จุฬาฯ ร่วมกันเปิดตัว "รถดมไว" ของสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการคันแรกของไทย พร้อมออกปฏิบัติงานภาคสนามลุยพื้นที่ กทม. ร่วมกับกรมควบคุมโรค เน้นคัดกรองในชุมชน-คลัสเตอร์ใหม่ๆ
วันที่ 17 มิ.ย. ที่อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท พีคิวเอ แอสโซซิเอส จำกัด จัดพิธีเปิดตัว “รถดมไว เพื่อนำสุนัขดมกลิ่นคัดกรอง COVID-19 ออกปฏิบัติงานภาคสนาม” โดยมีการแนะนำสุนัขลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว ที่ได้รับการฝึกดมกลิ่นผู้ติดเชื้อ COVID-19 และชมการตรวจคัดกรองตัวอย่างเหงื่อบน "รถดมไว" ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยเคลื่อนที่สำหรับการปฏิบัติงานของสุนัข
อ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า สารเคมีระเหยง่ายที่เก็บมาจากผิวหนังมนุษย์อาจมาจากแหล่งกำเนิดหลายแหล่ง ได้แก่ ต่อมใต้ผิวหนังชนิด Eccrine, Sebaceous และ Apocrine โดยต่อม Apocrine นี้จะเป็นต่อมสำคัญที่ผลิตสารระเหยง่าย เป็นกลิ่นตัวเฉพาะของมนุษย์ ส่วนต่อมอีก 2 ชนิด จะผลิตสารเคมีที่ไม่ระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่มีผลต่อกลิ่นตัวโดยตรง สารพวกนี้จะถูกนำไปใช้ต่อ โดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนังมนุษย์ แล้วเปลี่ยนเป็นสารระเหยง่าย ให้กลิ่นไปปนอยู่กับกลิ่นตัวมนุษย์ ดังนั้นกลิ่นโดยรวมของตัวอย่างเหงื่อที่ดูดซับโดยแท่งสำลี แล้วเก็บมาให้สุนัขดม จะมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิดและปริมาณของต่อมในแต่ละอวัยวะ การที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีกระบวนการเผาผลาญในร่างกายที่แตกต่างออกไปจากก่อนที่จะได้รับเชื้อ ทำให้มีสารเคมีจากต่อมทั้ง 3 ชนิดเปลี่ยนแปลงไปทั้งชนิดและปริมาณ จึงถูกตรวจจับโดยสุนัขได้
หลังความสำเร็จของโครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบริษัท เชฟรอนฯ ในเดือน มี.ค.2564 สุนัขดมกลิ่นได้ให้บริการตรวจคัดกรองแก่พนักงานบริษัทเชฟรอน และสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา แล้วจำนวนกว่า 500 ราย เมื่อมีการระบาดของโรคในกรุงเทพฯ สุนัขดมกลิ่นเดินทางจาก จ.สงขลา มาตั้งจุดตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้บริการตรวจคัดกรองแก่บุคลากรจุฬาฯ ผู้ป่วยติดเตียง โดยความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีอาสา พม.ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหงื่อมาส่งตรวจแล้วจำนวนกว่า 1,500 ราย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากสิ่งแวดล้อมไปบนตัวสุนัขในระหว่างลงพื้นที่คลัสเตอร์ต่างๆ จึงออกแบบห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ “รถดมไว” พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยทั้งผู้ที่มารับการตรวจและสุนัขที่ปฏิบัติงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน และคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน
รถ “ดมไว” มีชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า Dog Olfactory Mobile Vehicle for Viral Inspection (DOM VVI) ถูกออกแบบให้มีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ อุปกรณ์การดม และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 16.8 ตารางเมตร ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องอเนกประสงค์ เป็นห้องสำหรับวางตู้ล็อกเกอร์เก็บสัมภาระผู้ปฏิบัติงานบนรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาดรถ ห้องพักสุนัข สำหรับให้สุนัขพักในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน ห้องเตรียมตัวอย่าง เป็นห้องสำหรับรับตัวอย่างที่เก็บจากภายนอกตัวรถ เข้ามาเตรียมเปลี่ยนถ่ายภาชนะ และห้องปฏิบัติงาน เป็นพื้นที่สำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาเชื้อโควิดจากตัวอย่างที่วางบนแท่นวางตัวอย่างจำนวนรอบละ 12 แท่น
"รถ "ดมไว" ได้นำห้องปฏิบัติการของสุนัขดมกลิ่นขึ้นมาอยู่ภายในด้วยการจัดสรรพื้นที่ที่มีจำกัด ภายในรถออกแบบเพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย มีเครื่องปรับอากาศให้ความเย็นแก่สุนัข คำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่และสุนัขผู้ปฏิบัติงานบนรถ โดยได้สร้างระบบความดันลบในห้องเตรียมตัวอย่าง ระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV ในช่องรับส่งตัวอย่าง ห้องเตรียมตัวอย่างและห้องปฏิบัติงาน พร้อมทั้งระบบความปลอดภัยอื่นๆ อาทิ ตู้ยาปฐมพยาบาล ถังดับเพลิง ไฟขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และไฟแจ้งเตือนขณะปฏิบัติงานบนรถ นับเป็นรถปฏิบัติงานชีวนิรภัยเคลื่อนที่ของสุนัขดมกลิ่นคันแรกของประเทศไทย" อ.ดร.ชฎิล กุลสิงห์ กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |