นจ้ำเลือด 1 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 1 ราย เหยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง 1 ราย เลือดออกในช่องท้อง 1 ราย มีเลือดออกในสมองเนื่องจากความผิดปกติของเส้นเลือดสมอง 1 ราย เพราะฉะนั้น ตัวเลขที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและผลการชันสูตรพลิกศพตอนนี้ 55 ราย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. มีการพิจารณาเพิ่มเติมไปค่อนข้างมากแล้ว หากมีผลประการใดจะได้นำมารายงานให้ทราบต่อไป
นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 นั้น จะมีเลขานุการของคณะเป็นผู้ทำหน้าที่เตรียมข้อมูลที่จำเป็น โดยรวบรวมจากโรงพยาบาลในท้องที่ในแต่ละพื้นที่ว่า ผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงนั้น มีลักษณะอาการป่วยเป็นอย่างไร ฉีดวัคซีนไปเมื่อไหร่ เริ่มมีอาการเป็นอย่างไร รวมถึงโรคประจำตัวการรักษาเดิมจะต้องมีความครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งจุดสำคัญที่ต้องการให้ทราบ คือผลการพิจารณาแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2.เกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัคซีน 3.เกี่ยวข้องกับการให้บริการการฉีดวัคซีน 4.เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน 5.เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่บังเอิญเกิดร่วมกัน 6.ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 7.ข้อมูลยังไม่เพียงพอที่จะสรุป
สำหรับการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ ภายหลังการได้รับวัคซีนมีอยู่ในทุกประเทศ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำตามระบบ ซึ่งขอยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา จากประชากร 328 ล้านคน ปกติเสียชีวิตโดยทั่วไป 3.3 ล้านคน ขณะนี้สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนโควิด-19แล้ว 312 ล้านโดส รายงานเสียชีวิตหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.63 - 3 พ.ค.64 เสียชีวิตไป 4,173 ราย แล้วจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญนำข้อมูลมาพิจารณาเช่นกัน ซึ่งได้ข้อสรุปว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากวัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด
"เช่นกันกับประเทศไทย ประชากรกว่า 70 ล้านคน ข้อมูลปกติเสียชีวิตโดยทั่วไปต่อปี 5 แสนกว่าราย ดังนั้นเมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์สาเหตุแล้วเห็นสาเหตุความเชื่อมโยงเป็นอย่างไรก็ต้องนำมาเทียบอัตราการเสียชีวิตของสาเหตุนั้นๆ หรืออัตราการเสียชีวิตภาพรวมของประเทศ เป็นการช่วยสรุป และบ่งบอกว่าสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นหลังจากที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่เมื่อเทียบกับสถิติย้อนหลัง"
นพ.เศวตรสรรยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องความปลอดภัยของประชาชน หากมีข้อมูลใดที่จะต้องนำมาพิสูจน์ทราบเพื่อให้เห็นความชัดเจนก็จะพยายามอย่างเต็มที่ที่สุด เพื่อข้อสรุปที่น่าเชื่อถือและมั่นใจ และถึงตอนนี้ถือว่าวัคซีนยังมีความปลอดภัยเช่นเดียวกับที่วัคซีนหลายยี่ห้อฉีดในทั่วโลกหลายร้อยล้านโดส ที่ยังมีความปลอดภัยและยังฉีดต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดหาวัคซีนให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศ กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 โดยยึดตามนโยบายของ ศบค. และข้อมูลทางวิชาการในการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายเชิงประชากร ซึ่งคิดจากตัวเลขที่แต่ละจังหวัดตั้งมาและปรับตามสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ
สำหรับขั้นตอนการจัดสรรวัคซีนเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เริ่มต้นจากองค์การเภสัชกรรมไปรับวัคซีนจากบริษัทที่สนามบินสุวรรณภูมิ และส่งตัวอย่างวัคซีนและเอกสารการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบสภาพของบรรจุภัณฑ์ จำนวน และอุณหภูมิที่ใช้ในการขนส่งวัคซีน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ การทดสอบคุณภาพและการวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ จะดำเนินไปพร้อมกับการตรวจสอบเอกสารข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต (Summary Production Protocol) โดยวัคซีนซิโนแวคจะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพประมาณ 1-2 สัปดาห์
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีโรงงานการผลิตอยู่ในประเทศไทย จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนเฉลี่ยประมาณ 3 วัน ซึ่งก่อนการอนุมัติให้กระจายวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ต้องส่งผลการตรวจสอบคุณภาพไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพอีก 1 วัน หลังจากผ่านการวิเคราะห์คุณภาพจากประเทศอังกฤษแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิต (lot released) ให้กับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีน และองค์การเภสัชจะส่งมอบวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรคต่อไป
นพ.โอภาสกล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะเป็นผู้จัดสรรและกระจายวัคซีนตามแผนการจัดสรรวัคซีนที่ ศบค.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งก่อนการส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด จะมีการวางระบบควบคุมที่มีมาตรฐานตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพ การเก็บรักษา และการควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ปลายทางที่จะรับวัคซีนด้วย
ส่วนการจัดฉีดวัคซีน ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการ โดยต้องฉีดให้สมดุลกับวัคซีนที่ได้รับ ให้มีวัคซีนฉีดต่อเนื่อง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนในระบบหมอพร้อม ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ถูกเลื่อนนัดออกไปก่อนนั้น สามารถติดต่อนัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ใหม่ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางสถานีกลางบางซื่อ ผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ “หมอพร้อม” ที่หมายเลข 0-2792-2333 ซึ่งมีเกือบ 200 คู่สาย ทั้งนี้ ได้เตรียมวัคซีนเพื่อฉีดกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้โดยเฉพาะ โดยตั้งเป้ารองรับได้ 2,000 คน/วัน
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีความห่วงใยกลุ่มผู้สูงวัย และผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นลำดับแรก รวมทั้งกรุงเทพมหานครยังจัดอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วภายใน 2 เดือนนี้ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และไม่ได้รับแจ้งว่ามีการเลื่อนนัดจากโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วนั้น ก็ยังคงสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในวัน-เวลา และโรงพยาบาลเดิมได้ตามปกติ
“สำหรับการกระจายวัคซีนในครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนนี้ ทราบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะสามารถจัดส่งวัคซีนและกระจายได้ตามแผน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องทั้งจากผู้ผลิตรายเดิมและรายใหม่ๆ เพื่อให้เพียงพอในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และนำไปสู่การมีภูมิคุ้มกันหมู่ และเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี” นายอนุชากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |