17 มิ.ย.64 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัทเชฟรอนประเทศไทย สํารวจและผลิต จํากัด และบริษัทพีคิวเอ แอสโซซิเอส จํากัด แถลงข่าวขยายผลงานวิจัย การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ จัดสร้าง “รถดมไว (DOM VVI)” เพื่อนําสุนัขลาบราดอร์ 6 ตัว ดมกลิ่นคัดกรอง COVID-19 ออกปฏิบัติงานภาคสนามในพื้นที่กรุงเทพฯ คาดว่าใน 1 วันจะสามารถตรวจคัดกรองเชื้อโควิดได้ 600-1,000 ตัวอย่าง
ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตร วิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ออกแบบรถดมไว เผยว่า รถดมไว(DOM VVI) ถูกออกแบบให้มีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ อุปกรณ์การดม และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่ 1. ห้องเอนกประสงค์ เป็นห้องสำหรับวางตู้ล็อคเกอร์เก็บสัมภาระผู้ปฎิบัติงานบนรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาดรถ 2. ห้องพักสุนัข สำหรับให้สุนัขพักในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน โดยสุนัข 1 ตัวจะปฏิบัติงาน 1 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าใน 1 วันจะสามารถตรวจคัดกรองได้ 600-1,000 ตัวอย่าง โดยใช้อุปกรณ์ใส่กลิ่นเหงื่อผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อสุนัขได้กลิ่นจะนั่งลง 3. ห้องเตรียมตัวอย่าง เป็นห้องสำหรับรับตัวอย่างที่เก็บจากภายนอกตัวรถ เข้ามาเตรียมเปลี่ยนถ่ายภาชนะ 4. ห้องปฏิบัติงาน เป็นพื้นที่สำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างที่วางบนแท่นวางตัวอย่างจำนวนรอบละ 12 แท่น
“จุดเด่นของรถคันนี้ คือนำห้องปฏิบัติการของสุนัขดมกลิ่นขึ้นมาอยู่ภายใน ด้วยการจัดสรรพื้นที่ที่มีจำกัด ภายในรถได้ถูกออกแบบเพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและลงตัว มีเครื่องปรับอากาศให้ความเย็นแก่สุนัข นอกจากนี้ยังได้คำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่และสุนัขผู้ปฏิบัติงานบนรถ โดยได้สร้างระบบความดันลบในห้องเตรียมตัวอย่าง ระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV ในช่องรับส่งตัวอย่าง ห้องเตรียมตัวอย่างและห้องปฏิบัติงาน พร้อมทั้งระบบความปลอดภัยอื่น ๆ อาทิ ตู้ยาปฐมพยาบาล ถังดับเพลิง ไฟขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และไฟแจ้งเตือนขณะปฏิบัติงานบนรถ นับเป็นรถปฏิบัติงานชีวนิรภัยเคลื่อนที่ของสุนัขดมกลิ่นคันแรกของไทย” ผู้ออกแบบรถดมไว กล่าว
ด้านการวิจัย ศ.สพ.ญ. ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากความสำเร็จในการทำโครงการวิจัย การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ที่ได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดสงขลามากว่า 7 เดือน โดยให้บริการตรวจคัดกรองแก่พนักงานบริษัทเชฟรอน ฯ และสํานักงาน ป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลาแล้วจํานวนกว่า 500 ราย ทำให้เห็นว่าการใช้สุนัขดมกลิ่นสามารถทำได้ไว ไม่เจ็บ และตรวจได้จำนวนมาก จึงได้ขยายผลของการวิจัยมาใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เบื้องต้นได้ให้สุนัขทดลองตรวจ ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แก่บุคลากรจุฬาฯ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ได้ความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์(พม.) โดยอาสา พม. เป็นผู้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง เหงื่อมาส่งตรวจแล้วจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 ราย ซึ่งมีผลความแม่นยำถึง 96% เทียบเท่ากับการทำคัดกรอง RT-PCR เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีการใช้สุนัขดมกลิ่นคัดกรองโควิด-19 อาทิ ฟินแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย ก็มีผลใกล้เคียงกัน เพราะปัจจัยที่มีความแม่นยำก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของสุนัขอยู่ที่ว่าเราจะดึงศักยภาพมาใช้อย่างไร
พญ.ปัทมา ต.วรพานิช คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีความแตกต่างจากพื้นที่จังหวัดสงขลา เพราะด้วยจำนวนที่คัดกรองคนที่เพิ่มขึ้น จึงจะเป็นลักษณะการคัดกรองแบบสกรีนในพื้นที่ที่น่าจะมีการระบาด โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาทีและทราบผลทันที ผ่านการใช้รถดมไว เพื่อให้เข้าถึงในพื้นที่ชุมชน หรือโรงงาน และรายงานผลให้กับกรมควบคุมโรค เพื่อลงพื้นที่ตรวจแบบ PCR ได้ไวขึ้น ตัวอย่างในพื้นที่ที่เสี่ยงการระบาด ในชุมชนหรือในโรงงานซึ่งรถดมไวสามารถเคลื่อนที่ไปได้เร็ว หากตรวจพบว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์ หรือเจอติดเชื้อ 30 คนใน100 คน แสดงว่าเป็นพื้นที่คลัสเตอร์ ก็จะต้องมีการควบคุมพื้นที่และคัดกรองได้รวดเร็ว สำหรับการดมเชื้อโควิด-19 ที่มีสายพันธุ์อื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะต้องมีการป้อนข้อมูลให้กับสุนัขและฝึกเพิ่มเติม
นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อํานวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวว่ารถดมไว มีจุดประสงค์ในการใช้ตรวจเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีการเสี่ยงติดเชื้อจำนวนมาก อย่างในพื้นที่บางกะปิ และลาดพร้าว แต่เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ขณะนี้ ทางกรมควบคุมโรคจึงมีการเก็บตัวอย่างมาทดลองให้สุนัขดมกลิ่น ใสเปรียบเทียบกับการตรวจแบบ RT- PCR และอยู่ในระหว่างการประเมินผลว่าสุนัขดมกลิ่นมีความแม่นยำมากน้อยแค่ไหน
"ทั้งนี้แม้ว่าสุนัขดมกลิ่นจะเหมาะกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่ในพื้นที่หนึ่ง มีทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำอยู่รวมกัน ดังนั้นเราจะคัดคนที่มีความเสี่ยงต่ำมาตรวจด้วยสุนัข ทำแต่การคัดกรองได้ไวขึ้น และสามารถให้คนที่มีความเสี่ยงสูงตรวจRT - PCR ได้รวดเร็ว คาดว่าจะนำรถเข้าตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม.เร็วๆนี้ "นพ.วิชาญ กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |